รณรงค์งดสูบบุหรี่ไร้ผล อึ้งยอดผู้สูบเพิ่มพุ่ง 13 ล้านคน


บุหรี่

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

          ช็อก! รณรงค์งดสูบบุหรี่ไร้ผล สธ. เผยผลสำรวจพบคนสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นเป็น 13 ล้านคน โดยหันมาสูบบุหรี่ซองราคาถูก 30-45 บาท มากขึ้น

          เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค, ดร.ไดห์เรนด้าร์ เอ็น ซินฮา ผู้แทนจากสำนักงานองค์การอนามัยโลกประจำภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และ ดร.มัวรีน อี เบอร์มิงแฮม ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ร่วมกันแถลงข่าวการจัดกิจกรรมวันงดสูบบุหรี่โลกประจำปี 2555 ณ กระทรวงสาธารณสุข

          โดย นพ.สุรวิทย์ ระบุว่า ในวันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้เป็นวันงดสูบบุหรี่โลกนับตั้งแต่ พ.ศ.2531 เป็นต้นมา เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของบุหรี่ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชากรทั่วโลกเสียชีวิตกว่าปีละ 5 ล้านคน และคาดว่าในอีก 18 ปี พิษจากบุหรี่จะนำความตายมาสู่ประชากรโลกเพิ่มขึ้นเป็นปีละกว่า 8 ล้านคน ดังนั้น องค์การอนามัยโลกจึงรณรงค์ให้ประเทศสมาชิกทั่วโลกร่วมกันป้องกันพิษภัย ลดการป่วย และเสียชีวิตของประชาชน โดยกำหนดประเด็นรณรงค์ในปีนี้ไว้ว่า "จับตา เฝ้าระวัง ยับยั้งอุตสาหกรรมยาสูบ" เพื่อให้ประชาชนรู้เท่าทันกลยุทธ์ และร่วมมือกันเฝ้าระวังความพยายามของอุตสาหกรรมยาสูบหรือบริษัทบุหรี่ต่าง ๆ ในการขัดขวางมาตรการสำคัญในการควบคุมยาสูบ

          ทั้งนี้ ที่ผ่านมา การกระทรวงสาธารณสุข และภาคีเครือข่าย มีการณรงค์เกี่ยวกับการลดจำนวนผู้สูบบุหรี่อย่างต่อเนื่อง แต่สถานการณ์กลับไม่ดีขึ้น โดยจากการสำรวจของ การกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับ สำนักงานสถิติแห่งชาติ และคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีการสำรวจสถานการณ์การบริโภคบุหรี่และยาสูบปี 2554 ซึ่งเป็นการสำรวจครั้งที่ 2 หลังจากที่ดำเนินการครั้งแรกในปี 2552 ในคนไทยตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไป พบว่า มีผู้สูบบุหรี่และบริโภคยาสูบทุกชนิดเพิ่มสูงขึ้นถึง 13 ล้านคน หรือร้อยละ 24 ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป แบ่งเป็นชาย ร้อยละ 46.6 หญิงร้อยละ 2.6 เพิ่มจากปี 2552 ถึง 5 แสนคน โดยแบ่งเป็นการสูบบุหรี่ชนิดต่าง ได้แก่ ผู้สูบบุหรี่จากโรงงาน (บุหรี่ซอง) จำนวน 5.1 ล้านคน บุหรี่มวนเอง จำนวน 4.7 ล้านคน สูบรวมทั้ง 2 ชนิด จำนวน 3.1 ล้านคน และชนิดอื่น ๆ เช่น บารากู ไปป์ ซิการ์ ฯลฯ จำนวน 1 แสนคน

          นพ.สุรวิทย์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับสถานการณ์การเลิกสูบนั้น พบว่า มีผู้ที่เคยสูบเป็นประจำเลิกสูบแล้วร้อยละ 27.2 ผู้ที่สูบปัจจุบันและคิดจะเลิกสูบ ร้อยละ 54 เคยพยายามเลิกสูบในช่วง 12 เดือนร้อยละ 36.7 และผู้ที่คิดอยากเลิกสูบเพราะเห็นภาพคำเตือน ร้อยละ 62.6 โดยสิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ พบผู้ที่สูบนิยมบุหรี่ราคาถูกมากขึ้น จากเดิม 1 ใน 5 ยี่ห้อ เพิ่มเป็น 2 ใน 5 ราคาเฉลี่ย 30-45 บาท ขณะที่สถานการณ์การสูดควันบุหรี่มือสองในตลาดสด หรือตลาดนัดมากที่สุดร้อยละ 68.8 ในบ้านร้อยละ 36 และที่ทำงานร้อยละ 30.5

          ส่วนเรื่องการโฆษณาบุหรี่ซึ่งกฎหมายห้ามโฆษณาทุกสื่อพบว่าประชาชนร้อยละ 18.2 ยังเห็นโฆษณาบุหรี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตั้งโชว์ซองบุหรี่ที่ร้านค้า นอกจากนี้ประชาชนร้อยละ 34.3 ยังคงมีความเชื่อว่า บุหรี่มวนเองมีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ผลิตจากโรงงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ผู้ที่อยู่ในชนบท มีการศึกษาน้อย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องร่วมมือกันในเรื่องของการเข้มงวดเกี่ยวกับนโยบายยาสูบและบุหรี่มากขึ้น


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รณรงค์งดสูบบุหรี่ไร้ผล อึ้งยอดผู้สูบเพิ่มพุ่ง 13 ล้านคน อัปเดตล่าสุด 29 พฤษภาคม 2555 เวลา 12:03:17 1,943 อ่าน
TOP
x close