เส้นเลือดขอดที่ขา โรคควรระวังของคนยืนหรือนั่งนาน ๆ

          มาไขข้อข้องใจว่าเส้นเลือดขอดเกิดจากอะไรกันแน่ แล้วอาการนี้อันตรายไหม หากอยากรักษาควรทำยังไงให้หายดี

เส้นเลือดขอดที่ขา

          เส้นเลือดขอดเป็นอาการที่เราได้ยินกันมานาน และเห็นกันบ่อยมาก ๆ โดยเฉพาะเส้นเลือดขอดที่ขาของคุณผู้หญิง หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ หรือคนที่ยืนทั้งวัน และบางทีอาการเส้นเลือดขอดบนขาก็ดูรุนแรง เห็นเส้นเลือดใต้ผิวหนังปูด ๆ โปน ๆ ให้ความรู้สึกน่ากลัว จนอดคิดไม่ได้ว่าเส้นเลือดขอดอันตรายไหม รักษาหายหรือเปล่า ฉะนั้นเพื่อไม่เป็นการคิดไปกันใหญ่ เรามาลองทำความรู้จักเส้นเลือดขอดที่ขากันดีกว่า

เส้นเลือดขอดที่ขา คืออะไร

          เส้นเลือดขอดที่ขา หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Varicose vein คือหลอดเลือดดำที่โป่งพองผิดปกติ มักจะเกิดบริเวณขาตั้งแต่ตามตุ่มขึ้นไปถึงสะโพก แต่บริเวณที่พบเส้นเลือดขอดบ่อยที่สุดคือน่อง โดยลักษณะเส้นเลือดขอดจะมีสีแดง เขียว หรือม่วง ขนาดเล็กมาก ๆ ประมาณ 0-5 มิลลิเมตร คล้ายใยแมงมุม แต่อาการในระยะเริ่มต้นของเส้นเลือดขอด จะเริ่มสังเกตเห็นเส้นเลือดขอดขนาดระหว่าง 1-3 มิลลิเมตร และมักมีลักษณะเป็นสีเขียวใต้ผิวหนัง

เส้นเลือดขอดที่ขา เกิดจากอะไร

          เส้นเลือดขอดที่ขามีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ดังนี้

          - อายุ

          อายุที่มากขึ้นทำให้ผนังหลอดเลือดดำขาดความยืดหยุ่น และลิ้นเล็ก ๆ ภายในหลอดเลือดเสื่อม ไม่สามารถปิดกั้นการไหลย้อนกลับของเลือดได้

          - เพศ

          ผู้หญิงมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากกว่าผู้ชาย 3 เท่า เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในผู้หญิงระหว่างการตั้งครรภ์ ระยะก่อนมีประจำเดือน หรือหลังวัยหมดประจำเดือน

          - ตั้งครรภ์

          เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายและมดลูกที่โตขึ้น ส่งผลกระทบให้เกิดแรงดันภายในหลอดเลือดที่ขาสูงขึ้น จึงทำให้เกิดเส้นเลือดขอดที่ขา ซึ่งมักจะหายได้เองภายใน 3 เดือนหลังคลอด

          - การกินยาคุมกำเนิด

          การกินยาเม็ดคุมกำเนิด หรือฮอร์โมนเพศหญิงก็เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นเส้นเลือดขอด

          - น้ำหนักตัว

          ภาวะอ้วน น้ำหนักเกิน ทำให้เกิดแรงดันสูงขึ้นภายในหลอดเลือดที่ขา เป็นเหตุให้เกิดหลอดเลือดขอดที่ขาได้

          - การยืนหรือนั่งนาน ๆ

          อาชีพที่ต้องยืนหรือนั่งนาน ๆ ทำให้เลือดไหลเวียนไม่ดี เกิดแรงดันภายในหลอดเลือดดำ

          - การใส่รองเท้าส้นสูง

          การใส่รองเท้าส้นสูงเป็นเวลานาน และบ่อย ๆ อาจทำให้เลือดที่ขาไหลเวียนได้ไม่ดี จนเสี่ยงเส้นเลือดขอดเพิ่มขึ้นได้

          - ขาดการออกกำลังกาย

          ถ้าไม่ออกกำลังกายเลย จะส่งผลให้กล้ามเนื้อขาเสื่อมประสิทธิภาพ หลอดเลือดดำที่ขาก็จะอ่อนแอ ไม่มีกล้ามเนื้อขาคอยพยุง นอกจากนี้การไหลเวียนเลือดของขาก็จะไม่ค่อยดีเท่าที่ควร เสี่ยงเป็นเส้นเลือดขอดที่ขาได้ง่าย

