สาธารณสุข เผยผลการตรวจผัก-ผลไม้ทั่วประเทศ พบสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ปลอดภัยถึงร้อยละ 3 โดยส่วนใหญ่พบในตลาดสด ผักคะน้า พริกสด ผักกวางตุ้ง ผักบุ้ง กะหล่ำปลี และแตงกวา มากสุด แนะ 3 วิธีล้างให้สะอาด
เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2555 นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดเผยข้อมูลผลการตรวจตัวอย่างอาหาร ของสำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย กระทรวงสาธารณสุข ณ สถานที่ผลิตและจำหน่ายอาหารทั่วประเทศ ในปี 2555 ซึ่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้เก็บตัวอย่างอาหารทั้งหมด 403,637 ตัวอย่าง ผลปรากฏว่า พบอาหารที่มีสารปนเปื้อน เช่น บอแรกซ์ สารฟอกขาว ฟอร์มาลิน สารเร่งเนื้อแดง สารกันรา จุลินทรีย์ก่อโรค เกินค่าความปลอดภัย รวมทั้งสิ้น 26,711 ตัวอย่าง หรือคิดเป็นร้อยละ 6
โดยในจำนวนนี้เป็นอาหารประเภทผักสดและผลไม้ ที่เก็บตัวอย่างจากแหล่งจำหน่ายเช่น ตลาดนัด ซุปเปอร์มาร์เกต ร้านชำ รถเร่ และแหล่งปรุงอาหารเช่น โรงอาหารโรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก รวมทั้งสถานที่ผลิต แหล่งเพาะปลูก ที่พบว่ามีสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชตกค้าง ในปริมาณที่ไม่ปลอดภัยเป็นจำนวน 1,725 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 2.76 จากตัวอย่างที่เก็บตรวจทั้งหมด 62,397 ตัวอย่าง
สำหรับอาหารที่มีสารปนเปื้อนเกินค่าความปลอดภัย ส่วนใหญ่พบในตลาดสด ร้อยละ 63 รองลงมาคือ แผงลอย ร้อยละ 11 ตลาดค้าส่ง ร้อยละ 7 ตลาดนัดร้อยละ 3.4 รถเร่ ร้อยละ 3 ซึ่งผักที่ตรวจพบสารเคมีตกค้างมากที่สุด ได้แก่
1. ผักคะน้า
2. พริกสด
3. ผักกวางตุ้ง
4. ผักบุ้งและกะหล่ำปลี
5. แตงกวา
นายแพทย์ชลน่าน ยังเผยด้วยว่า ในปีงบประมาณ 2556 นี้ กระทรวงสาธารณสุขจะเร่งแก้ไขปัญหาสารปนเปื้อนอันตรายในอาหาร โดยจะให้ทุกจังหวัดเพิ่มความถี่การตรวจเฝ้าระวังความปลอดภัยอาหารที่วางจำหน่ายในตลาดทุกประเภท หากพบสารปนเปื้อนก็จะสาวให้ถึงแหล่งผลิต เพื่อปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาตลาดจำหน่ายอาหารทุกประเภทให้ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะตลาดสด ซึ่งทั่วประเทศมี 1,550 แห่ง โดยจะเร่งพัฒนาให้ได้มาตรฐาน ทั้งในเรื่องความสะอาด การคุ้มครองผู้บริโภค และในด้านความปลอดภัยอาหาร จะต้องไม่พบสารห้ามใช้ปนเปื้อนในอาหาร ส่วนสารกำจัดศัตรูพืชต้องไม่เกินเกณฑ์ความปลอดภัย ซึ่งจากผลการดำเนินงานในปี 2555 มีตลาดสดผ่านเกณฑ์มาตรฐานเป็นตลาดสดน่าซื้อแล้ว 1,328 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 86
พร้อมกันนี้ นายแพทย์ชลน่าน ได้แนะนำว่า การรับประทานผักผลไม้ให้ได้คุณค่าทางอาหารมากที่สุดคือ กินสด โดยกินผักมื้อละ 2 ทัพพี และผลไม้ 1 ส่วน เช่น ส้ม 1-2 ผล เป็นต้น หากซื้อมาแล้วยังไม่รับประทาน ให้ใช้กระดาษห่อแล้วเก็บในตู้เย็น และไม่ควรเก็บไว้หลายวัน เนื่องจากวิตามินต่าง ๆ จะเสื่อมสลายไปเรื่อย ๆ ที่สำคัญคือ ต้องล้างให้สะอาดก่อนรับประทาน
ทั้งนี้ วิธีล้างผักผลไม้ให้สะอาดมั่นใจปลอดภัยจากเชื้อโรค พยาธิ และยาฆ่าแมลง มี 3 วิธี คือ
1. ปล่อยให้น้ำไหลผ่านประมาณ 2 นาที
2. แช่ในน้ำละลายเกลือแกงในอัตราส่วนเกลือ 2 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4 ลิตร
3. แช่ในน้ำที่ผสมน้ำส้มสายชู อัตราส่วนน้ำส้มสายชูครึ่งถ้วยต่อน้ำ 4 ลิตร
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก