x close

พม. เล็งขยายสิทธิ สามีลาดูแลภรรยาคลอด ทั้งรัฐวิสาหกิจ-เอกชน

 

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
 
         กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เตรียมชงสิทธิ ชายไทยลาดูแลภรรยาหลังคลอด ครอบคลุมรัฐวิสาหกิจ และเอกชน หลังข้าราชการชายลาได้ 15 วัน
 
         เมื่อวานนี้ (3 ธันวาคม) นายสังคม คุณคณากรสกล ประธานบริษัทไทยทอปปิค จำกัด กล่าวในงานเสวนา "พ่อจ๋า...ลาคลอดมากอดหนู" จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และบริษัท ไทยทอปปิค จำกัด ว่า ผลการสำรวจการรับรู้เกี่ยวกับสิทธิการลาหยุดของข้าราชชายเพื่อช่วยเหลือดูแลภรรยาที่คลอดบุตรติดต่อกันได้ครั้งละ 15 วัน ของประชาชนทั่วประเทศจำนวน 1,473 คน พบว่า มีผู้รับรู้ถึงสิทธิดังกล่าวอย่างถูกต้อง 55.6% ขณะมีผู้ที่รับรู้แต่ไม่เข้าใจ 14.46% และผู้มีที่ไม่รู้ว่ามีสิทธินี้อยู่เลย จำนวน 29.94% และผู้ที่อยู่ในเขตเมืองรับรู้น้อยกว่าผู้ที่อยู่ในเขตภูมิภาค
 
เมื่อสำรวจถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของข้าราชการชายที่ใช้สิทธิลาคลอดตามภรรยาพบว่า

         ลาหยุดเพื่อไปดูแลบุตรและภรรยาจริง คิดเป็น 54.72%

         ลาเพื่อการดูแลบุตร ภรรยาและการทำภารกิจอื่น ๆ คิดเป็น 34.62%

         มีการใช้สิทธิดังกล่าวอย่างผิดวัตถุประสงค์ คิดเป็น 3.53%
 
         และเมื่อถามถึงความต้องการให้ขยายสิทธิการลาคลอดตามภรรยาไปยังกลุ่มพนักงาน เอกชน รัฐวิสาหกิจ ลูกจ้างกลุ่มอื่น ๆ พบว่า ฝ่ายหญิงไม่ต้องการให้ขยายสิทธิดังกล่าวเพิ่มเติมแล้ว ขณะที่ฝ่ายชายยังต้องการให้ขยายสิทธิให้ครอบคลุมกลุ่มบริษัทเอกชน 46.5% รัฐวิสาหกิจ 44.4% และกลุ่มลูกจ้างของรัฐ 77.87%
 
         ด้านนายสมชาย เจริญอำนวยสุข ผู้อำนวยการสำนักกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า การที่สามีคอยดูแลภรรยาและบุตรหลังคลอดเป็นการส่งเสริมสถาบันครอบครัว ที่สำคัญคือส่งเสริมด้านสิทธิเด็กในการได้รับการดูแลจากพ่อแม่ แต่ที่ผ่านมามีเพียงข้าราชการเท่านั้นที่ได้รับสิทธิให้ลาหยุดลาคลอดตาม ภรรยาได้ 15 วัน แต่ยังถือเป็นจำนวนที่น้อย
 
         ดังนั้น เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์จึงนำเรื่องเข้าคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พัฒนาสตรีแห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อขอให้ขยายสิทธิผู้ชายลาคลอดตามภรรยาไปยังกลุ่มภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจด้วย ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็เห็นชอบแล้ว จึงได้เสนอเรื่องไปยังกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ซึ่งอยู่ระหว่างการขอแก้ไข พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน หรืออาจออกเป็นประกาศกระทรวง ซึ่งก่อนอื่นต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นก่อน ทั้งนี้หากมีการผลักดันอย่างจริงจังคาดว่าน่าจะสามารถใช้สิทธิได้ภายในปี 2556
 
         นอกจากนี้ยังได้เสนอขอแก้ไขระเบียบการอนุญาตลาคลอดในส่วนข้าราชการ โดยให้คลอบคลุมถึงสามีภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียน แต่มีการเซ็นรับรองบุตรถูกต้องด้วย จากเดิมอนุญาตให้ข้าราชการชายลาคลอดได้เฉพาะผู้ที่จดทะเบียนสมรสกันอย่างถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น
 
         นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า หลังคลอดใหม่ ๆ  เป็นช่วงที่โกลาหล โดยเฉพาะคุณแม่มือใหม่ที่ต้องการการดูแลทั้งร่างกายและจิตใจ แต่ทุกวันนี้ยังพบว่า ผู้ชายมีทัศนคติว่างานบ้านหรือการดูแลบุตรจะต้องเป็นหน้าที่ของผู้หญิงเท่านั้น ดังนั้นจึงต้องมีการส่งเสริมให้ผู้ชายมีส่วนร่วมในการดูแลครอบครัวมากขึ้น ส่วนตัวเห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย รวมถึงผู้ชายที่มีประสบการณ์ในการลาหยุดเพื่อดูแลภรรยา ควรช่วยกันขับเคลื่อน และปรับเปลี่ยนทัศนคติตรงนี้ใหม่ ที่สำคัญอยากให้มีการปรับแก้ระเบียบระยะในการลาคลอดของผู้ชายจาก 15 วันเป็น 1 เดือน คิดว่าน่าจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม
 

         ด้าน ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวณิชย์ ผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ เป็นหน่วยงานข้าราชการแห่งแรกที่ให้สิทธิข้าราชการชายลาคลอดเพื่อไปดูแลบุตร และภรรยาได้ 10 วัน เนื่องจากทางมหาวิทยาลัยเล็งเห็นถึงความสำคัญของเด็กที่จะโตขึ้นมาเป็นกำลังของประเทศชาติอย่างมีคุณภาพ แต่ที่ผ่านมามีข้าราชการชายขอให้สิทธิดังกล่าวน้อย อาจเป็นเพราะมีกลุ่มที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ไม่เยอะ และบางส่วนกลัวถูกเพื่อนล้อเลียน โดยเฉพาะในกลุ่มอายุ 35 ปีขึ้นไปจะมีทัศนคติในเรื่องนี้รุนแรงมาก ส่วนกลุ่มที่มีอายุไม่เกิน 29 ปีกลับเห็นความสำคัญและคิดว่าเป็นเรื่องที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน
 
         ผศ.ดร.ปารีณา กล่าวต่อว่า กฎหมายเรื่องการลาคลอดของประเทศไทยถือว่ายังต่ำกว่ามาตรฐานที่ทั่วโลกใช้ โดยจากการสำรวจประเทศที่พัฒนาแล้ว 21 ประเทศ (OECD) พบว่ามีประเทศที่ให้สิทธิผู้ชายลาคลอดเพื่อดูแลภรรยาได้นานถึง 3 ปี เช่น ประเทศฝรั่งเศส สเปน แต่จะไม่ได้รับค่าตอบแทนการทำงาน หรือหากต้องจ่ายค่าตอบแทนด้วยจะให้สิทธิลาได้ 45 วัน ส่วนประเทศสวีเดน และนอร์เวย์นั้นนอกจากจะได้สิทธิวันลาแล้วยังได้รับค่าตอบแทนการทำงานด้วย
 


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พม. เล็งขยายสิทธิ สามีลาดูแลภรรยาคลอด ทั้งรัฐวิสาหกิจ-เอกชน อัปเดตล่าสุด 4 ธันวาคม 2555 เวลา 09:23:33 1,238 อ่าน
TOP