x close

ปฎิบัติการ 1669 ช่วยชีวิตอุบัติเหตุไม่คาดคิด!




ปฎิบัติการ 1669 ช่วยชีวิตอุบัติเหตุไม่คาดคิด! (เดลินิวส์)
เรื่องโดย จุฑานันทน์ บุณทราหาญ

           การดำเนินชีวิตในแต่ละวัน ไม่มีใครรู้ล่วงหน้าได้ว่า จะเกิดอุบัติเหตุหรือเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้นกับเราวันใด ??
   
           หลายครั้ง หลายหน ของการช่วยเหลือจากบรรดาเหล่าอาสาสมัครจากหน่วยต่าง ๆ ที่พบเห็นกันบ่อยครั้งเมื่อเกิดเหตุที่ไม่คาดฝันขึ้น ทั้งตามท้องถนนและตามบ้านเรือน ซึ่งทำให้หลายคนรอดพ้นจากเงื้อมมือมัจจุราชมาได้!!
   
           ปัจจุบันระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินจะเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่เป็นหลักประกันด้านความปลอดภัยในชีวิตให้กับประชาชน โดยเมื่อเกิดเหตุ เจ็บป่วยฉุกเฉิน หรือ พบอุบัติเหตุ สามารถโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือได้ที่เบอร์ 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง
   
           หน่วยงานใดเป็นผู้ดำเนินการในส่วนนี้ นพ.ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) หรือ ศูนย์นเรนทร เล่าถึงบทบาทของสถาบันให้ฟังว่า เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 เมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2551 โดยยกฐานะมาจาก ศูนย์นเรนทร เป็นองค์กรอิสระภายใต้การควบคุมของรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข บริหารจัดการโดยคณะทำงานทั้ง 19 คน ที่มาจากผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา
   
           หลักในการปฏิบัติงาน คือ ประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าร่วมบริหารจัดการ เพื่อพัฒนาเครือข่ายการดำเนินงานการแพทย์ฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพในภาพรวม ทั้งการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และพัฒนาความรู้ทางการแพทย์ฉุกเฉิน ตลอดจนบุคลากร


   
           เพื่อสร้างระบบที่มีความพร้อม อันจะทำให้ประชาชนได้รับความคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉินอย่างทั่วถึง เท่าเทียม มีคุณภาพและได้มาตรฐาน โดยมีเป้าหมายหลัก คือ ลดการสูญเสียชีวิตและความพิการ
   
           การขอความช่วยเหลือผ่านเบอร์ 1669 จะทำได้ในกรณี ที่เกิดการเจ็บป่วยฉุกเฉิน เช่น ภาวะโรคประจำตัวหัวใจกำเริบ แน่นหน้าอก ชัก ที่อาจนำมาซึ่งการเสียชีวิต รวมทั้ง  สิ่งของติดคอ ไม้ทิ่มแขน ขา หรืออวัยวะต่าง ๆ ต่อมา คือ ประสบอุบัติเหตุ และสุดท้าย กรณีเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ
   
           นพ.ชาตรี อธิบายขั้นตอนการทำงานว่า เริ่มแรก เมื่อได้รับแจ้งเหตุหลังจากที่มีคนโทรศัพท์เข้ามาที่หมายเลข 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือผ่านระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน โดยจะมีศูนย์สื่อสารสั่งการตั้งอยู่ในแต่ละจังหวัด ๆ ละ 1 แห่ง ทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งเรียกกันว่า ศูนย์ 1669 ซึ่งส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในโรงพยาบาล โดยจะทำงานประสานกับหน่วยงานอื่น ๆ ร่วมด้วย อาทิ มูลนิธิ และองค์กรการกุศลต่าง ๆ
   
           เจ้าหน้าที่รับสายจะสอบถามรายละเอียด ว่า เหตุเกิดที่ใด จำนวนคนเจ็บมีเท่าไร อาการเป็นอย่างไร โดยจะซักถามถึงอาการและบอกวิธีการช่วยเหลือคนเจ็บในเบื้องต้นให้ จากนั้นจะประเมินคนเจ็บก่อนตัดสินใจว่าจะส่งรถอะไรไป ซึ่งจะไปถึงภายใน 10-20 นาที แต่ถ้าหากมีการเคลื่อนย้ายคนเจ็บแบบเร่งด่วนจะประสานงานเพื่อส่งเฮลิคอป เตอร์ไปรับโดยรถที่ออกไปรับคนเจ็บส่งโรงพยาบาลนั้นมีอยู่ 3 ประเภทด้วยกัน
   
           ประเภทแรกจะเป็น รถ ALS ซึ่งเป็นรถตู้ มีอุปกรณ์ช่วยเหลือปฐมพยาบาลเบื้องต้นครบถ้วน มีทีมงาน ทั้งหมด 4 คน คือ คนขับ พยาบาล และ เจ้าหน้าที่ผ่านการอบรม 2 ปี หรือผ่านการอบรม 110 ชม. จำนวน 2 คน โดยจะใช้ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ที่อันตรายมาก คนเจ็บมีอาการหนัก เป็นการปฏิบัติการชั้นสูง 
   
            ต่อมา คือ รถ BLS จะใช้ในเหตุการณ์ที่ไม่ร้ายแรงนัก เช่น คนเจ็บแขนหัก ขาหัก หัวแตก จะเป็นรถกระบะหรือรถตู้ มีทีมงานประมาณ 3-4 คน คือ คนขับรถ เจ้าหน้าที่ผ่านการอบรม 2 ปี หรืออบรม 110 ชม. จำนวน 1-2 คน ภายในรถจะมีอุปกรณ์ช่วยเหลือต่าง ๆ แต่จะน้อยกว่าแบบแรก
   
            สุดท้าย รถ FR เป็นรถกระบะใช้ตามตำบล โดยจะใช้ในกรณีที่ไม่เจ็บเท่าไรนัก มีทีมงาน 2-3 คน คือ คนขับรถ และเจ้าหน้าที่ผ่านการอบรม 16 ชม. หรือ 40 ชั่วโมง 1-2 คน มีอุปกรณ์ช่วยเหลือคนเจ็บเท่าที่จำเป็น  
    
           ในการออกไปปฏิบัติงานแต่ละครั้งทาง สพฉ. จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้โดย รถ ALS จ่ายครั้งละ 1,000 บาท ส่วนรถ BLS จ่ายครั้งละ 500 บาท และรถ FR จ่ายครั้งละ 350 บาท โดยจะสั่งจ่ายไปยังศูนย์สั่งการ ของแต่ละจังหวัด และล่าสุด   ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understan- ding : MOU) กับ บริษัททิพยประกันภัย จำกัด เพื่อจัดทำประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่มให้กับอาสาสมัครและเจ้าหน้าที่ที่เข้าร่วมงานอีกด้วย


   
           เมื่อมาถึง เจ้าหน้าที่จะดูอาการคนเจ็บ และทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อนขึ้นรถเพื่อส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดต่อไป โดยขั้นตอนตั้งแต่กดหมายเลข 1669 จนถึงส่ง โรงพยาบาล เป็นบริการที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
   
           สิ่งที่ต้องปฏิบัติในขณะที่ โทรฯ แจ้งเหตุ คือ จะต้องมีสติ แจ้งสถานที่เกิดเหตุให้ถูกต้อง อธิบายอาการคนเจ็บอย่างละเอียด รวมทั้งแจ้งหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อกลับ เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการประสานงานให้ความช่วยเหลือคนเจ็บ และที่สำคัญ ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ในการช่วยเหลือคนเจ็บอย่างเคร่งครัด
   
           ส่วนเหตุการณ์ที่จะไม่สั่งรถให้ออกไปรับเพื่อส่งโรงพยาบาล คือ เป็นไข้มาแล้ว 3 วัน ยังไม่หาย ตอนนี้มีไข้อยู่แต่หารถมา  ไม่ได้อยากให้ช่วยเอารถมารับไปโรงพยาบาล หรือ หมอนัดคลอดอีก 2 วัน ให้เอารถมารับด้วย  เหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้จะไม่ ส่งรถไปรับ แต่จะให้คำแนะนำ   อื่น ๆ แทน 
    
           "อย่าลืมว่า การนำรถออกไปช่วยเหลือในครั้งหนึ่ง ในช่วงที่ไปรับนั้น หากเกิดมีคนเจ็บที่ฉุกเฉินจริง ๆ จะทำให้คน  คนนั้นเสียโอกาสในการได้รับความช่วยเหลือไป ต้องเข้าใจว่าไม่ใช่ แท็กซี่ คอลล์ ที่เรียกเมื่อไหร่ไปรับหมด ฉะนั้น เมื่อโทรฯ เข้ามาที่ 1669 เจ้าหน้าที่จะมีคำถามประมาณ 4-5 คำถาม เพื่อทำการวินิจฉัยประเมินการตัดสินใจ ว่าจำเป็นหรือไม่จำเป็นในการสั่งการให้หน่วยปฏิบัติงานออกไปช่วยเหลือในพื้นที่ เพราะการออกในแต่ละครั้งถ้าไม่จำเป็นแล้ว ออกไปก็เป็นการเสียจังหวะ เสียโอกาสไปเฉย ๆ แทนที่จะได้ออกไปช่วยเหลือคนที่ฉุกเฉินจริง ๆ" 
     
           นพ.ชาตรี กล่าวด้วยความห่วงใยว่า "ถ้าเกิดภาวะฉุกเฉินกับภัยพิบัติ สามารถเรียกใช้บริการ 1669 ได้ แต่ขอให้เป็นเหตุฉุกเฉินจริง ๆ เมื่อเจ้าหน้าที่รับสายเล่าเหตุการณ์ให้ละเอียดเพื่อการช่วยเหลือที่รวดเร็ว ด้าน ภัยพิบัติ ควรมีการซ้อมเพื่อเตรียมการไว้ล่วงหน้า เมื่อเกิดเหตุการณ์จริงจะได้มีความพร้อมในการปฏิบัติงานและเกิดความปลอดภัยสูงสุด ส่วนองค์กร ผู้ประกอบการ ควรตรวจสอบ ดูแล ด้านความปลอดภัยในทุกชีวิต ไม่ใช่ว่า  เกิดเหตุมีการสูญเสีย แล้วกล่าวว่า เสียใจ พร้อมรับผิดชอบ ซึ่งบางครั้งการสูญเสีย คำว่าเสียใจ ใช้ไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่คุณสามารถป้องกันได้ แต่ไม่ทำ รวมทั้งอย่าโทรฯ เล่น เพราะยังมีอีกหลายชีวิตที่รอความช่วยเหลืออยู่ ซึ่งคนคนนั้น อาจจะเป็นคนที่คุณรักก็ได้"
    
           เพราะไม่อยากให้พลาดแม้แต่วินาทีเดียว อย่าให้ 1 สายป่วนทำให้อีกหลายสายต้องสูญเสีย!!.


ประสบการ์ณและความภาคภูมิใจ





           ดารุณี ศาสนกุล หนึ่งในพยาบาลที่ทำงานให้การช่วยเหลือฉุกเฉินมากว่า 10 ปี เล่าผ่านประสบการณ์ให้ฟังว่า เริ่มแรกโรงพยาบาลที่สังกัดอยู่จัดตั้งหน่วยในการช่วยเหลืออยู่แล้วภายใน จ.นนทบุรี  ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2542 ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน เมื่อมีสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติเกิดขึ้นก็เข้าร่วมตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข
   
           เหตุการณ์ที่จำได้จนถึงทุกวันนี้ เป็นกลางดึกมีคนโทรฯ แจ้งเข้ามาว่ามีอุบัติเหตุบนท้องถนน    มีคนเจ็บหมดสติ จากนั้นก็พร้อมทีมออกไปที่เกิดเหตุ พอไปถึงสิ่งแรก คือ ให้ความช่วยเหลือคนเจ็บซึ่งวันนั้น มีแผลที่ศีรษะ ไม่รู้สึกตัว เป็นผู้ชาย อายุราว 35 ปี 
    
           "การให้ความช่วยเหลือจะต้องประเมินผู้บาดเจ็บก่อน เมื่อไม่รู้สึกตัวจึงต้องระวังในเรื่องของกระดูกต้นคอ จึงช่วยเหลือเบื้องต้นด้วยการดามคอ ถ้ามีแผลก็ต้องห้ามเลือด รวมทั้ง ตรวจดูอวัยวะอื่น ๆ ด้วยว่าผิดรูปหรือไม่ เช่น แขน ขา ถ้ามีต้องทำการดาม เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะหามขึ้นรถเพื่อนำส่งโรงพยาบาล" 
    
           ในระหว่างการนำส่งจะต้องระวังคนเจ็บด้วย คือจะต้องประเมินเป็นระยะ ๆ และให้การช่วยเหลือคนเจ็บต่อ เช่น การให้น้ำเกลือ การให้ออกซิเจน หรือดูดเสมหะให้คนเจ็บ  จนกว่าจะถึงมือหมอที่โรงพยาบาล ในครั้งนั้นคนเจ็บมีของมีค่า แหวน และสร้อยคอ จึงแจ้งให้พยาบาลที่รับไข้ทราบจะได้เก็บรักษาไว้ให้คนเจ็บ ซึ่งคนเจ็บก็ปลอดภัย
    
           "ดีใจที่ได้มาทำงานในส่วนนี้ ได้ช่วยคนเจ็บเมื่อนำส่งโรงพยาบาลรักษาตัว เมื่อคนไข้หายได้กลับบ้านจากการช่วยเหลือของเรา ก็รู้สึกดี ภูมิใจที่ได้มีโอกาสช่วยเหลือคน ทุกครั้งจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เท่าที่ความรู้ ความสามารถจะทำได้ เพราะเข้าใจถึงความรู้สึกว่าคงไม่มีใครอยากพบกับความสูญเสีย ชีวิตคนไม่มีอะไรมาทดแทนได้ เวลาไปสอนอาสาสมัครจะบอกเสมอว่า การช่วยเหลือคนเจ็บทำไป 100 คน มีคนเจ็บรอดเพียงคนเดียวก็ถือว่าคุ้มแล้ว จากประสบการณ์ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า การช่วยเหลือที่มีประสิทธิภาพ   จะทำให้คนเจ็บรอดพ้นจากความตายได้"

  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 

 คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ปฎิบัติการ 1669 ช่วยชีวิตอุบัติเหตุไม่คาดคิด! อัปเดตล่าสุด 10 กันยายน 2552 เวลา 18:02:49 9,167 อ่าน
TOP