อาการปวดยอดอก (ลิ้นปี่) บางครั้งเรียกว่า "อาการอาหารไม่ย่อย (dyspepsia)" เป็นอาการที่พบบ่อยในคนทั่วไป และมักมีสาเหตุจากโรคที่เกี่ยวข้องกับกระเพาะอาหาร (นิยมเรียกว่า "โรคกระเพาะอาหาร" หรือ "โรคกระเพาะ") เช่น กระเพาะอาหารอักเสบ โรคแผลกระเพาะอาหาร/ลำไส้เล็กส่วนต้น โรคกรดไหลย้อน เป็นต้น
สาเหตุเหล่านี้มักจะทำให้ทุเลาได้ด้วยยาลดกรด หรือยารักษาโรคกระเพาะที่ช่วยลดปริมาณน้ำย่อยซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรดในกระเพาะอาหาร ยากลุ่มนี้จึงจัดว่าเป็นยายอดนิยมชนิดหนึ่งที่ประชาชนทั่วไปสามารถหาซื้อมาใช้เอง แต่พึงต้องตระหนักไว้เสมอว่า อาการปวดยอดอกหรือเจ็บกระเพาะนั้นอาจเกิดจากสาเหตุอื่นก็ได้ ถ้ากินยารักษาโรคกระเพาะแล้วไม่ทุเลา หรือเคยทุเลาแต่กลับมาไม่ได้ผล (ดื้อยา) หรือเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง ก็ควรจะปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัดจะดีกว่า (ดู "สาเหตุของอาการปวดยอดอก")
ลองมาดูกรณีตัวอย่างดังต่อไปนี้กันเถอะ
คุณสมหญิง อายุ 35 ปี กินยาคุมกำเนิดมา 10 กว่าปี เคยมีประวัติเป็นโรคกระเพาะ เป็น ๆ หาย ๆ มา 2 ปี คราวนี้มีอาการปวดยอดอกและชายโครงขวามานานกว่าครึ่งชั่วโมง จึงกินยาลดกรดที่เคยใช้มาก่อน แต่ครั้งนี้กินไปแล้วไม่ได้ผล มีอาการปวดรุนแรงกว่าที่เคยเป็น จึงไปหาหมอที่โรงพยาบาล หมอซักถามอาการได้ความว่า คราวนี้มีอาการปวดแปลกกว่าที่เคย เมื่อก่อนจะปวดจุกแน่นท้องตอนหลังกินข้าว แต่ครั้งนี้ปวดแบบบิดเกร็งเป็นพัก ๆ คล้ายปวดแบบท้องเดิน หลังจากไปกินข้าวมันไก่เจ้าอร่อยมา คุณหมอส่งตรวจอัลตราซาวนด์ ก็พบว่าเป็นนิ่วในถุงน้ำดีตามที่สงสัย
โรคแต่ละอย่างแม้จะมีอาการปวดที่ตำแหน่งเดียวกัน แต่จะมีลักษณะอาการปวดแตกต่างกันตามกลไกของการเกิดโรค จึงควรสังเกตลักษณะอาการที่แตกต่างกันนี้ให้ดี จะมีประโยชน์ต่อการวินิจฉัยโรคอย่างมาก
มัวแต่กินยากระเพาะ จนเมื่อน้ำหนักลด...ก็เสียเสียแล้ว
คุณสมศรี อายุ 45 ปีเป็นพยาบาลทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลอำเภอหนึ่ง มีอาการปวดแสบลิ้นปี่ตอนก่อนกินข้าวทุกมื้อ และมักจะทุเลาหลังกินข้าวหรือดื่มนม หรือกินยาลดกรด (น้ำขาว ๆ) ปรึกษาหมอที่ใกล้ชิดก็เห็นตรงกันว่าเป็นโรคกระเพาะอยู่นาน 2 เดือนตามสูตร ก็รู้สึกว่าหายดี แต่หลังจากหยุดยาได้ไม่ถึงสัปดาห์ อาการก็กลับมาอีก จึงกินยาต่อไปเรื่อย ๆ อีก เกือบปีต่อมา คุณสมศรีสังเกตว่ายาไม่ค่อยได้ผล และน้ำหนักลดไป 2-3 กิโลกรัม จึงได้ไปปรึกษาหมอที่โรงพยาบาลจังหวัด หมอทำการส่องกล้องตรวจกระเพาะ ก็พบว่าเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารระยะท้ายเสียแล้ว รักษาตัวอยู่ได้ไม่นานก็เสียชีวิต
