แอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม (Asperger's Syndrome) อาการเป็นแบบไหน จะรู้ได้อย่างไรว่าใครป่วย ?

          แอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม อาการนี้คืออะไร จะรู้ได้อย่างไรว่าใครป่วยด้วยโรคนี้ พร้อมสังเกตความแตกต่างจากอาการออทิสติก
 
แอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม

          ถ้าได้ติดตามข่าวต่างประเทศอยู่บ้าง น่าจะเคยได้ยินข่าวผู้ป่วยด้วยอาการ "แอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม" (Asperger\'s Syndrome) บางรายอาจก่อเหตุรุนแรง ซึ่งก็ทำให้หลายคนสงสัยและสนใจว่า "แอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม" คือโรคอะไร...  

          แอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม (Asperger\'s Syndrome) เป็นโรคที่อยู่ในกลุ่มอาการที่ระบบประสาททางผิดปกติ จัดอยู่ในกลุ่มออทิสติก โรคนี้ถูกรายงานครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1940 โดยคุณหมอฮานส์ แอสเพอร์เกอร์ (Hans Asperger) กุมารแพทย์ชาวออสเตรีย ที่พบว่าคนไข้ของเขาซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กผู้ชายมีความเฉลียวฉลาด สติปัญญาอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่กลับมีปัญหาเรื่องทักษะการเข้าสังคม มีพฤติกรรมหมกมุ่น ชอบทำอะไรซ้ำ ๆ ซาก ๆ ไม่รู้จะอยู่ร่วมกับคนอื่นอย่างไร ทั้งที่เขาสามารถพูดคุยสื่อสารกับคนทั่วไปได้ปกติ

           แล้วเชื่อไหมว่า เมื่อปี พ.ศ. 2548 สถาบันวิจัยของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เคยรายงานว่า "อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์"และ "เซอร์ไอแซค นิวตัน" 2 นักวิทยาศาสตร์ชื่อดังระดับโลก อาจป่วยเป็นโรคแอสเพอร์เกอร์นี้ด้วย เพราะอัจฉริยะทั้ง 2 คนมีพฤติกรรมหลายอย่างที่เข้าข่ายอาการนี้ ทั้งการเป็นคนเก็บตัว ไม่สุงสิงกับใคร และพูดกับคนอื่นไม่ค่อยรู้เรื่อง

           ปัจจุบันพบอัตราผู้ป่วยโรคแอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม รวมกับโรคออทิสติก และโรคเกี่ยวกับความผิดปกติทางประสาทอื่น ๆ หรือ ความบกพร่องของพัฒนาการแบบรอบด้าน (PDDs - Pervasive Developmental Disorder) ทั่วโลกประมาณ 1:1,000 ซึ่งถือว่ามีแนวโน้มสูงขึ้น
 
แอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม


แอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม เกิดจากสาเหตุอะไร

           โรคแอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม เกิดจากการทำงานของสมองบางตำแหน่งผิดปกติ แต่ยังบอกไม่ได้ว่าสาเหตุที่ทำให้สมองทำงานผิดปกติเป็นเพราะอะไร แม้ว่าจะมีงานวิจัยออกมาหลายชิ้น แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจน ทั้งนี้ ปัจจุบันผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า น่าจะเกิดความบกพร่องของสารพันธุกรรม ซึ่งความผิดปกติทางพันธุกรรมก็ยังบอกไม่ได้อีกเหมือนกันว่าเกิดจากการถ่ายทอดจากรุ่นต่อรุ่นค่อย ๆ สะสมความผิดปกติมาจนแสดงออกในรุ่นหนึ่ง หรือว่าเป็นการกลายพันธุ์ของยีน ซึ่งยังต้องศึกษาวิจัยอีกระยะหนึ่ง ขณะที่อีกความเชื่อหนึ่งก็คือ น่าจะเกิดจากสิ่งแวดล้อม แต่ก็ยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัด

สังเกตพฤติกรรมเด็กแอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม


           ทางการแพทย์ระบุว่าเด็กที่เป็นโรคแอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม จะเริ่มแสดงอาการออกมาตั้งแต่อายุ 3 ขวบ แต่อาการจะมาเด่นชัดเมื่ออายุระหว่าง 5-9 ขวบ ซึ่งโรคนี้ไม่ได้แสดงออกกับรูปร่าง หน้าตา แต่จะแสดงออกมาให้เห็นจากพฤติกรรม ซึ่งจำแนกออกเป็น 3 ด้าน คือ

1. ด้านภาษา


          - เด็กที่ป่วยโรคนี้สามารถใช้ภาษาสื่อสารกับคนได้รู้เรื่องเหมือนเด็กปกติ แต่จะมีปัญหาไม่เข้าใจกับเรื่องที่จะพูด โดยเฉพาะคำพูดที่กำกวม มุกตลก คำเปรียบเปรย คำประชดประชัน เสียดสี เขาจะไม่เข้าใจ

          - มักจะพูดเรื่องของตัวเองมากกว่าเรื่องอื่น ๆ ชอบพูดเรื่องซ้ำ ๆ เรื่องเดิม ๆ ด้วยคำพูดเหมือนเดิม

          - มีปัญหาเมื่อต้องใช้ทักษะการอ่าน คณิตศาสตร์ หรือการเขียน

          - ไม่รู้จักการทักทาย อยากถามอะไรก็จะโพล่งออกมาเลย จะถามเรื่องที่สนใจโดยไม่เสียเวลา และไม่มีเกริ่นนำ ที่มาที่ไป
 
2. ด้านสังคม

          - ไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ชอบแยกตัวอยู่คนเดียว ไม่สนใจบุคคลรอบข้าง

          - เข้ากับเด็กอื่น หรือคนอื่นไม่ค่อยได้

          - มีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบกับคนอื่นอย่างไม่เหมาะสมกับวัย ไม่รู้จักกาลเทศะ ไม่มีมารยาท

          - เวลาพูดคุยจะไม่ค่อยมองหน้า ไม่ยอมสบตา

          - ไม่แสดงความอยากเข้าร่วมสนุก ร่วมทำสิ่งที่สนใจ หรือร่วมงานให้เกิดความสำเร็จกับคนอื่น ๆ

          - ไม่มีอารมณ์หรือสัมพันธภาพตอบสนองกับสังคม

          - บางรายมีพฤติกรรมสุดโต่ง และมีความอ่อนไหวมาก
 
3. ด้านพฤติกรรม

          - ชอบทำอะไรซ้ำ ๆ หมกมุ่น สนใจมากกับเรื่องที่เขาชอบ โดยเฉพาะกับเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อน อย่างเช่น แผนที่โลก วงจรไฟฟ้า ยี่ห้อรถยนต์ โลโก้สินค้า ดนตรีคลาสสิก ไดโนเสาร์ ระบบสุริยจักรวาล ธงชาติประเทศต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งหากเด็กกลุ่มนี้สนใจในเรื่องใดแล้วจะรู้ลึก รู้จริง และมีความสามารถสูงมาก

          - เปลี่ยนความสนใจได้ง่าย ในบางรายมีความไวต่อสิ่งเร้าที่มาจากภายนอกค่อนข้างมากกว่าคนทั่วไป สมาธิสั้น

          - ท่วงท่าการเดิน การเคลื่อนไหวของร่างกายดูงุ่มง่าม หรือไม่คล่องตัว

          - อาจพูดหรือมีพฤติกรรมบางอย่างไม่เหมาะสม เช่น กินข้าวร้านนี้แล้วมันไม่อร่อย เวลาเดินผ่านเด็กที่เป็นโรคนี้ก็อาจจะพูดดัง ๆ ขึ้นมาตรงนั้นเลยว่า "ข้าวร้านนี้ไม่อร่อย"

แอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม

แอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม VS ออทิสติก ต่างกันอย่างไร

          อย่างที่ข้างต้นบอกไปแล้วว่า แอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม เป็นอาการที่จัดอยู่ในกลุ่มออทิสติก แต่ผู้ป่วยโรคนี้ก็ไม่ได้มีอาการเหมือนกับออทิสติกเสียทีเดียว เพราะมีทั้งลักษณะบางอย่างที่คล้ายคลึงกัน และแตกต่างกัน ดังนี้


 
          จากข้อแตกต่างข้างบนจะเห็นได้ชัดว่า ความแตกต่างของทั้ง 2 อาการนี้อยู่ที่เรื่องของ "การใช้ภาษา" ที่เด็กแอสเพอร์เกอร์สามารถพูดคุยสื่อสารได้เหมือนคนปกติ ขณะที่เด็กออทิสติกมีปัญหาในเรื่องนี้ รวมทั้งปัญหาทางด้านสติปัญญาที่เด็กแอสเพอร์เกอร์มีสติปัญญาในระดับปกติ หรืออาจจะสูงกว่าปกติด้วยซ้ำ แต่เด็กออทิสติกจะมีระดับสติปัญญาต่ำกว่าปกติ

