การขับเคลื่อนขององค์กรอาจจะต้องสะดุดลง หากบุคลากรในบริษัทมีอาการติดสุราอย่างหนักจนงานการไม่คืบหน้า และในบางราย ถึงขั้นเป็นโรคติดสุรา หรือที่เรียกกันว่า โรคพิษสุราเรื้อรัง ซึ่งโรคดังกล่าว แม้จะดูเหมือนเรื่องไกลตัว แต่จริง ๆ เรียกได้ว่าเป็น ภาวะที่คนวัยทำงานอาจต้องพบเจอ เพราะเป็นช่วงวัยที่ต้องคร่ำเคร่งกับการทำงานเพื่อสร้างเนื้อสร้างตัว และมุ่งมั่นเพื่อเป้าหมายในอนาคต
สำหรับโรคติดสุรานั้น มักมาพร้อมกับความเครียด บางรายอาจคิดว่าการดื่มสุราจะช่วยให้ลืมเรื่องกลุ้มใจ หรือลืมเรื่องเครียด ๆ ไปได้ชั่วขณะ แต่แท้จริงแล้ว การดื่มสุราที่นอกจากการสังสรรค์ ส่วนใหญ่มักเป็นการดื่มสุราเพื่อซ่อนปัญหาไว้ในใจของผู้ดื่มเสียมากกว่า แต่ในท้ายที่สุดสถานการณ์ต่าง ๆ ก็คงไม่ดีขึ้น หากไม่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ผู้ที่แก้ปัญหาด้วยวิธีเช่นนี้บ่อยครั้ง อาจเกิดมีอาการติดสุราได้โดยไม่รู้ตัว จากนั้นก็จะขาดความสามารถในการควบคุมการดื่มสุราไปในที่สุด
นอกจากปัญหาเรื่องสุขภาพที่จะตามมาหลังจากติดสุรา อาทิ โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง หลอดเลือดเลี้ยงสมองตีบตัน และมะเร็งบางชนิด การติดสุรา อาจะส่งผลต่อการทำงาน เพราะผู้ติดสุราจะนึกถึงแต่การดื่มสุราอยู่ตลอดเวลา จนไม่มีสามาธิในการทำงาน และเมื่อดื่มสุราแล้ว สมองก็จะมึนงง ไม่ปลอดโปร่ง ทำให้คิดไอเดียใหม่ ๆ ไม่ออก หรือในรายที่เป็นหนักมาก อาจมีปัญหาเรื่องการใช้ความรุนแรงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งการสังเกตตัวอย่างง่าย ๆ ว่ามีอาการติดสุราหรือไม่ มีดังนี้
1. หากคุณไม่ดื่มเหล้า คุณจะมีอาการหงุดหงิด เหงื่อแตก นอนไม่หลับ กระสับกระส่ายหรือไม่
2. คุณต้องดื่มเหล้าในปริมาณที่มากกว่าปกติ เกินกว่าที่ตัวเองต้องการหรือไม่
3. คุณใช้เวลานานในการดื่มเหล้า และใช้เวลานานกว่าจะหายเมาหรือไม่
4. คุณไม่สามารถหยุดคิดเรื่องการดื่มเหล้าได้ใช่หรือไม่
5. คุณยกเลิกการทำงานบางอย่างที่มีความสำคัญ เพื่อนำเวลาไปใช้กับการดื่มเหล้าหรือไม่
หากมีอาการเหล่านี้ แสดงว่าผู้ดื่มเริ่มเข้าข่ายการเป็นโรคติดสุรา ซึ่งหากผู้ดื่มมีอาการติดสุราอย่างหนักจนไม่สามารถเยียวยาด้วยตัวเองได้แล้ว ผู้ดื่มเหล้าควรเข้ารับการบำบัดจากแพทย์เพื่อความปลอดภัยของร่างกาย แต่สำหรับผู้ที่มีอาการอยู่ในขั้นเบื้องต้น ยังไม่รุนแรงมากนั้น สิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรก คือ การให้คนรอบข้างเข้าใจถึงปัญหา และคอยสนับสนุนให้เกิดการเลิกเหล้าอย่างจริงจัง โดยผู้ติดสุรา ควรปฏิบัติดังนี้
1. ต้องยอมรับความจริงว่า แม้การดื่มสุราเป็นเรื่องธรรมดา แต่ก็มีผลเสียต่อร่างกายในระยะยาว
2. หากการติดสุรามาจากความเครียดจากการทำงาน ต้องพยายามหาวิธีให้ตัวเองทำงานอย่างสนุกสนาน ผ่อนคลาย
3. เมื่อถึงวันหยุด ต้องหยุดพักผ่อนจริง ๆ โดยไม่นำความกังวล หรือความเครียดจากการทำงานกลับมาที่บ้านด้วย เพื่อให้ร่างกายได้หยุดพัก และผ่อนคลายบ้าง
4. หมั่นออกกำลังกาย เพื่อให้สุขภาพแข็งแรง และสมองปลอดโปร่ง
5. หากอยู่ในภาวะกดดันในเรื่องงาน ควรพูดกับหัวหน้าเพื่อระบายความอัดอั้น เพราะหากทนเก็บความเครียดไว้ ก็อาจทำให้ป่วยทั้งร่างกาย และจิตใจได้
6. พยายามปล่อยวาง หรือ สวดมนต์โดยเอาธรรมะเข้าข่ม และพยายามคิดว่า สักวันเรื่องร้าย ๆ ก็จะผ่านพ้นไป
