สธ. ยัน เพิ่มค่ารักษา 8 หมวด ไม่กระทบ ปชช.






 

สธ. ยัน เพิ่มค่ารักษา ไม่กระทบ ปชช. (ไอเอ็นเอ็น)

        "หมอประดิษฐ" ยัน ปรับเพิ่มค่ารักษา 8 หมวด ของโรงพยาบาลในสังกัด ไม่กระทบประชาชน เป็นการสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง

        วันนี้ (28 มกราคม) นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความคืบหน้าของการปรับเพิ่มค่าบริการของสถานบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ว่า ขอยืนยัน การปรับค่าบริการครั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน เพราะส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 99 มีหลักประกันสุขภาพ ผู้ที่จะได้รับผลกระทบก็คือผู้ที่ไม่ได้อยู่ใน 3 กองทุนข้างต้น เช่น ชาวต่างชาติที่เข้ามา หรือประชาชนไทยในระบบประกันสุขภาพที่ไม่ได้รับการรักษาตามขั้นตอน

        นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า ส่วนที่มีการปรับปรุงราคามี 8 หมวด เพื่อให้เป็นไปปัจจุบัน ตามสภาวะเศรษฐกิจ และเพิ่มรายการบริการใหม่ที่ยังไม่ครอบคลุมในรายการของกองทุนต่าง ๆ ในปัจจุบัน เพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงในการให้บริการ รวมทั้งมีการปรับนิยามเพื่อแก้ไขปัญหาในการเบิกจ่าย ซึ่งรายการที่เพิ่มขึ้นสูงสุดคือค่าตรวจรักษาโรคโดยวิธีพิเศษ เพิ่มร้อยละ 53 เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นเทคโนโลยีใหม่ รองลงมาคือ ค่าบริการรังสีวินิจฉัย เวชศาสตร์นิวเคลียร์ และรังสีรักษา

        สำหรับอัตราค่าบริการที่จะมีการปรับปรุงมีทั้งสิ้น 8 หมวด ได้แก่

        1. ค่ายาและบริการเภสัชกรรม มีรายการเพิ่มใหม่ 7 รายการ

        2. ค่าตรวจพยาธิวิทยา เพิ่มใหม่ 309 รายการ

        3. ค่าตรวจรักษาทางรังสีวิทยาและค่าบริการตรวจรักษาทั่วไป เพิ่มใหม่ 35 รายการ

        4. ค่าตรวจรักษาโรคโดยวิธีพิเศษ เพิ่มใหม่ 27 รายการ

        5. ค่าบริการทันตกรรม เพิ่มใหม่ 10 รายการ

        6. ค่าผ่าตัด ค่าวางยาสลบและยาชา เพิ่มใหม่ 19 รายการ

        7. ค่าบริการด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เพิ่มใหม่ 15 รายการ

        8. ค่าบริการเวชกรรมฟื้นฟู เพิ่มใหม่ 337 รายการ

        รวมเพิ่มขึ้นใหม่ 758 รายการ จากเดิมที่มี 1,955 รายการ รวมมีรายการที่จะออกประกาศใหม่ทั้งหมด 2,713 รายการ  ในภาพรวมการกำหนดค่าบริการใหม่ ส่วนใหญ่เพิ่มจากค่าแรง ซึ่งเป็นเงินเดือนประจำของเจ้าหน้าที่ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มีความก้าวหน้า

ตัวอย่างค่าบริการที่จะปรับเพิ่มขึ้น

        หัตถการที่มีราคาผ่าตัดสูง เช่น

        - การเปลี่ยนปอด จากราคา 45,000 บาท เป็น 64,000 บาท
        - ค่าเปลี่ยนหัวใจจากราคา 45,000 บาท เป็น 64,000 บาท
        - ค่าเปลี่ยนตับจากราคา 40,000 บาท เป็น 54,000 บาท

        รายการตรวจรักษาโรคโดยวิธีการพิเศษที่มีราคาสูง เช่น

        - ค่าใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจแบบถาวรราคา 80,000 บาท ต่อครั้ง
        - ค่าใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจชั่วคราว ราคา 13,000 บาทต่อครั้ง
        - ค่าใส่สายสวนหัวใจราคา 15,000 บาทต่อครั้ง

        รายการบริการเทคนิคการแพทย์ เช่น

        - ค่าตรวจสารพันธุกรรมราคา 18,000 บาทต่อครั้ง

        รายการบริการรังสีวินิจฉัยราคาสูงสุด เช่น

        - การตรวจหาการอุดตันในเส้นเลือดสมองราคา 25,000 บาทต่อครั้ง

        ทั้งนี้ จากข้อมูลกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีประชาชนอยู่ในระบบ 48 ล้านคน ป่วยและไปใช้บริการจากสถานพยาบาลของรัฐ 32 ล้านคนต่อปี ในจำนวนนี้ 31 ล้านคน ใช้บริการประมาณ 4 ครั้งต่อปี และมีประมาณ 8- 9 แสนคน ที่ใช้บริการมากกว่าปีละ 12 ครั้ง ส่วนที่เหลืออีก 16 ล้านคนไม่ได้ใช้บริการ ซึ่งอาจมาจากมีสุขภาพดี หรือรักษาที่คลินิก รพ.เอกชน หรือซื้อยากินเอง เนื่องจากไม่พอใจ หรือไม่สะดวกในการใช้บริการ หรืออาจเข้าไม่ถึงการบริการในสถานพยาบาลของรัฐ โดยเฉพาะในคน กทม. 72% มักไปซื้อยากินเอง เพราะอาจไม่สะดวกที่จะไปรับบริการในเวลาทำงาน รัฐบาลกำลังหาแนวทางในการช่วยเหลือคนใน กทม. ให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ดีขึ้น ซึ่งคนกลุ่มนี้อาจจะได้รับผลกระทบจากการปรับค่าบริการใหม่ครั้งนี้ได้


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สธ. ยัน เพิ่มค่ารักษา 8 หมวด ไม่กระทบ ปชช. อัปเดตล่าสุด 29 มกราคม 2556 เวลา 17:34:23 3,472 อ่าน
TOP
x close