โรคคิดไปเองว่าป่วย (Hypochondriasis) เช็กสักนิดเราอาจเป็นอยู่ !

          อาการเจ็บป่วยเป็นสิ่งที่ใครต่างก็ไม่อยากเจอ แต่รู้ไหมว่ายังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่คิดไปเองอยู่ตลอดว่าร่างกายป่วยเป็นโรคนั้นโรคนี้ พลอยให้ใจก็ป่วยไปด้วย

โรคคิดไปเอง

          เคยได้ยินโรคคิดไปเองกันบ้างไหมคะ หรือในภาษาอังกฤษจะเรียกโรคนี้ว่าโรคไฮโปคอนดริเอซิส (Hypochondriasis) ซึ่งผู้ป่วยโรคนี้หมกมุ่นอยู่กับอาการป่วยของตัวเองไม่ยอมหาย และมักจะคิดว่าตัวเองเป็นโรคร้ายแรง ทั้ง ๆ ที่อาการเจ็บป่วยที่เป็นไม่ได้อันตรายอย่างที่คิด ซึ่งจากอาการโรคคิดไปเองก็เลยทำให้ต้องเข้า ๆ ออก ๆ โรงพยาบาลอยู่หลายครั้ง พบหมอ กินยา และตรวจโรคกันมานับไม่ถ้วน แต่ผลตรวจที่ออกมาคือไม่เจอโรคหรือความผิดปกติใด ๆ !

          เอาล่ะสิ...หากใครคุ้น ๆ กับอาการนี้ เหมือนตัวเรากำลังเป็นอยู่ ลองมารู้จักโรคคิดไปเอง หรือโรคไฮโปคอนดริเอซิส (Hypochondriasis) กันค่ะ

โรคคิดไปเอง คืออะไร

          โรคไฮโปคอนดริเอซิส (Hypochondriasis) หรือโรคคิดไปเองว่าป่วย เป็นโรคจิตเวชชนิดหนึ่ง ซึ่งผู้ป่วยจะมีความกังวลและหมกมุ่นกับปัญหาสุขภาพของตัวเองมากเกินไป คิดกลัวอยู่ตลอดเวลาว่าตัวเองจะป่วยเป็นโรคร้ายแรง เช่น กลัวว่าตุ่มหรือไฝบนร่างกายอาจจะเป็นสัญญาณของโรคมะเร็ง โรคเอดส์ กลัวว่าอาการปวดมวนท้องอาจบอกได้ถึงโรคร้ายแรงของลำไส้ หรือกลัวตัวเองเป็นโรคหัวใจเพราะใจเต้นผิดจังหวะอยู่บ่อย ๆ

           อย่างไรก็ตาม อาการป่วยที่คนไข้เป็นอาจไม่มีอยู่จริง หรือหากเจ็บป่วยจริงก็มักจะเป็นความผิดปกติเพียงเล็กน้อย โดยเฉพาะความผิดปกติที่ศีรษะ คอ หน้าอก และช่องท้อง เช่น ปวดหัวบ่อย ปวดมวนท้องบ่อย ๆ ใจสั่น อ่อนเพลีย ไม่มีแรง หรือปัสสาวะบ่อย แต่ก็เป็นเพียงอาการป่วยที่ไม่น่ากังวล เพราะไม่ร้ายแรง ทว่าคนไข้โรคคิดไปเองมักจะไม่เชื่ออย่างนั้น และยังคงหมกมุ่นอยู่กับอาการป่วยของตัวเองจนอาจกระทบกับการใช้ชีวิตได้ในที่สุด

โรคคิดไปเอง

โรคคิดไปเอง ใครป่วยได้บ้าง

          โรคคิดไปเองพบได้บ่อยในกลุ่มคนอายุระหว่าง 20-30 ปี พบได้ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย โดยจิตแพทย์ต่างให้ความเห็นว่า คนในช่วงอายุราว ๆ นี้ มักจะเป็นช่วงที่มีความตึงเครียดในเรื่องต่าง ๆ ได้ง่าย และความเครียดก็อาจมีส่วนผลักดันให้รู้สึกกังวลกับปัญหาสุขภาพของตัวเองมากเกินไปด้วย