          - การกระแทกหรือกดทับ

          โดยเฉพาะคนที่ชอบนั่งไขว่ห้าง หรือเกิดอุบัติเหตุที่ได้รับแรงกด แรงกระแทกที่ขาหรือน่อง ทำให้หลอดเลือดเดินไม่สะดวก ก็อาจเกิดการคั่งของเลือดที่ขา ทำให้เกิดหลอดเลือดขอดได้

          - พันธุกรรม

          หากมีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคนี้ โอกาสจะเป็นเส้นเลือดขอดก็จะสูงกว่าคนอื่น

เส้นเลือดขอดที่ขา อาการเป็นอย่างไร

เส้นเลือดขอดที่ขา

          อาการของเส้นเลือดขอดที่ขาสามารถแบ่งความรุนแรงได้ 3 ระดับ ดังนี้

          1. เส้นเลือดขอดแบบฝอย (Spider Veins)

          เส้นเลือดขอดแตกเป็นเส้น ๆ ขนาดเล็ก คล้ายใยแมงมุมตำแหน่งจะอยู่ตื้น มีสีม่วงหรือแดง จัดเป็นระดับที่รุนแรงน้อยที่สุด เพราะมองเห็นได้ลาง ๆ และแทบไม่มีอาการเจ็บ ปวด หรือเมื่อยล้าบริเวณที่เป็น

          2. เส้นเลือดขอดขนาดกลาง (Reticular veins)

          เส้นเลือดขอดจะโป่งพองออกมาไม่มาก แต่พอสังเกตเห็นได้

          3. เส้นเลือดขอดโป่งพองขนาดใหญ่ (Varicose Veins)

          จะเห็นเส้นเลือดขอดสีเขียวผสมม่วง พองและขดเป็นหยักค่อนข้างชัด เนื่องจากผนังเส้นเลือดบาง จึงเห็นการขอดของเส้นเลือดได้ง่ายกว่าสองระดับแรก นอกจากนี้ยังอาจมีอาการปวด เมื่อยล้า เจ็บบริเวณเส้นเลือดขอด และเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน เช่น อาการแตกกลายเป็นแผลเรื้อรัง หรือที่เรียกว่า แผลจากเส้นเลือดขอด (Varicose ulcer) หรือมีการอักเสบของหลอดเลือดดำได้ จึงควรรีบรักษา

เส้นเลือดขอด อันตรายแค่ไหน

          แม้เส้นเลือดขอดในระยะแรก ๆ จะดูไม่มีอันตราย เพียงแค่มีผลต่อความสวยความงามของผิวพรรณเท่านั้น ทว่าหากปล่อยเส้นเลือดขอดให้ดำเนินไปเรื่อย ๆ ไม่ยอมรักษา อาการเส้นเลือดขอดอาจทวีความรุนแรงจนส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น มีอาการปวด เมื่อย ขาบวม ผิวหนังบริเวณที่เกิดเส้นลือดขอดก็จะบางผิดปกติ เมื่อได้รับการกระแทกก็เสี่ยงต่อการแตก และอาจมีแผลเลือดออกได้ ซึ่งก็จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เกิดแผลเรื้อรัง หรืออาจเลวร้ายไปถึงขั้นมีลิ่มเลือดจากเส้นเลือดขอดหลุดไปที่ปอดหรือหัวใจ ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างลิ่มเลือดอุดตันที่อันตรายถึงชีวิตได้

เส้นเลือดขอดที่ขา

เส้นเลือดขอดที่ขา เป็นแล้วควรดูแลตัวเองอย่างไร

          ผู้ที่เป็นหลอดเลือดขอดที่ขา ควรปฏิบัติตัว เพื่อบรรเทาความรุนแรงและอาการปวด ดังนี้

          - ออกกำลังกาย เช่น การเดิน เพื่อเคลื่อนไหวขาให้มากขึ้น จะช่วยให้การไหลเวียนเลือดดี ช่วยลดหรือป้องกันหลอดเลือดขอดได้

          - ลดน้ำหนัก ถ้าน้ำหนักเกิน

          - ลดอาหารเค็ม ป้องกันหรือลดอาการบวม

          - หลีกเลี่ยงการสวมใส่เสื้อผ้ารัดเอวหรือขา เพื่อลดแรงดันของหลอดเลือดดำที่ขา และเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูง แต่ควรใส่รองเท้าส้นต่ำแทน ซึ่งจะช่วยให้กล้ามเนื้อขาบีบตัวดีกว่า และส่งผลดีต่อหลอดเลือดดำ