7. พยายามมองหางานอดิเรกที่ตัวเองทำแล้วเพลิดเพลิน เพื่อให้สมองได้พักผ่อน
8. แบ่งเวลาในการทำงานอย่างเป็นระบบ อย่าเคร่งเครียดกับงานตลอดเวลา
9. อย่าดื่มเพื่อลืมปัญหา เพราะสุดท้ายก็ต้องแก้ที่ต้นเหตุอยู่ดี
10. หัดปฏิเสธคนให้เป็น ไม่ให้งานตัวเองล้นมือ จนไม่มีเวลาส่วนตัว
11. หากอยู่ในระดับหัวหน้า ควรกระจายความรับผิดชอบให้คนอื่นทำบ้าง เพราะนอกจากตัวเองจะกดดันแล้ว ลูกน้องหรือคนอื่นก็จะไม่ได้เรียนรู้งานเหล่านั้นด้วย
ในขณะเดียวกัน องค์กรก็สามารถมีส่วนร่วมเพื่อให้พนักงานหายจากการติดสุราได้เช่นกัน เพราะการติดสุรานั้น หากมีสาเหตุมาจากความเครียดที่เกี่ยวพันกับการทำงานในบริษัท หรือองค์กรต่าง ๆ ผู้ที่อยู่ในองค์กร ควรร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ไปพร้อม ๆ กัน
1. เพื่อนร่วมงาน ควรให้กำลังใจแก่ผู้ที่มีอาการติดสุรา และลดการนัดสังสรรค์ด้วยการดื่มเหล้า เป็นการทำกิจกรรมอื่น ๆ แทน
2. หัวหน้าควรพูดถึงความก้าวหน้าในสายงานขององค์กรอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ลูกน้องมองเห็นภาพ และคิดว่าควรวางแผนอนาคตอย่างไร ไม่ให้จมอยู่กับที่ และมีความกระตือรือร้นในการทำงานมากขึ้น
3. หัวหน้าควรสร้างบรรยากาศให้ลูกน้องรู้สึกว่าเป็นส่วนสำคัญของงานที่รับมอบหมายต่าง ๆ
4. หัวหน้าควรซื้อใจลูกน้องบ้าง เช่น ให้คำชมเมื่อทำดี และให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ในการทำงาน
5. องค์กรควรสนับสนุนในมีกิจกรรมสันทนาการเพื่อความผ่อนคลายในหลาย ๆ รูปแบบ
6. องค์กรควรสนับสนุนให้หัวหน้าฝ่ายไปอบรมการหลักสูตรการเป็นหัวหน้างานที่ดี เพื่อให้สามารถดูแลลูกน้องได้อย่างทั่วถึง
แต่ถ้าหากทำตามวิธีการต่าง ๆ ดังที่เกริ่นไปข้างต้นแล้ว ยังไม่เห็นผลการเปลี่ยนแปลงใด ๆ หรือยังไม่สามารถเลิกการดื่มสุราได้ อาจให้ผู้ติดสุราปฏิบัติตามวิธีต่าง ๆ ดังนี้
1. ให้ตั้งจุดมุ่งหมายถึงปริมาณ และจำนวนวันที่ตั้งใจจะดื่มแอลกอฮอล์
2. ตั้งจังหวะการดื่มในแต่ละครั้ง เช่น จิบอย่างช้า ๆ ดื่มน้อยกว่า 1 แก้วต่อชั่วโมง หรือสลับเปลี่ยนด้วยเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ เช่น น้ำเปล่า น้ำอัดลม หรือ น้ำผลไม้
3. รับประทานอาหารร่วมด้วยขณะดื่ม ซึ่งจะช่วยให้แอลกอฮอล์ถูกดูดซึมได้ช้าลง
4. หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ เช่น ไม่ไปในสถานที่ที่มีการดื่มสุรา หรือไม่ควรมีแอลกอฮอล์เก็บไว้ในบ้าน
6. หากมีความรู้สึกอยากดื่มสุราขึ้นมา ให้พยายามเตือนตัวเองถึงเหตุผลที่ต้องการเลิก เช่น นึกถึงความก้าวหน้าในการทำงาน หรือหันหน้าไปพูดคุยกับคนที่รู้สึกไว้วางใจ หรือหันไปทำกิจกรรมอื่น ๆ
7. รู้จักที่จะปฏิเสธหากมีคนชวนดื่มสุรา เพราะยิ่งปฏิเสธได้เร็วเท่าไร ก็ยิ่งทำให้มีโอกาสน้อยที่จะกลับไปดื่มอีกครั้ง
ทั้งนี้ การได้กำลังใจจากคนรอบข้าง ทั้งครอบครัว เพื่อนที่ทำงาน และได้รับการสนับสนุนจากองค์กร หากผู้ติดสุรา มีความตั้งใจที่จะเลิกอย่างมุ่งมั่น เชื่อว่าหากทำตามวิธีดังกล่าวแล้ว ย่อมสามารถลดการติดสุราลงได้อย่างแน่นอน แต่ถ้าหากทำตามวิธีการดังกล่าวแล้วยังไม่ได้ผล ก็ควรหันไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับยาช่วยในการเลิกการดื่มพร้อมกับทำพฤติกรรมบำบัดหรือจิตบำบัดร่วมด้วย เป็นต้น
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก