x close

ผงะ! พบเครื่องเล่นปนเปื้อนสารตะกั่วในโรงเรียน




เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

          กรมควบคุมมลพิษ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บุกตรวจสนามเด็กเล่น ภาชนะใส่อาหาร และพื้นดิน ในร.ร.บ้านเขาห้วยมะหาด จ.ระยอง หลังเจอสารตะกั่วในสีเกินค่ามาตรฐาน 4 เท่า พร้อมเตรียมสุ่มตรวจทุกโรงเรียนทั่วประเทศ
 
          หลังจากมีผลการศึกษาของคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตได้รายงานผลการสุ่มตรวจนักเรียนในโรงเรียนวัดปทุมมาวาส อ.บ้านค่าย และโรงเรียนวัดบ้านฉาง อ.บ้านฉาง จ.ระยอง โดยพบว่า เด็กบางส่วนมีสารตะกั่วปนเปื้อนในเลือดสูง จนนำมาสู่การตรวจสอบจากหลายหน่วยงานเพื่อหาที่มาของสารตะกั่ว และวางแนวทางแก้ไขนั้น
 
          ล่าสุด วันนี้ (21 กันยายน) นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และแพทย์จากโรงพยาบาลบ้านฉาง ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม และตรวจสุขภาพนักเรียนที่โรงเรียนบ้านเขาห้วยมะหาด อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงเรียน 5 แห่งในพื้นที่ จ.ระยอง ที่พบเด็กมีปัญหาตะกั่วในเลือดอีกครั้ง
 
          ทั้งนี้ นายสุเมธา วิเชียรเพชร ผู้อำนวยการส่วนปฏิบัติการฉุกเฉินสารเคมี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากสำนักจัดการกากของเสียและสารอันตรายของคพ. ได้นำเครื่องเอกซเรย์ฟลูออเรสเซ้นส์ (X-Ray Fluorescent) ตรวจดิน บริเวณโรงเรียน สีในอุปกรณ์เครื่องเล่นเด็ก และภาชนะใส่อาหาร โดยพบว่าสารตะกั่ว และโลหะหนักในดินยังอยู่ในระดับต่ำกว่ามาตรฐาน แต่พบความเข้มข้นของสารตะกั่วถึง 2,000-3,000 พีพีเอ็ม (ส่วนในล้านส่วน) จากเครื่องเล่นทุกชนิดที่ทาสี โดยที่ค่ามาตรฐานต้องไม่เกิน 600 พีพีเอ็ม จึงนับว่ามีค่าตะกั่วสูงเกินกว่าที่กำหนดไว้ถึง 4 เท่า
 


          นายวิเชียร กล่าวถึงผลการตรวจสอบสารตะกั่วจากโรงเรียน ซึ่งเก็บตัวอย่างดินบริเวณสนามหญ้าหน้าเสาธง สนามกีฬา ของโรงเรียนวัดปทุมมาวาส ที่ระดับความลึก 0-10 เซนติเมตร จำนวน 7 ตัวอย่าง มาตรวจสอบสารโลหะหนัก พบว่ายังไม่เกินมาตรฐานคุณภาพดินที่ใช้ประโยชน์เพื่อการอยู่อาศัย และการเกษตรกรรม แต่พบสารหนูในตัวอย่างดินเฉพาะบริเวณสนามเปตองปริมาณ 5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เกินค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ไม่เกิน 3.9  มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และบริเวณสนามหญ้าข้างห้องสมุด มีค่า 10 มิลลักรัมต่อกิโลกรัม
 
          นอกจากนี้ ยังพบสารโลหะหนักปนเปื้อนในสีเคลือบจานสังกะสีเก่าที่ใส่อาหารเด็ก ได้แก่ สังกะสี 299 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตะกั่ว 59 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ทองแดง 275 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม นิกเกิล 522 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ส่วนจานสังกะสี (ใหม่) พบสังกะสี 214 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ทองแดง 425 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม นิกเกิล 230 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และสารหนู 309 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ส่วนผลตรวจสอบสีทาโต๊ะอาหาร พบตะกั่ว 725 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม สังกะสี 305 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ทองแดง 276 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และสารหนู 77 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
 
          โดยนายวิเชียร กล่าวอีกว่า ขณะนี้เตรียมทำหนังสือไปยังสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อขอความร่วมมือในการแก้ปัญหาสารตะกั่วของโรงเรียนในพื้นที่ จ.ระยอง เบื้องต้นอาจต้องงดการเล่นเครื่องเล่น เพื่อทาสีไร้สารตะกั่วใหม่ รวมทั้ง ขอให้โรงเรียนเปลี่ยนภาชนะใส่อาหารสำหรับนักเรียน และจัดหาผ้าคลุมโต๊ะ หรือใช้สีชนิดปลอดสารปนเปื้อนมาทาทับโต๊ะอาหาร เพื่อป้องกันการได้รับสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกายเพิ่มเติม นอกจากนี้ ทาง คพ. ก็เตรียมสุ่มตรวจเครื่องเล่นในโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวมถึงพื้นที่ กทม. ด้วย
 


          ด้านนางพรเพ็ญ จงอนุรักษ์ พยาบาลวิชา ชีพชำนาญการ โรงพยาบาลบ้านฉาง ซึ่งได้เจาะเลือดนักเรียน 3 คนที่บ้านเขาห้วยมะหาด กล่าวว่า ได้มาเจาะเลือดครั้งที่ 3 เพื่อติดตามปริมาณสารตะกั่วในเลือดของนักเรียนว่ายังมีระดับสูงอยู่หรือไม่ โดยก่อนหน้านี้ผลการตรวจเลือดในนักเรียนจำนวน 19 รายจาก 4 โรง เรียนของพื้นที่ อ.บ้านฉาง พบมีสารตะกั่วในเลือดสูงสุด 24.87 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร รองลงมา 21.93 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร จากค่ามาตรฐานไม่ควรเกิน 10 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร และมีเพียง 4 - 5 ราย ที่มีผลตะกั่วในเลือดระดับ 20 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร

          ทั้งนี้ แม้ว่าผลตรวจรอบที่ 2 จะลดลงเพียงเล็กน้อยในบางราย แต่บางรายก็สูงขึ้นทำให้จำเป็นต้องติดตามสุขภาพของเด็ก ๆ อย่างต่อเนือง เพราะขณะนี้ยังไม่สามารถหาต้นตอที่ชัดเจนว่าอะไรเป็นตัวการในการนำสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกายของเด็ก ดังนั้นวิธีที่จะป้องกันได้ คือ ต้องเน้นปรับสุขบัญญัติ เช่น การรักษาความสะอาดโดยการล้างมือ เพราะเด็กอาจหยิบจับสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกายด้วยการกินเข้าไปโดยไม่รู้ตัว
 
          นางพรเพ็ญ กล่าวอีกว่า ในภาพรวมเด็กกลุ่มเสี่ยงทั้ง 19 ราย ยังมีอาการไม่รุนแรงเท่ากรณีสารตะกั่วบ้านคลิตี้ จ.กาญจนบุรี และยังไม่มีอาการเจ็บป่วยจากพิษตะกั่ว เนื่องจากยังไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องให้ยาขับพิษตะกั่วที่ต้องมีปริมาณสารตะกั่วใน เลือดที่ระดับ 45 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร แต่เนื่องจากมีโอกาสสะสมสูง ถ้ายังไม่รู้ที่มาของสารตะกั่วที่ชัดเจน ซึ่งพบว่าขณะนี้มีหลายปัจจัยเสี่ยงมากที่ทำให้เด็กมีโอกาสรับสารตะกั่ว ทั้งจากที่บ้าน และที่โรงเรียน ดังนั้นทีมสาธารณสุขจะไปสอบสวนหาสาเหตุที่บ้านของเด็กทั้งหมดอย่างใกล้ชิดต่อไป
 
 
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ผงะ! พบเครื่องเล่นปนเปื้อนสารตะกั่วในโรงเรียน อัปเดตล่าสุด 21 กันยายน 2555 เวลา 18:12:19
TOP