          - ยกขาสูง เพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือดที่ขา โดยหมั่นนั่งหรือนอนพัก และยกเท้าให้สูงกว่าระดับหัวใจ วันละหลาย ๆ ครั้ง

          - อย่ายืนหรือนั่งติดต่อกันนาน ๆ อย่างน้อยทุก ๆ 30 นาที ควรเปลี่ยนอิริยาบถโดยการเดิน เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนเลือด

          - ถ้าเป็นมาก ให้หมั่นดูแลตามคำแนะนำของแพทย์ เช่น การใส่ถุงเท้ายืด (compression stocking) ระหว่างที่ต้องยืนทำงานนาน ๆ

          - ควรรีบไปพบแพทย์ ถ้ามีอาการปวดมาก บวมมาก หลอดเลือดอักเสบ (เส้นแข็ง ออกแดง ร้อน และเจ็บ) เป็นแผล หรือมีเลือดออก

เส้นเลือดขอด ประคบร้อนหรือเย็นดี

          เส้นเลือดขอดเป็นภาวะที่เลือดไหลเวียนไม่สะดวก ดังนั้นจึงควรประคบร้อนเพื่อให้หลอดเลือดขยายตัว ร่วมกับยกขาขึ้นสูงเพื่อให้เลือดไหลลงสู่หลอดเลือดำใหญ่ที่ต้นขาได้ง่ายขึ้น ป้องกันการคั่งของเลือด

เส้นเลือดขอด รักษาอย่างไร

เส้นเลือดขอดที่ขา

          การรักษาเส้นเลือดขอดที่ขา มีอยู่หลายวิธี ดังนี้

          * สวมถุงเท้ายืด หรือพันผ้ายืด (Conservative treatment)

          ในรายที่อาการไม่มาก เป็นระยะเริ่มต้น แพทย์อาจแนะนำให้สวมใส่ถุงเท้ายืด (Compression stocking) หรือพันผ้ายืดตลอดทั้งวัน เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อและหลอดเลือดทำงานได้ดี บีบให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น

          * รับประทานยา

          ยารักษาเส้นเลือดขอดจะเป็นยาในกลุ่ม Diosmin และ Hesperidin ซึ่งสามารถลดกระบวนการอักเสบ จะทำให้การอักเสบของหลอดเลือดดำลดลง และทำให้ลิ้นในหลอดเลือดดำกลับมาเป็นปกติได้ เป็นวิธีรักษาเส้นเลือดขอดที่มีขนาดเล็ก ๆ

          * ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำที่ขอด (Sclerotherapy)

          ในกรณีที่เส้นเลือดขอดมีขนาดใหญ่ แพทย์อาจเลือกวิธีฉีดยาเข้าไปในหลอดเลือดดำที่ขอด ทำให้เกิดการแข็งตัว และตีบตัน ตัดการไหลเวียนของเลือด เรียกวิธีบำบัดนี้ว่า "sclerotherapy" มักจะได้ผลภายใน 2-3 สัปดาห์ แต่บางครั้งอาจจำเป็นต้องฉีดซ้ำ

          * การบำบัดด้วยเลเซอร์ (laser surgery)

          ใช้เลเซอร์ทำให้หลอดเลือดขอดถูกทำลาย และค่อย ๆ จางหายไปในที่สุด

          * การรักษาเส้นเลือดขอดโดยใช้คลื่นความถี่วิทยุ (Radiofrequency ablation, RFA)

          มักจะใช้รักษาเส้นเลือดขอดขนาดใหญ่ที่มีการรั่วของหลอดเลือดร่วมด้วย โดยแพทย์จะใช้วิธีเจาะผ่านรูเข็มขนาดเล็ก แล้วใส่ขดลวดเข้าไปสลายเส้นเลือดขอดที่มีปัญหาด้วยความถี่คลื่นวิทยุ เป็นวิธีที่ไม่ต้องผ่าตัดเปิดแผล

          * การผ่าตัดเส้นเลือดขอด (Vein stripping)

          เป็นการผ่าตัดดึงหลอดเลือดขอดออกไป โดยหลอดเลือดที่ถูกดึงทิ้งมักจะเป็นส่วนผิว ไม่กระทบต่อการไหลเวียนเลือดที่ขาด เนื่องเพราะการไหลเวียนส่วนใหญ่ อาศัยหลอดเลือดดำส่วนลึก