มะเร็งในบริเวณช่องท้อง (เช่น มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับ) ในระยะแรกอาจมีอาการคล้ายโรคกระเพาะอย่างแยกไม่ออก บางรายหมอทำการตรวจเบื้องต้น ก็ไม่พบรอยโรค และอาจให้การรักษาแบบโรคกระเพาะนานเกือบปี จนกระทั่งก้อนมะเร็งโตขึ้นชัดเจน หรือทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) จึงค่อยพบเข้า ซึ่งก็มักจะเป็นมะเร็งในระยะท้าย ๆ
ดังนั้น ทางการแพทย์จึงวางแนวทางไว้ว่า เมื่อมีอาการปวดลิ้นปี่ในลักษณะใด หรือถึงเวลาใดควรจะต้องทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม (ดู "บทสรุป")
มาห้องฉุกเฉินได้ยาโรคกระเพาะ...กลับไปตายกลางทาง
คุณลุงสมศักดิ์ อายุ 65 ปี เป็นโรคเบาหวานมา 10 กว่าปี คุมน้ำตาลได้ไม่ดีมาตลอด น้ำหนัก 75 กก. สูบบุหรี่วันละเกือบซอง ไมได้ออกกำลังกาย ตอนหลังยังตรวจพบระดับไขมันในเลือดสูง
ค่ำวันหนึ่งหลังกินอาหารเย็น คุณลุงรู้สึกจุกแน่นลิ้นปี่ ลองกินยาหอมก็ไม่ดีขึ้น เป็นอยู่นานร่วม 2 ชั่วโมง จึงเหมารถไปตรวจที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลประจำอำเภอ หมอตรวจดูเบื้องต้นก็วินิจฉัยว่าเป็นโรคกระเพาะ จ่ายยารักษาโรคกระเพาะให้กลับไปบ้านระหว่างเดินทางกลับ คุณลุงก็เสียชีวิตอย่างกะทันหัน
ที่แท้คุณลุงเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หากตรวจไม่ถี่ถ้วนก็จะคิดว่าเป็นเพียงโรคกระเพาะ ดังนั้น โรงพยาบาลส่วนใหญ่จึงได้วางแนวทางในการรักษาอาการปวดลิ้นปี่/เจ็บหน้าอกไว้ว่า ควรตรวจหาโรคหัวใจในกรณีใดบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น กรณีคุณลุงสมศักดิ์มีปัจจัยเสี่ยงถึง 6 อย่าง ได้แก่ อายุมากกว่า 55 ปี น้ำหนักตัวเกิน โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่ และขาดการออกกำลังกาย (ดูเรื่อง "ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ")
โทร.ทางไกลปรึกษาเรื่องโรคกระเพาะ...ลงเอยด้วยการทำบอลลูนหัวใจ
ค่ำวันหนึ่งเมื่อเกือบ 10 ปีมาแล้ว ผมได้รับโทรศัพท์จากคุณสมชัย เพื่อนรุ่นพี่ที่ไปทำงานอยู่ที่พัทยา คุณสมชัย (อายุ 58 ปีในตอนนั้น) รักษาโรคความดันมาเกือบ 20 ปี สูบบุหรี่วันละครึ่งซอง เขาบอกว่า 2-3 วันมานี้รู้สึกมีอาการจุกแน่นตรงลิ้นปี่เป็นบางครั้ง มักเป็นหลังกินอาหารอิ่ม ๆ แต่ละครั้งจะเป็นอยู่นานชั่วครู่เดียว ก็ทุเลาไปเอง ผมถามย้ำว่ามีอาการปวดร้าวขึ้นไปที่คอ หัวไหล่ ขากรรไกรร่วมด้วยหรือไม่ เขาก็ยืนยันว่าไม่มี
เมื่อดูถึงปัจจัยเสี่ยง (อายุเกิน 55 ปี เป็นโรคความดันสูง สูบบุหรี่ รวมทั้งไม่ค่อยได้ออกกำลังและน้ำหนักมากตามที่ผมทราบอยู่แล้ว) แม้อาการโรคหัวใจมีไม่ครบเครื่อง คือ ไม่มีอาการปวดร้าวขึ้นข้างบน (ซึ่งอาจพบในผู้ป่วยบางรายได้) ผมก็ยังไม่วางใจ จึงแนะนำให้เขาไปตรวจหัวใจที่โรงพยาบาล จากการตรวจคลื่นหัวใจและทดสอบด้วยการวิ่งสายพาน ก็พบว่าเป็นโรคหัวใจขาดเลือด และได้ทำบอลลูนหลอดเลือดหัวใจ 2 เส้น พร้อมกับใส่สะเตนต์ (stent-หลอดลวดตาข่ายถ่างอยู่ภายในหลอดเลือด) 2 เส้น ราคาเส้นละ 1 แสนบาท
หลังจากนั้นเพื่อนรุ่นพี่คนนี้ของผมก็เลิกบุหรี่ ออกกำลัง และรักษาตัวอย่างจริงจัง มีสุขภาพแข็งแรงมาจนทุกวันนี้
บทสรุป
เมื่อไรควรคิดถึงเหตุอื่นมากกว่าโรคกระเพาะ
ผู้ที่มีอาการปวดยอดอก (ลิ้นปี่) ควรคิดถึงโรคอื่นมากกว่าโรคกระเพาะ เมื่อมีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
มีอาการปวดต่อเนื่องนานเป็นชั่วโมง ๆ หรือเป็นวัน ๆ ไม่ยอมหาย
มีอาการปวดรุนแรง
มีอาการปวดร้าวขึ้นไปที่คอ หัวไหล่ หรือขากรรไกร
รู้สึกใจหวิว ใจสั่น หน้ามืด เป็นลม
อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร
น้ำหนักลด
อาเจียนเป็นเลือด หรือ ถ่ายอุจจาระดำ
คลำได้ก้อนในท้อง
มีลักษณะปวดบิดเกร็งเป็นพัก ๆ
กินยารักษากระเพาะไม่ได้ผล หรือได้ผลตอนแรกแต่ตอนหลังไม่ได้ผล
เมื่อไรควรส่องกล้องตรวจกระเพาะ
ทางการแพทย์ได้วางแนวทางไว้ว่า ผู้ที่มีอาการของโรคกระเพาะ (แสบท้องเวลาหิว หรือจุกแน่นท้องเวลาอิ่ม เกือบทุกมื้อ) ควรปรึกษาแพทย์เพื่อส่องกล้องตรวจกระเพาะ เมื่อมีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
อายุมากกว่า 40 ปี (เพราะมีโอกาสเสี่ยงต่อเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร)
กินยารักษาโรคกระเพาะ 1-2 วันแล้วไม่ได้ผลเลย
กินยารักษาโรคกระเพาะ 2 สัปดาห์แล้วยังไม่หายดี ขาดยาเพียง 1-2 มื้อกลับกำเริบอีก
กินยารักษาโรคกระเพาะจนครบ 2 เดือน จนรู้สึกว่าหายดีแล้ว หลังจากหยุดยานานเป็นแรมเดือน หรือแรมปีกลับมามีอาการกำเริบอีก
สาเหตุของอาการปวดยอดอก (ลิ้นปี่)
กลุ่มโรคฉุกเฉินที่ต้องรีบเข้ารักษาโรงพยาบาลที่สำคัญ ได้แก่
1.โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (acute myocardial infarction) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเค้นหรือจุกแน่นตรงบริเวณยอดอก (ตรงกลางลิ้นปี่) มักมีอาการปวดร้าวขึ้นไปที่คอ หัวไหล่ ขากรรไกร อาการมักรุนแรงหรือปวดอย่างต่อเนื่องไม่หาย (นานเป็นชั่วโมง ๆ หรือเป็นวัน ๆ ) มีอาการอ่อนเปลี้ย หมดแรง ใจหวิว ใจสั่น และอาจมีอาการหน้ามืด เป็นลม หรือหัวใจวายกะทันหัน
2.โรคกระเพาะอาหารทะลุ (peptic perforation) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดจุกแน่นตรงลิ้นปี่ฉับพลัน และเป็นต่อเนื่องไม่หาย (นานเป็นชั่วโมง ๆ หรือเป็นวัน ๆ) มักมีอาการใจหวิว ใจสั่น หน้ามืดเป็นลม หน้าท้องเกร็งแข็ง
กลุ่มโรคไม่ฉุกเฉิน ที่พบบ่อย ได้แก่
1.โรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะ (angina pectoris) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเค้นหรือจุกแน่นหน้าอกตรงบริเวณยอดอก (ลิ้นปี่) มักมีอาการปวดร้าวขึ้นไปที่คอ หัวไหล่ ขากรรไกร มักมีอาการเจ็บหน้าอกเพียงครู่เดียว นานไม่เกิน 5 นาที นั่งพักก็จะทุเลาได้เอง
2.โรคแผลกระเพาะอาหาร / ลำไส้เล็กส่วนต้น (peptic ulcer) ผู้ป่วยจะมีอาการแสบลิ้นปี่เวลาหิว จุกแน่นลิ้นปี่หลังกินอาหารนาน ประมาณ 30-60 นาที เวลากินยาลดกรด (ยารักษาโรคกระเพาะ) อาการจะทุเลา มักมีอาการเวลาก่อนหรือหลังเกือบทุกมื้อ
3.โรคกรดไหลย้อน (GERD) ผู้ป่วยจะมีอาการแสบหรือจุกแน่นลิ้นปี่ อาจมีอาการเรอเปรี้ยวขึ้นไปที่ลำคอ แสบหรือจุกแน่นที่ลำคอ มักเป็นหลังกินอาหารหรือเวลาเข้านอน เวลากินยาลดกรด (ยารักษาโรคกระเพาะ) อาการจะทุเลา
4.โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร (cancer of stomach) แรกเริ่มจะมีอาการแบบโรคกระเพาะอาหาร แต่อีกหลายเดือนต่อมาอาการอ่อนเพลีย น้ำหนักลด อาจมีอาการอาเจียน อาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายอุจจาระดำ
5.โรคนิ่วน้ำดี หรือนิ่วในถุงน้ำดี (gallstone) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตรงลิ้นปี่หรือใต้ชายโครงข้างขวา มีลักษณะปวดบิดเกร็งเป็นพัก ๆ (ปวดในลักษณะคล้ายอาการปวดท้องเดินหรือปวดประจำเดือน) นาน 15-30 นาที หรือนาน 2-6 ชั่วโมง แล้วทุเลาไปได้เอง บางรายอาจมีอาการปวดร้าวขึ้นไปที่ไหล่ขวา หรือใต้สะบักขวา อาจมีอาการอาเจียนร่วมด้วย ผู้ป่วยจะมีอาการกำเริบเป็นบางวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังกินอาหารมัน
6.โรคตับ : ตับอักเสบ (hepatitis) ตับแข็ง (cirrhosis) มะเร็งตับ (cancer of liver/hepatoma) ผู้ป่วยมักมีอาการจุกแน่นตรงลิ้นปี่หรือใต้ชายโครง เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย อาจมีอาการตาเหลืองตัวเหลืองร่วมด้วย ถ้าเป็นมะเร็งตับมักมีอาการน้ำหนักลดฮวบฮาบ และคล้ำได้ก้อนที่ใต้ชายโครงขวา
ปัจจัยที่แก้ไขไม่ได้
อายุ : ชายมากกว่า 55 ปี หญิงมากกว่า 65 ปี
พันธุกรรม : มีญาติสายตรงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (ชายอายุน้อยกว่า 55 ปี หญิงอายุน้อยกว่า 65 ปี)
ปัจจัยที่แก้ไขได้
เบาหวาน
ความดันโลหิตสูง
ไขมันในเลือดสูง
ภาวะอ้วน
สูบบุหรี่
ขาดการออกกำลัง
อาการแสดงของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
ปวดเค้นหรือจุกแน่นตรงยอดอก (ตรงกลางลิ้นปี่) และมักปวดร้าวขึ้นไปที่คอ หัวไหล่ ขากรรไกร แต่บางรายอาจไม่มีอาการปวดร้าวแบบนี้ก็ได้
มักมีเหตุกำเริบ ขณะทำกิจกรรมที่ต้องออกแรง (เช่น ยกของหนัก เดินขึ้นบันไดสูงหลายชั้น ออกกำลังหนัก) มีอารมณ์เครียด ขณะสูบบุหรี่ หลังกินอาหารอิ่ม ๆ อาบน้ำเย็น หรือถูกความเย็น
ถ้าเป็นโรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะ
ผู้ป่วยมักมีอาการเจ็บหน้าอกเพียงครู่เดียว นานไม่เกิน 5 นาที เมื่อนั่งพักก็จะทุเลาได้เอง มักเป็น ๆ หาย ๆ เป็นครั้งคราว ขณะไม่มีอาการกำเริบ ผู้ป่วยจะรู้สึกสบายดี
ถ้าเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรงหรือปวดอย่างต่อเนื่องไม่หาย มีอาการอ่อนเปลี้ย หมดแรงใจหวิวใจสั่น และอาจหน้ามืด เป็นลม หรือหัวใจวายกะทันหันเกิน 5 นาที เป็น ๆ หาย ๆ เมื่อมีเหตุกำเริบ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก