นิ่วทอนซิล ขี้ทอนซิล ก้อนเหลือง ๆ จาก ต่อมทอนซิล คืออะไร

           นิ่วทอนซิล หรือ ขี้ไคลทอนซิล ทุกคนต้องเคยเจอแน่ ๆ ก็ก้อนสีเหลือง ๆ เหม็น ๆ ที่หลุดออกมาจากคอไงล่ะ ว่าแต่เกิดจากอะไรนะ แล้วจะป้องกันได้ไหม คำตอบอยู่ที่นี่แล้ว

 

          กรี๊ด !!!! ก้อนอะไรเนี่ย สีเหลือง ๆ ขาว ๆ หลุดออกมาจากคอเป็นประจำเลย แถมมีกลิ่นเหม็นอีกต่างหาก ฮือ ๆ เราจะเป็นอะไรหรือเปล่า... ทำไมรู้สึกว่าเรามีกลิ่นปาก ทั้ง ๆ ที่ก็แปรงฟันบ้วนปากด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อมาอย่างดี โอ๊ะโอ ! ไม่ต้องตกใจหรือวิตกกังวลพร้อม ๆ กับตั้งคำถามมากมายจะทำให้ปวดหัวเปล่า ๆ ค่ะ เพราะเราจะมาเฉลยคำถามที่เชื่อว่าหลายคนอยากรู้ว่าก้อนสีขาว ๆ เหลือง ๆ ที่หลุดออกมาจากคอเรามันคืออะไร อย่ารอช้าเข้าไปหาคำตอบเพื่อสุขภาพที่ดีกันดีกว่าค่ะ...

ขี้ทอนซิล

           ก่อนอื่นเรามารู้จัก ทอนซิล" กันก่อน สำหรับ ทอนซิล (Tonsils) คือ ต่อมน้ำเหลืองในทางเดินหายใจ มีหลายตำแหน่ง ได้แก่ สองข้างของลิ้น (palatine tonsil), ด้านหลังจมูก (nasopharyngeal tonsil adenoid), ผนังคอด้านหลัง และโคนลิ้น

          ทอนซิลเป็นภูมิคุ้มกันเฉพาะที่ ทำงานโดยการจับเชื้อโรคมาไว้ในหลืบ (Crypt) ที่ด้านข้างของคอ ซึ่งบริเวณนี้อาจมีเศษอาหารเข้าไปติดหรือตกค้างได้ นอกจากนั้นเซลล์ที่ตายแล้วอาจหลุดลอกออกมา แล้วทำให้แบคทีเรีย เม็ดเลือดขาว และเอนไซม์ในน้ำลายเข้าไปย่อยสลายเกิดเป็นสารคล้ายเนยสีเหลืองขาวสะสมอยู่ ในบางคนอาจมีสารแคลเซียมมาเกาะ ทำให้มีลักษณะคล้ายก้อนแคลเซียมอยู่ในร่องของต่อมทอนซิล เรียกว่า ขี้ทอนซิน หรือภาษาทางการแพทย์คือ ทอนซิลโลลิท (Tonsillolith) ทั้งนี้ อาจเรียกได้ว่า นิ่วทอนซิน หรือ Tonsil Stone

ขี้ทอนซิล
          และเจ้าขี้ทอนซิลนี่แหละที่อาจก่อให้เกิดความรำคาญกับช่องปาก รู้สึกคล้ายมีอะไรติด ๆ อยู่ในลำคอ ทำให้ต่อมทอนซิลอักเสบ ทำให้มีอาการเจ็บคอเป็น ๆ หาย ๆ ทำให้มีกลิ่นปาก และทำให้มีอาการปวดร้าวไปที่หู หรือไอเรื้อรังได้ในผู้ป่วยบางราย ซึ่งปัญหาดังกล่าวพบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก

          อาการต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรัง มีกลิ่นปาก ก็อาจเกิดจากเศษอาหารซึ่งตกตะกอนกับแคลเซียมในน้ำลาย แล้วไปฝังอยู่ตามร่องของต่อมทอนซิลก็เป็นได้ ถ้าเป็นบ่อย ๆ ก็เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการระคายเคืองคอประจำ

          สำหรับต่อมทอนซิลที่อักเสบเรื้อรัง ถ้าต่อมโตไม่มาก ไม่มีอาการของการอุดตันการหายใจ เช่น นอนกรน นอนหายใจเสียงดัง หรือกลืนลำบาก ก็ยังไม่ต้องผ่าตัดทอนซิล อาจรับประทานยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งคลุมเชื้อชนิด ANAEROBE BACTERIA เป็นแบคทีเรียที่ก่อกลิ่นเหม็นต่าง ๆ

          แต่ถ้าต่อมทอนซิลโตมาก ๆ และมีอาการอุดตันในลำคอ เช่น นอนกรน หายใจดัง กลืนลำบาก มีประวัติเจ็บคอบ่อย ต่อมทอนซิลอักเสบบ่อย ก็อาจจำเป็นต้องผ่าตัดทอนซิลทั้ง 2 ข้าง             

ขี้ทอนซิล

การรักษา
  
           การรักษามี 2 วิธี คือ ไม่ผ่าตัดและผ่าตัด 

          1. ไม่ผ่าตัด อาจหาวิธีป้องกันหรือแก้ไข ได้แก่

            - การกลั้วคอแรง ๆ หลังรับประทานอาหารด้วยน้ำยากลั้วคอ, น้ำเกลือ หรือน้ำเปล่าธรรมดา

            - ใช้นิ้วนวดบริเวณใต้คางบริเวณมุมขากรรไกรล่าง (ซึ่งตรงกับบริเวณต่อมทอนซิล) เพื่อให้ก้อนดังกล่าวหลุดออกมา

            - การใช้ไม้พันสำลี (Cotton bud), ปลายของที่หนีบผม, เครื่องมือที่ใช้เขี่ยขี้หูออก (ear curette), แปรงสีฟัน เขี่ยหรือกดบริเวณต่อมทอนซิล เพื่อเอาก้อนดังกล่าวออก แต่ไม่แนะนำให้ทำเอง ควรให้แพทย์เป็นผู้เขี่ยออกให้

            - ใช้ที่พ่นน้ำทำความสะอาดช่องปาก ฟัน และลิ้น (water pick) ฉีดบริเวณต่อมทอนซิล เพื่อให้ก้อนดังกล่าวหลุดออก

            - ใช้นิ้วล้วงเข้าไปในช่องปาก แล้วกดบริเวณส่วนล่างของต่อมทอนซิล แล้วดันขึ้นบน หรือใช้ลิ้นดัน เพื่อให้ก้อนดังกล่าวหลุดออกมา

            - แต่ถ้าเป็นเยอะ แล้วไม่สามารถล้วงเอาออกมาได้ ก็ต้องไปให้คุณหมอช่วยเอาออกให้


          2. ผ่าตัด ได้แก่

            - ใช้กรด Trichloroacetic acid หรือเลเซอร์ (Laser tonsillotomy) จี้ต่อมทอนซิลเพื่อเปิดขอบร่องของต่อมทอนซิลให้กว้าง ไม่ให้เป็นซอกหลืบ ที่จะเป็นที่สะสมของสิ่งต่าง ๆ ได้อีก ซึ่งสามารถทำได้โดยใช้ยาชาเฉพาะที่

            - ผ่าตัดต่อมทอนซิลออก (Tonsillectomy) เป็นการรักษาที่หายขาด มักจะทำในกรณีที่ใช้วิธีดังกล่าวข้างต้นแล้วยังไม่ได้ผล หรือต่อมทอนซิลอักเสบมาก ๆ

กลิ่นปาก

การป้องกัน

          - ควรจะหลีกเลี่ยง หรือลดอาหารประเภทโปรตีน แป้ง เพื่อลดปริมาณเศษอาหารที่จะไปตกตะกอนกับน้ำลาย

          - พยายามแปรงฟันและลิ้นให้สะอาด โดยต้องแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง หลังอาหารประมาณ 30 นาที
         
          - ถ้าเป็นไปได้ควรกลั้วคอทุกครั้งหลังแปรงฟันด้วย อาจใช้น้ำเปล่า หรือน้ำเกลือก็ได้


***หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2562


ขอบคุณข้อมูลจาก
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, ราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งประเทศไทย     
 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นิ่วทอนซิล ขี้ทอนซิล ก้อนเหลือง ๆ จาก ต่อมทอนซิล คืออะไร อัปเดตล่าสุด 7 กันยายน 2564 เวลา 10:21:06 465,478 อ่าน
TOP
x close