World Blood Donor Day หรือวันผู้บริจาคโลหิตโลก ตรงกับวันที่ 14 มิถุนายน ของทุกปี ร่วมตระหนักถึงความสำคัญของการบริจาคโลหิต
การให้ หรือการบริจาค ไม่ว่าจะเป็นวัตถุหรือสิ่งใดก็ตาม ล้วนแต่ได้บุญกุศลและความสุขใจจากการได้เป็นผู้ให้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การบริจาคโลหิต นับได้ว่าเป็นบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่ง เพราะโลหิตเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับชีวิตของมนุษย์และสัตว์โลกทั่ว ๆ ไป ดังนั้น การบริจาคโลหิตเป็นสิ่งที่มีส่วนในการช่วยเหลือชีวิตผู้อื่นให้อยู่รอดปลอดภัย และเพื่อให้ผู้คนเห็นความสำคัญของการบริจาคโลหิต จึงมีการกำหนดให้มีวันผู้บริจาคโลหิตโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 14 มิถุนายน และวันนี้กระปุกดอทคอมก็มีเกร็ดความรู้เกี่ยวกับเรื่องราว วันผู้บริจาคโลหิตโลก มาฝากกัน
ประวัติความเป็นมาของวันผู้บริจาคโลหิตโลก
ภาพจาก nobelprize.org
ท่านเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในการจำแนกหมู่โลหิต A, B และ O ซึ่งถือว่าเป็นการค้นพบที่มีความสำคัญยิ่งต่องานบริการโลหิตทั่วโลก จนได้รับรางวัลโนเบล สาขาสรีรวิทยา หรือแพทยศาสตร์ ในปี ค.ศ. 1930 อีกทั้งยังพบว่าการถ่ายเลือดให้กับผู้ที่มีหมู่เลือดเดียวกันไม่ทำให้เซลล์เม็ดเลือดถูกทำลาย การค้นพบเหล่านี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดการต่อยอดในวงการแพทย์มาจนถึงทุกวันนี้ ขณะเดียวกันก็ยังสามารถช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ได้อีกเป็นจำนวนมากดังนั้นเพื่อให้ชาวโลกตระหนักและเห็นความสำคัญของการบริจาคโลหิต พร้อมกับเพื่อแสดงความขอบคุณต่อผู้บริจาคโลหิต องค์การอนามัยโลก สหพันธ์สภากาชาด และสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ จึงได้ขอความร่วมมือให้สภากาชาดทั่วโลก จัดกิจกรรมเพื่อเป็นการขอบคุณผู้บริจาคโลหิตทั่วโลก และส่งเสริมงานบริการโลหิตให้เป็นที่แพร่หลายในวันผู้บริจาคโลหิตโลก 14 มิถุนายน ของทุกปี โดยเริ่มครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 2004 และจัดกิจกรรมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
คำขวัญและธีมรณรงค์วันผู้บริจาคโลหิตโลกในแต่ละปี
ในแต่ละปี องค์การอนามัยโลกจะกำหนดแคมเปญหรือคำขวัญเพื่อให้กาชาดทั่วโลกได้ใช้ในการรณรงค์ให้ผู้คนร่วมบริจาคโลหิตเนื่องในวันผู้บริจาคโลหิตโลกในแต่ละปี โดยเริ่มกำหนดแคมเปญมาตั้งแต่ปี 2012 คือ
ปี 2012
"Every blood donor is a hero." หรือภาษาไทยว่า "ทุกคนเป็นฮีโร่ได้ด้วยการบริจาคโลหิต" เพื่อยกย่องเชิดชูผู้บริจาคโลหิตทุกคนทั่วโลก ที่ทำหน้าที่เสมือนเป็นฮีโร่แบบไม่แสดงตัว ช่วยชีวิตผู้อื่นด้วยโลหิตของตนเอง
ปี 2013
"Give the gift of life. : มอบโลหิต เป็นของขวัญต่อชีวิตเพื่อนมนุษย์"
ปี 2014
"Safe blood for saving mothers. : บริจาคโลหิต พลิกวิกฤต ช่วยชีวิตแม่และลูก" เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการบริจาคโลหิตอย่างเพียงพอและปลอดภัย เพื่อช่วยชีวิตแม่ที่อาจเสียชีวิตจากการคลอดบุตร
ปี 2015
"Thank you for saving my life."