โรคคิดไปเอง เกิดจากอะไร

          ต้องบอกก่อนว่าผู้ป่วยโรคคิดไปเองไม่ได้มโน ไม่ได้แกล้งเจ็บป่วยเพื่อเรียกร้องความสนใจ แต่ด้วยสาเหตุเหล่านี้ต่างหากที่ทำให้เขาป่วยโรคไฮโปคอนดริเอซิส (Hypochondriasis)

1. เคยชินกับการจับผิดความผิดปกติของตัวเองมากเกินไป

          คนรักสุขภาพมักจะใส่ใจในเรื่องอาหารการกินและความรู้สึกผิดปกติของร่างกายตัวเองกันอยู่แล้ว ทว่าจากสถิติก็พบว่า ผู้ป่วยโรคคิดไปเองโดยมากแล้วจะมีความใส่ใจในร่างกายของตัวเองในระดับที่มากจนเกินไป ทำให้เกิดความรู้สึกกังวลกับร่างกายของตัวเองเป็นประจำ จนกระทั่งก่อให้เกิดความรู้สึกเคยชินกับการจับผิดร่างกายตัวเอง เช่น คอยสังเกตจังหวะการเต้นของหัวใจ ประสาทการรับรสหรือรสชาติน้ำลายที่เปลี่ยนไป หรือกังวลกับระบบขับถ่ายของตัวเองจนทำให้ต้องวิ่งเข้า-ออกห้องน้ำบ่อยผิดปกติ แล้วก็คิดไปเองว่าอาการที่เป็นน่าจะใช่อาการของโรคใดโรคหนึ่ง

2. แปลความรู้สึกของร่างกายผิดไป

          แม้จะเกิดความผิดปกติของร่างกายเพียงเล็กน้อย แต่คนไข้กลุ่มนี้ก็จะแปลความรู้สึกนั้นในแง่ที่ร้ายแรงกว่าคนทั่วไป และมักจะมีความอดทนต่อความผิดปกติของร่างกายต่ำกว่าคนปกติ

3. เรียนรู้ที่จะใช้บทบาทของผู้ป่วย

          ในทางจิตวิทยามีข้อสันนิษฐานว่า อาการโรคคิดไปเองอาจเกิดจากการใช้บทบาทของผู้ป่วย (Sick role) โดยเมื่อเผชิญหน้ากับปัญหาหรือสถานการณ์ที่แก้ไขไม่ได้ ผู้ป่วยก็จะเรียนรู้ที่จะใช้บทบาทคนป่วยเพื่อเอาตัวรอดจากสถานการณ์นั้น ๆ ผลักดันให้ร่างกายเกิดความผิดปกติบางอย่างขึ้นมา

4. โรคแทรกซ้อนทางจิตวิทยาอื่น ๆ

          ผู้ป่วยที่ป่วยด้วยโรคซึมเศร้า โรคเครียด โรควิตกกังวล ที่ยังไม่รู้ตัวว่าป่วยด้วยโรคจิตเวชเหล่านี้ อาจมีอาการของโรคคิดไปเองซุกซ่อนอยู่ด้วย และทำให้คิดว่าตัวเองป่วยเป็นโรคต่าง ๆ  นานา ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมอาการป่วยทางจิตของตัวเองให้ย่ำแย่หนักขึ้นไปอีก

5. ความกดดันบางอย่าง

          ผู้ป่วยโรคคิดไปเองบางคน อาจป่วยด้วยความรู้สึกกดดันบางอย่าง เป็นต้นว่าผู้ป่วยอาจขาดความภูมิใจในตนเอง และรู้สึกว่าไม่ได้รับการยอมรับ มีความผิดหวัง จึงใช้กลไกทางจิตชนิดที่เรียกว่าเก็บกด แสดงออกมาเป็นอาการผิดปกติทางกาย เพื่อปกปิดสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ

โรคคิดไปเอง อาการเป็นอย่างไร

          อาการของโรคคิดไปเองซึ่งเราสามารถวินิจฉัยในเบื้องต้นได้ง่าย ๆ มีดังนี้

          1. หมกมุ่น กังวลว่าตัวเองจะป่วยด้วยโรคร้ายแรงตลอดเวลา

          2. ยังกลัวจะป่วยด้วยโรคร้ายแรงไม่หาย แม้จะเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์อย่างละเอียดแล้วว่าไม่มีความผิดปกติใด ๆ ก็ตาม

          3. ความรู้สึกกลัวจะป่วยโรคร้ายแรง เริ่มส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน คนรอบข้างเริ่มเอือมระอา มีปัญหากับการเข้าสังคม

          4. เป็นมานานติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือน และมีระดับความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ

          หากพบว่าตัวเองหรือคนรอบข้างมีอาการตามนี้ ก็เป็นไปได้ค่อนข้างสูงค่ะว่าคุณกำลังป่วยโรคไฮโปคอนดริเอซิส (Hypochondriasis) อยู่

โรคคิดไปเอง

โรคคิดไปเอง รักษาอย่างไร

          ในเมื่อคนไข้โรคคิดไปเองมักจะคิดว่าตัวเองมีอาการป่วยทางกายจริง ๆ ดังนั้นการรักษาโรคคิดไปเองหรือโรคไฮโปคอนดริเอซิสจึงมีลำดับการรักษาอยู่ 2 ขั้นตอนด้วยกัน ดังนี้

1. วินิจฉัยแยกโรคทางกาย

          โดยตรวจความผิดปกติของร่างกายด้วยเครื่องมือแพทย์อย่างละเอียด จนแน่ใจว่าผู้ป่วยไม่มีอาการใดส่อถึงโรคอันตราย หรือแม้แต่แนวโน้มความเสี่ยงต่อโรคนั้น ๆ

2. วินิจฉัยโรคทางจิตเวชอื่น ๆ

          เนื่องด้วยคนไข้บางคนที่มาหาหมออาจเป็นโรคอื่น ๆ ที่ไม่ใช่โรคไฮโปคอนดริเอซิส โดยอาจเป็นโรคซึมเศร้า โรคเครียด โรควิตกกังวล รวมถึงโรคจิตเภทชนิดอื่น ๆ ซึ่งสามารถรักษาได้โดยการใช้ยา ทว่าเมื่อตรวจจนแน่ใจแล้วว่าคนไข้ไม่ได้ป่วยด้วยโรคจิตเวชชนิดอื่น ๆ อย่างที่กล่าวมา เราจึงจะวินิจฉัยว่าคนไข้ป่วยเป็นโรคไฮโปคอนดริเอซิส ซึ่งแพทย์ก็จะทำการพิจารณาวิธีรักษาตามเคสไป

โรคคิดไปเอง ป่วยแล้วจะหายไหม

          การรักษาผู้ป่วยโรคไฮโปคอนดริเอซิสค่อนข้างทำได้ยาก เนื่องจากคนไข้มักจะไม่ยอมรับว่าตัวเองป่วยด้วยโรคนี้ แต่จะเข้าใจเอาเองว่าตัวเองป่วยด้วยโรคทางกายอื่น ๆ จึงไม่ค่อยให้ความร่วมมือในการรักษา อีกทั้งผู้ป่วยมักจะหาข้อมูลอาการป่วยของตัวเองจากอินเทอร์เน็ต จากนิตยสาร หรือสื่อทางการแพทย์อื่น ๆ มาค่อนข้างมาก ทำให้มั่นใจในความคิดและความรู้สึกของตัวเอง ส่งผลให้มักจะต่อต้านการรักษาของหมอด้านจิตเวช

          อย่างไรก็ตาม ยังมีแนวทางการรักษาโรคคิดไปเองให้หายได้ โดยวิธีความคิดและพฤติกรรมบำบัด ซึ่งสำหรับผู้ป่วยโรคคิดไปเองนั้นมีแนวทางการรักษาอยู่ 2 แนวทาง ดังนี้ค่ะ