จะรู้ได้อย่างไรว่า ลูกเราเป็นแอสเพอร์เกอร์

          นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต ให้ข้อมูลว่า เด็กที่เป็นแอสเพอร์เกอร์จะเป็นมาตั้งแต่เกิด แต่ช่วงยังเล็ก ๆ จะดูยากมาก เพราะลักษณะภายนอกดูปกติ ไม่มีอะไรบ่งชี้เลยว่าจะมีปัญหา ข้อที่ชวนสงสัย คือ สังเกตว่าเด็กไม่ค่อยตอบสนอง เวลาอุ้มจะไม่อยากให้อุ้ม ไม่ค่อยโต้ตอบ ไม่สบตา ไม่ยิ้มตอบหรือแสดงท่าทีดีใจเวลามีคนเล่นด้วย มีพฤติกรรมบางอย่างที่แตกต่างจากเด็กคนอื่น

          สำหรับพ่อแม่ สิ่งที่ยากในการสังเกตก็คือ ถ้าไม่เคยมีลูกมาก่อนหรือไม่คุ้นเคยกับโรคจะไม่รู้ถึงความแตกต่าง หรือแยกความแตกต่างได้ค่อนข้างยาก เพราะมีจุดเหลื่อมที่แตกต่างกัน และไม่มีเส้นแบ่งชัดเจนระหว่างแอสเพอร์เกอร์กับคนปกติที่มีปัญหาเรื่องบุคลิกภาพบางอย่างไม่เหมาะสม หรือว่าบางรายที่เป็นแอสเพอร์เกอร์กับออทิสติกที่มีปัญหาเรื่องบุคลิกบางอย่างไม่เหมาะสม หรือว่าบางรายที่เป็นแอสเพอร์เกอร์กับออทิสติกที่มีความสามารถสูงก็ยังแยก ยาก

          การพาเด็กมาพบหมอมักจะมาก็ต่อเมื่อเกิดปัญหามากแล้ว ดังนั้นแค่เริ่มสงสัยก็สามารถมาตรวจประเมินได้ ซึ่งหมอจะพิจารณาประวัติทุกด้าน ตั้งแต่เด็กยังเล็ก ๆ และสังเกตพฤติกรรมบางอย่างประกอบกัน ดูว่าเข้าเกณฑ์ของแอสเพอร์เกอร์หรือเปล่า ถ้าใช่ก็ต้องช่วยเหลือให้เร็วที่สุด อย่ากลัวที่จะรู้ว่าลูกเป็นอะไร เพราะการที่ลูกเสียโอกาสที่จะได้รับการช่วยเหลืออย่างเหมาะสมเป็นสิ่งที่น่ากลัวกว่า

          เบื้องต้นจิตแพทย์จะประเมินดูก่อนว่าเด็กควรจะต้องตรวจเพิ่มเติมอะไร และไปฝึกกับใครบ้าง เช่น พาไปพบนักกิจกรรมบำบัดเพื่อฝึกสมาธิ ฝึกทักษะสังคม ฝึกพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อและการเคลื่อนไหว หรือไปพบกับนักจิตวิทยาเพื่อปรับพฤติกรรม กระตุ้นพัฒนาการหรือทำทั้งสองอย่าง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กเป็นสำคัญ

          เด็กบางคนอาจมีปัญหาสมาธิสั้นร่วม ซึ่งสมาธิสั้นจะพบร่วมได้ในหลาย ๆ โรค ถ้าเป็นสมาธิสั้นอย่างเดียวไม่มีโรคอื่น เราเรียกว่าเป็นโรคสมาธิสั้น ถ้าสมาธิสั้นร่วมกับออทิสติกหรือแอสเพอร์เกอร์ ก็เรียกตามโรคหลักของเด็ก เด็กเป็นแอสเพอร์เกอร์เกือบครึ่งจะมีปัญหาสมาธิสั้น

แอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม

หลักเกณฑ์ในการวินิจฉัยโรคแอสเพอร์เกอร์

          นพ.ทวีศักดิ์ ผู้ซึ่งใกล้ชิดผู้ป่วยโรคแอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม ให้ข้อมูลว่า ตามคู่มือการวินิจฉัยโรค DSM-IV โดยสมาคมจิตแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา (The American Psychiatric Association\'s Diagnostic and Statistic Manual of Mental Disorder - Forth Edition, 1994) ได้จัดหลักเกณฑ์ในการวินิจฉัยโรคแอสเพอร์เกอร์ ไว้ดังนี้

          A. มีคุณลักษณะในการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่ผิดปกติ โดยแสดงออกอย่างน้อย 2 ข้อต่อไปนี้


            1. บกพร่องอย่างชัดเจนในการใช้ท่าทางหลายอย่าง (เช่น การสบตา การแสดงสีหน้า กิริยา หรือท่าทางประกอบการเข้าสังคม)

            2. ไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนในระดับที่เหมาะสมกับอายุได้

            3. ไม่แสดงความอยากเข้าร่วมสนุก ร่วมทำสิ่งที่สนใจ หรือร่วมงานให้เกิดความสำเร็จกับคนอื่น ๆ (เช่น ไม่แสดงออก ไม่เสนอความเห็น หรือไม่ชี้ว่าตนสนใจอะไร)

            4. ไม่มีอารมณ์ หรือสัมพันธภาพตอบสนองกับสังคม

          B. มีพฤติกรรม ความสนใจ หรือกิจกรรมที่จำกัด ซ้ำ ๆ เป็นแบบแผน โดยแสดงออกอย่างน้อย 1 ข้อ ต่อไปนี้

            1. หมกมุ่นกับพฤติกรรมซ้ำ ๆ (Stereotyped) ตั้งแต่ 1 อย่างขึ้นไป และความสนใจในสิ่งต่าง ๆ มีจำกัด ซึ่งเป็นภาวะที่ผิดปกติทั้งในแง่ของความรุนแรงหรือสิ่งที่สนใจ

            2. ติดกับกิจวัตร หรือย้ำทำกับบางสิ่งบางอย่างที่ไม่มีประโยชน์โดยไม่ยืดหยุ่น

            3. ทำกิริยาซ้ำ ๆ (Mannerism) (เช่น เล่นสะบัดมือ หมุน โยกตัว)

            4. สนใจหมกมุ่นกับเพียงบางส่วนของวัตถุ

          C. ความผิดปกตินี้ก่อให้กิจกรรมด้านสังคม การงาน หรือด้านอื่น ๆ ที่สำคัญ บกพร่องอย่างมีความสำคัญทางการแพทย์

          D. ไม่พบพัฒนาการทางภาษาที่ล่าช้า อย่างมีความสำคัญทางการแพทย์

          E. ไม่พบพัฒนาการทางความคิดที่ช้าอย่างมีความสำคัญทางการแพทย์ หรือมีความสามารถในการช่วยเหลือตนเอง พฤติกรรมการปรับตัว และมีความอยากรู้เห็นในสิ่งรอบตัวในช่วงวัยเด็ก

          F. ความผิดปกติไม่เข้ากับ พีดีดี ความบกพร่องของพัฒนาการแบบรอบด้านชนิดเฉพาะอื่น หรือโรคจิตเภท (Schizophrenia)

ปัญหาของเด็กป่วยแอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม


          แม้ว่าเด็กที่ป่วยโรคนี้จะสามารถสื่อสารกับคนทั่วไปได้ สามารถช่วยเหลือตัวเองในสิ่งที่ต้องทำในชีวิตประจำวันได้ และอาจเป็นคนที่มีสติปัญญาดี แต่หลายคนก็มีปัญหาไม่สามารถมีสมาธิใจจดใจจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นานนัก รวมทั้งยังมีปัญหาเรื่องการจัดลำดับเรื่องราวต่าง ๆ ซึ่งอาจทำให้คนรอบข้างไม่เข้าใจ โดยเฉพาะพฤติกรรมบางอย่างของเขาที่ทำออกมาโดยไม่รู้จักกาลเทศะ ก็อาจส่งผลให้พ่อแม่ถูกคนรอบข้างมองได้ว่าไม่รู้จักสั่งสอนลูก ทั้งที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ก็พยายามสอน แต่ปัญหาอยู่ที่ตัวเด็กที่ทำอย่างไรเขาก็ไม่เข้าใจ

          ขณะเดียวกัน เด็กกลุ่มนี้จะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการเรียน ส่วนใหญ่เป็นเด็กสมองดี ถ้าไม่มีปัญหาอะไรที่ขัดขวางการเรียนตั้งแต่แรก เช่น ไม่มีปัญหาเรื่องสมาธิสั้น หรือไม่มีเรื่องของพฤติกรรมรุนแรง หลายคนก็สามารถเรียนได้ และเรียนเก่งด้วย