ปี 2016
"Blood connects us all. : โลหิต...เชื่อมโยงเราไว้ด้วยกัน"
ปี 2017
"What can you do ? Give blood. Give now. Give often. : ให้โลหิต ให้ประจำทุก 3 เดือน ... คุณทำได้ !"
ปี 2018
"Be there for someone else. Give blood. Share life : ทุกชีวิตมีความหมาย ให้โลหิต ให้ชีวิต"
ปี 2019
"Safe blood for all : โลหิตปลอดภัย ทั้งผู้ให้และผู้รับ"
ปี 2020
"Give blood and make the world a healthier place : ให้เลือด สุขภาพดี โลกน่าอยู่"
ปี 2021
"Give blood and Keep the World Beating - ให้โลหิต ช่วยโลก พ้นวิกฤต"
ปี 2022
"Donating blood is an act of solidarity. Join the effort and save lives - สามัคคี คือพลัง ให้ชีวิตเพื่อนมนุษย์ ด้วยการบริจาคโลหิต"
ปี 2023
"Give blood, give plasma, share life, share often – ให้โลหิต ให้ชีวิต ให้ประจำ"
ปี 2024
กิจกรรมในวันผู้บริจาคโลหิตโลก
ทุกปี องค์การอนามัยโลก และกาชาดทั่วโลก จะจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองเพื่อขอบคุณผู้บริจาคโลหิต พร้อมกับประชาสัมพันธ์ให้ทุกคนเห็นความสำคัญของการบริจาคโลหิต เพื่อเตรียมพร้อมไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน
เช่นเดียวกับที่ประเทศไทย สภากาชาดไทยได้รณรงค์ให้ประชาชนมาร่วมบริจาคเลือดอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีปริมาณโลหิตสำรองเพียงพอสำหรับผู้ป่วยในโรงพยาบาลทั่วประเทศ ทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤต เพราะปัจจุบันประชาชนยังมาบริจาคโลหิตอย่างไม่สม่ำเสมอ การจัดกิจกรรมวันผู้บริจาคโลหิตจึงเป็นกุญแจสำคัญในการกระตุ้นเตือนให้ประชาชนมาร่วมกันบริจาคโลหิตเป็นประจำทุก 3 เดือน เนื่องจากโลหิตที่มาบริจาคนั้นไม่สามารถเก็บไว้ได้นาน ดังนั้นการที่มีผู้หมุนเวียนมาบริจาคอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นเรื่องสำคัญ
ข้อดีของการบริจาคเลือด
ทราบหรือไม่ว่า การบริจาคโลหิตนอกจากจะได้บุญจากการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันแล้ว ยังมีผลดีสำหรับร่างกายของเราเองอีกมากมายด้วยนะ...
โดยการบริจาคโลหิตจะช่วยกระตุ้นให้ไขกระดูกทำงานดีขึ้น และร่างกายได้ผลิตเม็ดโลหิตใหม่ ซึ่งมีความแข็งแรงและทำงานได้มีประสิทธิภาพกว่า เช่น ลำเลียงออกซิเจนได้เต็มที่ มีเม็ดโลหิตขาวที่ทำลายสิ่งแปลกปลอมได้ดีขึ้น ขณะที่เกล็ดโลหิตก็จะช่วยซ่อมแซมรอยฉีกขาดในร่างกายอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ การบริจาคโลหิตยังเป็นการลดความเสี่ยงในการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน โดยผลการวิจัยจากฟินแลนด์ ระบุว่า โรคนี้มีความสัมพันธ์กับปริมาณธาตุเหล็กที่สะสมในร่างกาย เนื่องจากธาตุเหล็กจะส่งผลให้ไขมันทำปฏิกิริยากับออกซิเจน จนหลอดเลือดตีบและมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน การบริจาคโลหิตจึงช่วยลดการสะสมธาตุเหล็ก ซึ่งเท่ากับลดความเสี่ยงโรคหัวใจลงด้วย ดังนั้นในฟินแลนด์ การบริจาคโลหิตช่วยลดความเสี่ยงโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันในเพศชายได้ถึงร้อยละ 88 เลยทีเดียว
ทั้งนี้ คนที่สามารถบริจาคโลหิตได้ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร และต้องเตรียมตัวอย่างไร ลองมาดูข้อมูลจากสภากาชาดไทย
ภาพจาก netsuthep / Shutterstock.com
คุณสมบัติของผู้ที่สามารถบริจาคโลหิตได้
1. อายุระหว่าง 17 ปี ถึง 70 ปีบริบูรณ์ ผู้ที่มีอายุ 17 ปี ไม่ถึง 18 ปี ต้องมีหนังสือยินยอมจากผู้ปกครอง
2. ผู้บริจาคโลหิตเป็นครั้งแรก ถ้าอายุเกิน 55-60 ปี ให้อยู่ในดุลพินิจของแพทย์และพยาบาล
3. ผู้บริจาคโลหิตอายุมากกว่า 60-70 ปี แบ่งเกณฑ์การคัดเลือกตามอายุ 2 ช่วง ดังนี้
3.1 การคัดเลือกผู้บริจาคโลหิตอายุมากกว่า 60 ปี จนถึง 65 ปี
1) เป็นผู้บริจาคโลหิตประจำมาโดยตลอดจนกระทั่งอายุ 60 ปี
2) บริจาคโลหิตได้ไม่เกินปีละ 3 ครั้ง คือ ทุก 4 เดือน
3) ตรวจ Complete Blood Count (CBC), Serum Ferritin (SF) ปีละ 1 ครั้ง เพื่อประกอบการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพทั่วไป และสำหรับแพทย์ใช้ผลการตรวจ SF ในการติดตามและปรับการให้ธาตุเหล็กทดแทน
3.2 ผู้บริจาคโลหิตอายุมากกว่า 65 ปี จนถึง 70 ปี
1) เป็นผู้บริจาคโลหิตต่อเนื่องสม่ำเสมอในช่วงอายุมากกว่า 60 ปี จนถึง 65 ปี
2) บริจาคโลหิตได้ไม่เกินปีละ 2 ครั้ง คือ ทุก 6 เดือน
3) ต้องได้รับการตรวจคัดกรองสุขภาพโดยแพทย์หรือพยาบาลของธนาคารเลือดหรือหน่วยงานรับบริจาคโลหิต ซึ่งมีหน้าที่ในการตรวจคัดกรองสุขภาพผู้บริจาคโลหิต
4) ตรวจ CBC และ SF ปีละ 1 ครั้ง
4. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอในเวลาปกติของตนเอง ในคืนก่อนวันที่มาบริจาคโลหิต
