โรคหนองในแท้ หนองในเทียม โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ยอดฮิต

          โรคหนองใน เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อยที่สุด มีระยะฟักตัวสั้น และแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว วันนี้กระปุกดอทคอม จึงมีข้อมูลเกี่ยวกับโรคหนองในมาฝากกันค่ะ
 
โรคหนองใน

หนองใน เกิดจากอะไร


          โรคหนองใน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ โรคหนองในแท้ หรือ โกโนเรีย (Gonorrhoea) เกิดจากการติดเชื้อ Neisseria gonorrhoeae ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่มีรูปร่างค่อนข้างกลม อยู่กันเป็นคู่หันด้านเว้าเข้าหากัน ดูคล้ายเมล็ดกาแฟหรือเมล็ดถั่ว ย้อมสีแกรมติดสีแดง เชื้อนี้จะทำให้เกิดโรคเฉพาะเยื่อเมือก Mucous Membrance เช่น เยื่อเมือกในท่อปัสสาวะ ช่องคลอด ปากมดลูก เยื่อบุมดลูก ท่อรังไข่ ทวารหนัก เยื่อบุตา คอ เป็นต้น โดยเชื้อนี้มีระยะฟักตัวเร็ว คือประมาณ 1-10 วัน

          ส่วน โรคหนองใน อีกประเภท คือ โรคหนองในเทียม (Non Gonococcal Urethritis) หรือ NSU เป็นการอักเสบของท่อปัสสาวะที่เกิดจากเชื้อโรคอื่น ๆ ที่ไม่ใช่หนองในแท้

หนองใน ติดต่อกันทางไหน


          โรคหนองใน ไม่ว่าจะโรคหนองในแท้ หรือโรคหนองในเทียม สามารถติดต่อกันจากการมีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะทางปาก ช่องคลอด หรือทางทวารหนัก รวมทั้งหากมีการร่วมเพศทางปาก ก็อาจทำให้ติดโรคที่ลำคอได้

          นอกจากนี้ โรคหนองในเทียม ยังเกิดขึ้นได้จากสาเหตุอื่น ๆ เช่น การติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะ, การอักเสบของต่อมลูกหมาก, ท่อปัสสาวะตีบ, การอักเสบของหนังหุ้มอวัยวะเพศ หรือการใส่สายสวนปัสสาวะ

          ส่วนการจับมือ หรือนั่งฝาส้วมเดียวกัน ไม่สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อหนองในได้ เนื่องจากเชื้อโรคชนิดนี้ เมื่อออกจากร่างกายคนแล้วจะตายค่อนข้างง่าย ดังนั้นโอกาสที่จะติดต่อกันทางอื่น นอกจากทางเพศสัมพันธ์เป็นไปได้ยากกว่า

อาการหนองใน สังเกตแต่เริ่มแรก รักษาได้เร็ว


          - อาการหนองในผู้ชาย : ในผู้ชายที่เป็นหนองในจะมีอาการปัสสาวะขัดอย่างรุนแรง และมีหนองสีเหลืองข้น ไหลออกมาจากท่อปัสสาวะ มักเกิดอาการหลังรับเชื้อไปแล้ว 2-5 วัน ถ้าไม่รักษาอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ลุกลามไปยังต่อมลูกหมาก ทำให้ต่อมลูกหมากอักเสบ อัณฑะอักเสบ ฯลฯ ซึ่งทำให้เป็นหมันได้

          - อาการหนองในผู้หญิง : ในผู้หญิงที่เป็นหนองใน ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ จนกระทั่ง 10 วันไปแล้ว จะมีอาการตกขาว มีกลิ่นเหม็น ปัสสาวะแสบขัด เพราะเกิดการอักเสบที่ท่อปัสสาวะ และปากมดลูก ถ้าไม่รีบรักษาเชื้อโรคจะลุกลาม ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ต่อมบาร์โธลินอักเสบ เป็นฝีบวมโต การอักเสบในอุ้งเชิงกราน ปีกมดลูกอักเสบ การอุดตันของท่อรังไข่ ซึ่งทำให้เป็นหมันหรือตั้งครรภ์นอกมดลูกได้ นอกจากนี้ หากหญิงมีครรภ์เป็นโรคหนองใน เวลาคลอดอาจทำให้เด็กทารกติดเชื้อเกิดอาการตาอักเสบได้ และหากรักษาไม่ทัน จะทำให้เด็กตาบอดได้

หนองในเทียม อาการเป็นอย่างไร


          อาการของหนองในเทียม จะคล้ายกับอาการผู้ป่วยหนองในแท้ แต่มีความรุนแรงน้อยกว่า และระยะฟักตัวของโรคหนองในเทียมจะนานกว่าโรคหนองในแท้

หนองใน


การวินิจฉัยโรคหนองใน ทำอย่างไร

 
          การวินิจฉัยว่าเป็นโรคหนองในหรือไม่นั้น แพทย์จะนำหนอง หรือปัสสาวะ มาตรวจ PCR จากนั้นจะนำมาย้อมหาเชื้อ และนำไปเพาะเชื้อ เพื่อตรวจสอบ ทั้งนี้แพทย์จะนำการตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โรคอื่น ๆ ร่วมด้วย

          ส่วนการวินิจฉัยโรคหนองในเทียม จะต้องอาศัยการตรวจพิเศษทางห้องปฏิบัติการมาร่วมด้วย

หนองใน รักษาได้อย่างไร มาดูวิธี

          ผู้ที่เป็นโรคหนองใน มักจะเป็นโรคหนองในเทียมด้วย ดังนั้นจึงต้องรักษาอาการไปพร้อม ๆ กัน โดยการใช้ยาปฏิชีวนะกลุ่ม Cephalosporin และ Quinolone อาจเป็นชนิดรับประทานหรือชนิดยาฉีด ยาที่นิยมใช้ในปัจจุบัน ได้แก่ Cefixime, Ceftriaxone, Ciprofloxacin, Ofloxacin, Levofloxacin เป็นต้น

          ทั้งนี้ การรักษาหนองในจะได้ผลหรือไม่ ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยที่จะต้องรับประทานยาให้ครบตามแพทย์สั่ง และปฏิบัติตน รวมทั้งตรวจซ้ำตามแพทย์แนะนำ และหากใครเป็นโรคหนองในควรพาคู่สามีและภรรยาไปตรวจรักษาด้วย

          นอกจากนี้เมื่อหายแล้ว ยังควรกลับไปตรวจซ้ำตามแพทย์นัด จนกว่าจะแน่ใจว่าหายสนิทในทุกตำแหน่งที่มีเพศสัมพันธ์

หนองในหายเองได้ไหม ไม่รักษาได้หรือเปล่า


          แม้ว่าผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการดีขึ้นเอง แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด ดังนั้นเมื่อเป็นหนองในจึงควรเข้ารับการรักษาจากแพทย์จะดีที่สุด เพราะโรคหนองในสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ หากไม่รักษาแล้วไปแพร่เชื้อให้คู่นอน อาการหนองในก็จะกลับมาเป็นได้อีก และมีโอกาสที่ภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ จะเพิ่มขึ้นตามจำนวนครั้งที่ได้รับเชื้อ ซึ่งภาวะแทรกซ้อนก็อย่างเช่น อุ้งเชิงกรานอักเสบ ภาวะมีบุตรยาก ปวดท้องน้อยเรื้อรัง ซึ่งเชื้อหนองในสามารถเข้าสู่กระแสเลือดและทำให้เกิดการติดเชื้อในร่างกายที่รุนแรงได้

โรคแทรกซ้อนของผู้ป่วยหนองใน


          ในผู้ชายที่มีอาการหนองใน อาจเกิดอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ คือ

          - การอักเสบของอัณฑะ Epididymitis ซึ่งหากไม่รักษาอาจจะทำให้เป็นหมัน 
          - ข้ออักเสบ Reiter\'s syndrome (arthritis) 
          - เยื่อบุตาอักเสบ Conjunctivitis 
          - ผื่นที่ผิวหนัง Skin lesions 
          - หนองไหล Discharge 

          ส่วนผู้หญิงที่มีอาการหนองใน อาจมีอาการดังต่อไปนี้ 

          - อุ้งเชิงกรานอักเสบ Pelvic Inflammatory Disease (PID) อาจจะทำให้เกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูก 
          - ปวดท้องน้อยเรื้อรัง Recurrent PID อาจจะทำให้เป็นหมัน 
          - ท่อปัสสาวะอักเสบ Urethritis 
          - ช่องคลอดอักเสบ Vaginitis 
          - แท้ง Spontaneous abortion (miscarriage)

หนองใน

หนองใน ป้องกันได้ไหม


          การป้องกันโรคหนองในที่ดีที่สุด คือ ควรงดการมีเพศสัมพันธ์ หากมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่แน่ใจว่ามีเชื้อหรือไม่ ให้สวมถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันตัวเอง นอกจากนี้ ควรมีสามีหรือภรรยาเพียงคนเดียว หรือลดปัจจัยเสี่ยงในการติดต่อ โรคหนองใน และ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ


ขอบคุณข้อมูลจาก
- กระทรวงสาธารณสุข
- bangkokhealth.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคหนองในแท้ หนองในเทียม โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ยอดฮิต อัปเดตล่าสุด 11 ตุลาคม 2564 เวลา 14:50:46 403,118 อ่าน
TOP
x close