          แต่ถึงการเรียนจะไม่มีปัญหาแต่จะมีปัญหาคือการเข้ากับเพื่อน เด็กจะเล่นกับเพื่อนไม่เป็น เล่นแรงบ้าง เล่นไม่เหมาะสมบ้าง ไม่เล่นตามกติกา ฉะนั้นก็จะถูกปฏิเสธจากเพื่อน ปัญหาที่ตามมาคือ พอจะเล่นกับเพื่อนแล้วถูกปฏิเสธเขาก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร เขาจะหาวิธีการเล่นที่แหวกแนวยิ่งขึ้น ถ้าเป็นการเล่นที่ไม่รบกวนคนอื่นก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้ารบกวนคนอื่น หรือทำให้คนอื่นเดือดร้อนก็อาจจะกลายเป็นปัญหารุนแรงได้

แอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม

พ่อแม่ควรตั้งรับอย่างไร หากลูกเป็นแอสเพอร์เกอร์

          เรื่องนี้ นพ.ทวีศักดิ์ ให้คำแนะนำไว้ว่า ขั้นแรกคุณพ่อคุณแม่ต้องทำความเข้าใจกับปัญหาก่อนว่า เกิดจากสาเหตุอะไร แล้วก็ยอมรับว่า สิ่งที่ลูกเป็นนั้นสามารถแก้ไขให้ดีขึ้นได้ เพราะมีการวิจัยหลายชิ้นที่ยืนยันชัดเจนว่า เด็กที่เข้ากระบวนการดูแลช่วยเหลืออย่างเหมาะสมกับเด็กที่ไม่ได้เข้าสู่ กระบวนการมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ทั้งแง่ของการพัฒนาทางด้านสังคม หรือการเรียน เพราะเด็กที่ได้รับการช่วยเหลือเขาสามารถเรียนรู้และพัฒนาเรียนจบถึง มหาวิทยาลัย หรือสูงกว่า ดังนั้นเราต้องเชื่อมั่นด้วยว่าเป็นปัญหาที่จัดการได้ และถ้าพ่อแม่ไม่ทำอะไรปล่อยทิ้งไว้เฉย ๆ ก็ยิ่งเป็นปัญหาสะสม

          ในการสอนบางอย่างต้องใช้เทคนิคเข้าช่วย ซึ่งจะมีเทคนิคเฉพาะในการสอน พ่อแม่ก็ต้องเรียนรู้เทคนิคนั้น ส่วนจะเป็นเทคนิคอะไรก็ต้องดูเด็กเป็นหลัก ดูว่าในสถานการณ์แต่ละแบบจะต้องใช้เทคนิคไหน ซึ่งพ่อแม่ต้องมีเทคนิคหลากหลายเหมือนกัน

คนป่วยแอสเพอร์เกอร์มีแนวโน้มก่อความรุนแรงหรือไม่

          เคยมีกรณีผู้ป่วยแอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม กราดยิงเด็กนักเรียนที่สหรัฐอเมริกา ทำให้คนหวาดกลัวกันว่า ผู้ป่วยโรคนี้จะมีแนวโน้มก่อความรุนแรงเป็นภัยต่อสังคมมากน้อยแค่ไหน ซึ่ง นพ.ดุสิต ลิขนะพิชิตกุล จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น กรมสุขภาพจิต ให้ความรู้ว่า ความเสี่ยงที่คนเป็นโรคนี้จะไปทำร้ายคนอื่นมีน้อยมาก ส่วนมากจะถูกคนอื่นทำร้ายมากกว่า เพราะโรคไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยก้าวร้าว แต่ความก้าวร้าวจะเกิดขึ้นหากมีอาการป่วยซ้ำซ้อนกับโรคอื่น หรือถูกคนสั่งสอนมาแบบผิด ๆ ตั้งแต่เด็ก ดังนั้น พ่อแม่ควรจะสอนให้ลูกอย่าใช้ความรุนแรง สอนให้รู้จักคิดบวก หมั่นดูแลเอาใจใส่มาก ๆ

          ขณะที่ พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผอ.สำนักพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต ให้คำแนะนำว่า คนใกล้ชิดต้องหมั่นสังเกตว่าผู้ป่วยมีความก้าวร้าวเกิดขึ้นหรือไม่ ซึ่งหากเขาไม่เข้าใจเรื่องจัดการอารมณ์ที่ก้าวร้าว หมกมุ่นกับความรุนแรง และคนรอบข้างไม่สนใจเอาใจใส่ก็อาจนำไปสู่การก่อเหตุได้ 

แอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม

จะรักษาโรคแอสเพอร์เกอร์อย่างไรดี

          อย่างที่ทราบกันว่าโรคนี้เกิดจากอะไรนั้นยังไม่ทราบสาเหตุ จึงยังไม่มีวิธีการรักษาเฉพาะเจาะจงเพื่อให้หายขาดได้ แต่สามารถทำได้โดยบำบัดตามอาการ ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองก็มีส่วนสำคัญที่จะช่วยทำให้โรคนี้มีอาการน้อยลงได้ โดยเฉพาะในเรื่องทักษะการดูแลตัวเองในชีวิตประจำวัน พัฒนาการทางสังคม หากฝึกฝนอย่างต่อเนื่องก็จะพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น ช่วยให้เด็กเรียนรู้ และใช้ชีวิตอยู่ร่วมในสังคมได้ตามปกติ โดยใช้แนวทางเดียวกับการดูแลรักษาผู้ที่เป็นออทิสติก เน้นแก้ไขในด้านที่เป็นปัญหา ควบคู่ไปกับการส่งเสริมในด้านที่เป็นความสามารถของเด็กเป็นสำคัญ

          อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องการพูดจาไม่เหมาะสม บุคลิกภาพ การเข้ากับเพื่อนนั้นอาจยังเป็นปัญหาที่หลงเหลืออยู่เมื่อเด็กเติบโตขึ้น ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าสถานที่ที่เขาไปอยู่นั้นเป็นอย่างไร ยอมรับในตัวเขาหรือไม่ หากได้รับการยอมรับและคนรอบข้างเข้าใจก็อาจไม่มีปัญหา

ดูแลช่วยเหลืออย่างไร เมื่อเด็กป่วยเป็นแอสเพอร์เกอร์

          ครอบครัวถือเป็นคนสำคัญที่จะช่วยเหลือดูแลเด็กเหล่านี้ได้ รวมทั้งคนในสังคมก็มีส่วนช่วยพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ ให้เด็กได้เช่นกัน ซึ่งสิ่งสำคัญคือการให้ความรัก และความเข้าใจ โดยมีวิธีการเบื้องต้นดังต่อไปนี้

          1. สนทนากับเด็กด้วยคำง่าย ๆ ชัดเจน หากจะยกตัวอย่างก็ควรยกให้เห็นในรูปของสิ่งของ สถานการณ์จริงหรือรูปภาพ เพื่อความเข้าใจ และจะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ได้เร็ว

          2. เล่นกับเด็กโดยเอาความสนใจของเด็กเป็นที่ตั้ง แล้วค่อย ๆ  ขยายความสนใจไปในมุมอื่น ๆ เพื่อแบ่งความสนใจและอารมณ์ซึ่งกันและกัน

          3. ในด้านการเรียนควรจัดเป็นกลุ่มเล็ก ๆ เพื่อให้เด็กได้คุ้นเคยกับกฎระเบียบก่อนจะให้เด็กเข้าในกลุ่มใหญ่

          4. สร้างบรรยากาศสบาย ๆ ไม่เครียด ให้ความอบอุ่นและเป็นกันเองกับเด็ก

          5. ต้องมีความสม่ำเสมอในการใช้คำสั่งกับเด็ก ต้องคงเส้นคงวา อย่าเปลี่ยนแปลงคำสั่งบ่อย ๆ

          6. สนับสนุนให้เด็กเข้าร่วมกิจกรรมอื่น ๆ และหลากหลาย เพื่อให้เด็กได้ปรับตัวใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ อีกทั้งยังช่วยหลีกหนีความจำเจซ้ำซาก

          เห็นได้ว่า แอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม ไม่ใช่โรคที่น่ากลัวอย่างที่คิด ซึ่งจุดเริ่มต้นขึ้นอยู่กับพื้นฐานทางครอบครัวเป็นสำคัญ หากพ่อแม่คนใกล้ชิดหมั่นเอาใจใส่ดูแลลูก ช่วยกันพัฒนาทักษะทางสังคมให้ลูกเข้ากับผู้อื่นได้ ผู้ป่วยโรคนี้ก็ยังสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างสงบสุขเหมือนคนทั่วไป
 

ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

ขอบคุณข้อมูลจาก
คมชัดลึก, RAMA Channel, โรงพยาบาลมนารมย์, webmd


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม (Asperger's Syndrome) อาการเป็นแบบไหน จะรู้ได้อย่างไรว่าใครป่วย ? อัปเดตล่าสุด 2 กรกฎาคม 2563 เวลา 12:24:29 102,072 อ่าน
TOP
x close