5. ไม่มีอาการท้องเสีย ท้องร่วง ใน 7 วันที่ผ่านมา
6. ไม่อยู่ในช่วงน้ำหนักลดอย่างรวดเร็วในระยะ 3 เดือนที่ผ่านมา โดยไม่ทราบสาเหตุ
7. สตรีไม่อยู่ในระหว่างตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร และไม่มีการคลอดบุตรหรือแท้งบุตรภายใน 6 เดือนที่ผ่านมา
8. น้ำหนักต้องไม่ลดผิดปกติในระยะ 3 เดือนที่ผ่านมา โดยไม่ทราบสาเหตุ
9. หากรับประทานยาแอสไพริน, ยาคลายกล้ามเนื้อหรือยาแก้ปวดอื่น ๆ ต้องหยุดยามาแล้ว 3 วัน ถ้าเป็นยาแก้อักเสบหรือยาอื่น ๆ ต้องหยุดยามาแล้ว 7 วัน
10. ไม่เป็นโรคหอบหืด, ผิวหนังเรื้อรัง, วัณโรค หรือภูมิแพ้อื่น ๆ
11. ไม่เป็นโรคความดันโลหิตสูง, เบาหวาน, หัวใจ, ตับ, ไต, มะเร็ง, ไทรอยด์, โลหิตออกง่าย-หยุดยาก หรือโรคประจำตัวอื่น ๆ
12. หากถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน หรือรักษารากฟัน ต้องทิ้งระยะอย่างน้อย 3 วัน
13. หากเคยได้รับการผ่าตัดใหญ่ ต้องเกิน 6 เดือน, ผ่าตัดเล็ก ต้องเกิน 1 เดือน
14. ท่านหรือคู่ครองของท่านต้องไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศสัมพันธ์
15. ต้องไม่มีประวัติยาเสพติด หรือเพิ่งพ้นโทษ ต้องเกิน 3 ปี และมีสุขภาพดี
16. หากเจาะหู, สัก, ลบรอยสัก หรือฝังเข็มในการรักษา ต้องเกิน 1 ปี
17. หากมีประวัติเจ็บป่วยและได้รับโลหิตของผู้อื่น ต้องเกิน 1 ปี
18. หากมีประวัติเป็นมาลาเรีย ถ้าเคยเป็น ต้องหายมาแล้วเกิน 3 ปี หากเคยเข้าไปในพื้นที่ที่มีเชื้อมาลาเรียชุกชุม ต้องทิ้งระยะอย่างน้อยเกิน 1 ปี จึงบริจาคโลหิตได้
19. ต้องไม่ได้รับวัคซีนในระยะ 14 วัน หรือเซรุ่มในระยะ 1 ปีที่ผ่านมา
20. ต้องมีน้ำหนัก 45 กิโลกรัมขึ้นไป
การเตรียมตัวก่อนมาบริจาคโลหิต
1. ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6 ชั่วโมง (นอนก่อนเที่ยงคืน) ในคืนก่อนวันที่จะมาบริจาคโลหิต
2. ควรมีสุขภาพสมบูรณ์ทุกประการ ไม่เป็นไข้หวัด หรืออยู่ระหว่างรับประทานยาแก้อักเสบใด ๆ
3. รับประทานอาหารมื้อหลักก่อนมาบริจาคโลหิต หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เช่น ข้าวขาหมู ข้าวมันไก่ อาหารที่ประกอบด้วยกะทิ แกงต่าง ๆ ของทอด ของหวาน ฯลฯ เนื่องจากจะทำให้สีพลาสมาผิดปกติ เป็นสีขาวขุ่น ไม่สามารถนำไปใช้ได้
4. ดื่มน้ำ 3-4 แก้ว และเครื่องดื่มเหลวเพิ่ม เช่น น้ำผลไม้ นม น้ำหวาน เพื่อเพิ่มปริมาณโลหิตในร่างกาย จะช่วยป้องกันอาการแทรกซ้อน เช่น มึนงง อ่อนเพลีย หรือวิงเวียนศีรษะ ภายหลังบริจาคโลหิต
5. งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ก่อนมาบริจาคโลหิต 24 ชั่วโมง
6. งดสูบบุหรี่ก่อนและหลังบริจาคโลหิต 1 ชั่วโมง เพื่อให้ปอดฟอกโลหิตได้ดี
7. ควรเลือกสวมใส่เสื้อผ้าที่แขนเสื้อไม่คับเกินไป สามารถดึงขึ้นเหนือข้อศอกได้อย่างน้อย 3 นิ้ว
สิ่งที่ควรทราบ ขณะบริจาคโลหิต
- เลือกแขนข้างที่เส้นโลหิตดำใหญ่ชัดเจน ที่สามารถให้โลหิตไหลลงถุงได้ดี
- ผิวหนังบริเวณที่จะให้เจาะไม่มีผื่นคันหรือรอยเขียวช้ำ
- ถ้าแพ้ยาทาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทราบล่วงหน้า
- ทำตัวตามสบาย อย่ากลัว หรือวิตกกังวล
- ไม่ควรเคี้ยวหมากฝรั่ง หรืออมลูกอม ขณะบริจาคโลหิต
- ขณะบริจาคควรบีบลูกยางอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้โลหิตไหลได้สะดวก
- หากมีอาการผิดปกติ เช่น ใจสั่น วิงเวียน มีอาการคล้ายจะเป็นลม อาการชา อาการเจ็บที่ผิดปกติ ต้องรีบแจ้งให้พยาบาลหรือเจ้าหน้าที่ในบริเวณนั้นทราบทันที
- หลังบริจาคโลหิตเสร็จเรียบร้อย ห้ามลุกทันที ให้นอนพักสักครู่จนกระทั่งรู้สึกสบายดี จึงลุกไปดื่มน้ำและรับประทานอาหารว่างที่จัดไว้รับรอง
- ถ้ามีอาการเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม หรือรู้สึกผิดปกติ ให้รีบนั่งก้มศีรษะต่ำระหว่างเข่า หรือนอนราบยกเท้าสูง จนกระทั่งมีอาการปกติจึงลุกขึ้นและเดินทางกลับ ป้องกันอุบัติเหตุจากการล้ม
ข้อปฏิบัติหลังการบริจาคโลหิต
- ดื่มน้ำมากกว่าปกติ เป็นเวลา 1-2 วัน
- งดใช้กำลังแขนข้างที่เจาะ รวมถึงการหิ้วของหนัก ๆ เป็นเวลา 24 ชั่วโมง ภายหลังการบริจาคโลหิต เพื่อป้องกันอาการบวมช้ำ
- งดกิจกรรมที่ใช้กำลังและเสียเหงื่อที่ทำให้อ่อนเพลีย
- หลีกเลี่ยงการทำซาวน่าหรือออกกำลังกายที่ต้องเสียเหงื่อมาก ๆ
- ถ้ามีโลหิตซึมออกมาจากรอยผ้าปิดแผล อย่าตกใจ ให้ใช้นิ้วมืออีกด้านหนึ่งกดลงบนผ้าก๊อซ กดให้แน่นและยกแขนสูงไว้ประมาณ 3-5 นาที หากยังไม่หยุดซึมให้กลับมายังสถานที่บริจาคโลหิต เพื่อพบแพทย์หรือพยาบาล
- รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง และยาธาตุเหล็กที่ได้รับวันละอย่างน้อย 1 เม็ด จนหมด เพื่อป้องกันการขาดธาตุเหล็ก
- การบริจาคโลหิตครั้งต่อไปเว้นระยะ 3 เดือน ยกเว้นการบริจาคพลาสมาหรือเกล็ดโลหิต
ภาพจาก Twinsterphoto / Shutterstock.com
บริจาคโลหิตได้ที่ไหนบ้าง
- ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ถนนอังรีดูนังต์ โทร. 0-2263-9600-99
- หน่วยเคลื่อนที่รับบริจาคโลหิตตามพื้นที่ต่าง ๆ ตรวจสอบได้ที่ ปฏิทินเวลารับบริจาคโลหิต สภากาชาดไทย
- สาขาบริการโลหิต โรงพยาบาลประจำจังหวัดทั่วประเทศ
ขอบคุณข้อมูลจาก : ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ, สภากาชาดไทย, องค์การอนามัยโลก