x close

ไขข้อข้องใจเรื่องปวดเต้านม

          เวลามีประจำเดือน สาว ๆ หลายท่านมักรู้สึกปวดบริเวณเต้านม หรือแม้แต่ช่วงก่อนหรือหลังวันนั้นของเดือนก็ยังรู้สึกปวด ซึ่งบางคนก็คิดไปไกลว่าตนเองเป็นมะเร็งเต้านม เพราะเมื่อคลำแล้วรู้สึกเต้านมแข็งและเจ็บ แหม…สารพัดปัญหาขนาดนี้ เอาเป็นว่าเรามาเจาะลึกเรื่องอาการปวดเต้านมกันเลยดีกว่า
ปวดเต้านม

        
ปวดบริเวณเต้านม

          เป็นอาการที่พบได้บ่อยจนอาจจะเป็นเรื่องปกติในผู้หญิงส่วนมาก จะต่างกันก็ตรงที่ความรุนแรงของอาการปวดเท่านั้น เชื่อว่า 2 ใน 3 ของผู้หญิงทั่วไปมักจะเคยมีอาการปวดอย่างน้อยสักครั้งในชีวิต และก็มักจะสร้างความกังวลใจกับคุณผู้หญิงว่า มันจะเป็นอาการของโรคมะเร็งเต้านมหรือเปล่า แต่สำหรับในขั้นตอนทางการแพทย์แล้วนั้นเราสามารถตรวจเพื่อแยกว่าเป็นการเจ็บที่บริเวณกล้ามเนื้อ หรือผนังหน้าอก

          ทั้งนี้อาการปวดบริเวณเต้านมสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทดังนี้

          1.อาการปวดที่มีสาเหตุสัมพันธ์กับรอบเดือน โดยเฉพาะในช่วงหลังไข่ตก (ช่วงกลางรอบเดือน) โดยจะมีอาการปวดทั้ง 2 ข้าง เจ็บแบบตึง ๆ จากอาการเจ็บ ๆ เพียงเล็กน้อยถึงปวดคล้ายถูกของแหลมแทง

          2.อาการปวดที่ไม่สัมพันธ์กับรอบเดือน ซึ่งอาการเจ็บเต้านมมักจะสามารถระบุตำแหน่งที่เจ็บได้ โดยมักจะเป็นบริเวณใต้หัวนม ข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้างก็ได้ อาการเจ็บมักจะรู้สึกแสบ ๆ คัน ๆ หรือตึง ๆ

เจ็บเต้านมกับรอบเดือน

          อาการเจ็บในลักษณะนี้เกิดจากขณะที่มีการตกไข่ ฮฮร์โมนเพศหญิงจะมีการเปลี่ยนแปลงทำให้กรดไขมันตัวหนึ่งที่มีชื่อว่า กาโมลีนิก (Gamolenic Acid) ลดต่ำลง จึงทำให้คุณผู้หญิงรู้สึกปวดที่บริเวณเต้านม โดยจะเจ็บแบบตึง ๆ ทั้ง 2 ข้าง ซึ่งหากคุณผู้หญิงท่านใดเกิดความกังวล หรือสงสัยว่าที่มันเป็นคืออาการของโรคมะเร็งเต้านมหรือไม่ ก็สามารถมาพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุของอาการดังกล่าว ซึ่งรายละเอียดในการตรวจของแพทย์จะเริ่มจากการซักประวัติอาการปวดดังกล่าวว่า คุณปวดตรงบริเวณใด ปวดสัมพันธ์กับรอบเดือนหรือไม่ และจะตรวจร่างกายดูว่ามีก้อนที่เต้านมหรือมีน้ำออกจากหัวนมหรือไม่

          ถ้าตรวจพบว่ามีก้อนที่เต้านม แพทย์ก็จะส่งตรวจอัลตราซาวด์ดูว่า ก้อนนั้นเป็นถุงน้ำหรือก้อนเนื้อ

          ถ้าตรวจพบว่ามีน้ำออกจากหัวนม ก็จะต้องดูสีน้ำที่ออกมาว่า เป็นเลือดหรือเป็นสีน้ำนมธรรมดา และแพทย์จะส่งตัวอย่างน้ำที่ออกมานั้นไปตรวจเพื่อหาเซลล์มะเร็งเต้านม และจะให้ผู้รับบริการตรวจแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์