สมุนไพรรักษาเส้นเลือดขอด ก็มีหลายตัว

          ถ้าพูดถึงสมุนไพรรักษาเส้นเลือดขอดตัวเด่น ๆ ก็จะมีใบบัวบก ที่มีสารไตรเตอร์พีนอยด์ (Triterpenoid) ซึ่งมีสรรพคุณช่วยลดการอุดตันของเส้นเลือด ทำให้ระบบไหลเวียนของเลือดทำงานดีขึ้น และมีรายงานการศึกษาฉบับหนึ่งทดลองใช้สารไตรเตอร์พีนอยด์ สกัดจากใบบัวบกกับผู้ที่มีอาการบวมและอักเสบจากเส้นเลือดขอด ซึ่งพบว่า 8 ใน 10 คน อาการบวมและการอักเสบดีขึ้น มีการไหลเวียนเลือดบริเวณนั้นดีขึ้น อีกทั้งเส้นเลือดที่โป่งพองอยู่ก็ยุบตัวลง

          ดังนั้นจึงสามารถนำใบบัวบกตำแล้วพอกบริเวณที่เป็นเส้นเลือดขอดโดยไม่ต้องคลึงหรือนวด หรือรับประทานสารสกัดใบบัวบก 1 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร ติดต่อกัน 2-6 สัปดาห์ขึ้นไป เพื่อช่วยรักษาเส้นเลือดขอดที่เป็นอยู่

          - สรรพคุณใบบัวบก ประโยชน์เลอค่า เพื่อความงามและสุขภาพ

          นอกจากนี้บรรดาขิง กระเทียม สับปะรด ยังช่วยลดการสะสมของไฟบริน (Fibrin) ที่ทำให้เลือดแข็งตัว หรือจะรับประทานอาหารวิตามินซีสูง ร่วมกับอาหารที่มีสารฟลาโวนอยด์ เช่น ผักใบเขียว ผักชี หัวหอม ชาขาว เพื่อเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระ ลดการทำลายของหลอดเลือดด้วยก็ได้

เส้นเลือดขอด ใช้สิทธิ์ประกันสังคมได้ไหม

          เส้นเลือดขอดก็เป็นโรคที่ใช้สิทธิประกันสังคมรักษาได้ค่ะ เนื่องจากสาเหตุของเส้นเลือดขอดก็เกี่ยวเนื่องกับลักษณะงานที่ต้องยืนหรือนั่งนาน ๆ และบางอาชีพยังต้องใส่ส้นสูงยืนหรือเดินตลอดทั้งวันด้วย ดังนั้นหากผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 ป่วยด้วยโรคนี้ ก็ใช้สิทธิประกันสังคมรักษาได้เลย

เส้นเลือดขอด ป้องกันได้ง่าย ๆ

          โรคนี้ไม่มีหนทางป้องกันได้เต็มที่ แต่ก็อาจลดความเสี่ยง หรือความรุนแรงลงด้วยการปฏิบัติตัว ดังนี้

          - หมั่นออกกำลังกาย

          - ควบคุมน้ำหนัก

          - กินผักและผลไม้ให้มาก ๆ ลดอาหารเค็ม

          - หลีกเลี่ยงการสวมใส่เสื้อผ้ารัดเอว และขา และรองเท้าส้นสูง

          - หมั่นยกเท้าให้สูงกว่าระดับหัวใจ

          - อย่านั่งหรือยืนนาน ๆ ควรเดินสลับบ่อย ๆ

          โรคบางโรคเราสามารถป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างเท่านั้นเอง อย่างเส้นเลือดขอดก็เช่นกัน ดังนั้นหมั่นดูแลสุขภาพจะได้ห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บทั้งหลาย

          * หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 22 ธันวาคม 2563

ขอบคุณข้อมูลจาก
หมอชาวบ้าน, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์, โรงพยาบาลเปาโล, โรงพยาบาลค่ายสุรนารี, โรงพยาบาลพญาไท, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เฟซบุ๊ก สมุนไพรอภัยภูเบศร
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เส้นเลือดขอดที่ขา โรคควรระวังของคนยืนหรือนั่งนาน ๆ อัปเดตล่าสุด 22 ธันวาคม 2563 เวลา 12:53:31 234,268 อ่าน
TOP
x close