1. ฝึกการจัดการความเครียด

          เป็นวิธีฝึกให้ผู้ป่วยมีทักษะในการจัดการความตึงเครียดและความกังวลอย่างเป็นระบบ โดยจิตแพทย์จะมีเทคนิคให้ผู้ป่วยจัดการกับความกลัวของตัวเองอย่างเหมาะสม รวมไปถึงการสอนเทคนิคการแก้ปัญหาในเบื้องต้น ซึ่งก็จะช่วยให้ผู้ป่วยรับมือกับสิ่งที่ตัวเองกำลังเผชิญอยู่ไม่มากก็น้อย

2. เผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัว

          วิธีนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยมีความต้านทานต่ออาการของตัวเองเพิ่มขึ้น​ โดยแพทย์จะให้ลิสต์อาการป่วยที่คิดว่าคนไข้เป็นอยู่มาทีละข้อ และพูดคุยถึงอาการดังกล่าวอย่างละเอียด หรือสร้างสถานการณ์ให้ผู้ป่วยได้เผชิญกับอาการนั้น ๆ พร้อมทั้งฝึกให้ผู้ป่วยอยู่กับอาการนั้นให้ได้ และหากผู้ป่วยเริ่มปรับตัวกับอาการที่เป็นได้ในระดับที่น่าพอใจแล้ว ต่อมาก็จะพัฒนาในด้านการป้องกันอาการเป็นลำดับต่อไป

          อย่างไรก็ดี ตัวผู้ป่วยเองก็ต้องยอมรับให้ได้ก่อนว่าตัวเองป่วยด้วยโรคไฮโปคอนดริเอซิส จึงจะเข้าสู่กระบวนการรักษาด้วยจิตบำบัดอย่างเต็มรูปแบบได้

โรคคิดไปเอง ป่วยแล้วควรดูแลตัวเองอย่างไร

          เรามีแนวทางในการดูแลตัวเองเมื่อป่วยโรคไฮโปคอนดริเอซิสมาฝาก ลองทำตามกันนะคะ

          - ออกกำลังกาย เพื่อให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่าและสดชื่น

          - ปลูกต้นไม้ เพราะการได้เห็นสีเขียวของต้นไม้จะช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายและอารมณ์ดีขึ้น

          - อ่านหนังสือ เช่น หนังสือธรรมะ หนังสือตลก นิยายที่เนื้อหาไม่หนักเกินไปนัก ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ได้ความเพลิดเพลินแล้วยังได้ความรู้เพิ่มเติมอีกมากมาย

          - หาโอกาสไปเที่ยว การได้ไปเปลี่ยนบรรยากาศในสถานที่ใหม่ ๆ สามารถลดความวิตกกังวลจากเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันที่ตกตะกอนอยู่ในใจได้ เช่น ไปทะเล ภูเขา น้ำตก เป็นต้น

          - ทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว การพูดคุยปรึกษาหารือ รับประทานอาหารร่วมกัน ก็สามารถช่วยให้ความตึงเครียด วิตกกังวล และโรคซึมเศร้าที่เป็นอยู่ทุเลาลงได้

          นอกจากนี้อยากให้คนใกล้ตัวรวมทั้งญาติของผู้ป่วยเข้าใจผู้ป่วยโรคไฮโปคอนดริเอซิสด้วยนะคะ อย่ารำคาญ อย่าเมินเฉย อย่างน้อยคอยรับฟังสิ่งที่เขาอยากบ่น อยากพูด อย่างเข้าใจ เท่านี้ก็น่าจะทำให้ผู้ป่วยมีกำลังใจและอาจช่วยป้องกันให้เขาไม่ป่วยด้วยโรคอื่น ๆ เพิ่มขึ้นก็ได้



ขอบคุณข้อมูลจาก
ชีวจิต
minddisorders
harvard
psychcentra
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคคิดไปเองว่าป่วย (Hypochondriasis) เช็กสักนิดเราอาจเป็นอยู่ ! อัปเดตล่าสุด 9 เมษายน 2564 เวลา 15:23:08 132,817 อ่าน
TOP
x close