          ถ้าพบตรวจพบว่า มีแผลหรือตุ่มน้ำใสที่ผิวหนังของเต้านมอาจจะเป็นงูสวัดได้

          ถ้าตรวจไม่พบความผิดปกติ แพทย์จะแนะนำให้ทำแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์ ถ้าผลไม่มีความผิดปกติก็จะอธิบายเรื่องปวดที่เต้านมให้ผู้รับบริการเข้าใจต่อไป

เต้านม

ดูแลตนเองถ้าปวดเต้านมเมื่อมีรอบเดือน

          สำหรับอาการปวดเต้านมที่ไม่พบความผิดปกติที่เต้านม ก็อาจจะยากที่จะระบุต้นเหตุที่แท้จริงของอาการปวด แต่สาเหตุก็มักรวม ๆ กันตั้งแต่การใช้งานแขนข้างนั้นมากเกินไป การออกกำลังกายที่ผิดจังหวะ การรับประทานยาฮอร์โมนบางชนิดหรือดื่มน้ำชา กาแฟ ช็อกโกแลต มากเกินไป

          โดยหลังจากแพทย์ตรวจและไม่พบความผิดปกติใด ๆ คุณก็หมดกังวลไปได้เลยว่าจะเป็นโรคมะเร็งเต้านม ซึ่งแพทย์จะแนะนำให้ลองเปลี่ยนยกทรง หรือเลือกชนิดและขนาดที่เหมาะสมกับสรีระ การปรับวิธีการรับประทานอาหาร เช่น ลดปริมาณไขมันจากเนื้อสัตว์ (นม, เนย, ชีส, ไอศกรีม) และควรเพิ่มอาหารจำพวกผักและผลไม้สดแทน ถ้าหากอาการยังไม่หาย อาจจะต้องรับประทานยา เช่น Evening primrose oil โดยรับประทานยาทุกวันตอนเย็นอย่างน้อย 3 เดือน

ปวดเต้านมที่ไม่เกี่ยวกับรอบเดือน

          สำหรับอาการปวดในลักษณะนี้มักจะเกิดจากกระดูกอ่อนซี่โครงอักเสบ หรืออาจจะเกิดจากกล้ามเนื้ออักเสบ หรือมีถุงน้ำที่เต้านม โดยหากมีถุงน้ำที่เต้านม แพทย์จะดูว่าถุงน้ำมีขนาดใหญ่หรือไม่ ถ้ามีขนาดใหญ่พอที่มือสามารถคลำได้แพทย์ก็จะเจาะเอาน้ำออกไป ส่วนถ้าคลำไม่ได้ก็จะให้รับประทานยาแก้ปวดแทน

อาการปวดกับมะเร็ง

          ผู้หญิงหลายท่านอาจจะเกิดความกังวลใจว่า อาการปวดดังกล่าวจะเกิดมะเร็งหรือไม่ ในความเป็นจริงแล้ว มะเร็งที่จะทำให้เกิดอาการปวด คือ ต้องมีก้อนขนาดใหญ่ และลุกลามไปที่ผิวหนังข้างนอก หรือที่ผนังหน้าอกข้างใน เพราะฉะนั้นแล้วสำหรับคุณหมอ หากเจอผู้ป่วยมาด้วยอาการปวดเต้านมแพทย์จะนึกถึงมะเร็งน้อยลง โดยเฉพาะในผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า 35 ปี แต่ถ้าอายุมากกว่า 35 ปี หากมีอาการปวดเต้านมข้างเดียว และสามารถคลำได้จนเจอก้อนก็มีโอกาสสูงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมได้ แต่ส่วนมากแล้วจะเป็นถุงน้ำ หรือที่เรียกว่า ซีสต์ มากกว่า

อาการของเต้านมที่ควรพบแพทย์

          1. มีก้อนไตแข็ง หรือเนื้อเต้านมหนาตัวขึ้นผิดปกติ
          2. มีอาการบวม แดง ร้อน ของบริเวณเต้านมที่ไม่หายได้เอง
          3. เต้านมมีขนาด หรือรูปร่างเปลี่ยนไป
          4. มีรอยบุ๋มของผิวเต้านม หรือหัวนมที่เกิดขึ้นใหม่
          5. มีแผล ผื่น อาการคันบริเวณเต้านม
          6. มีน้ำ หรือเลือดไหลจากหัวนม


ลิขสิทธิ์บทความของ e-magazine.info
ติดตามบทความ สุขภาพ หรืออ่าน แมกกาซีน
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไขข้อข้องใจเรื่องปวดเต้านม อัปเดตล่าสุด 27 พฤษภาคม 2562 เวลา 15:16:02 605,464 อ่าน
TOP