เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ข่าวยกเลิกส้วมนั่งยองและส้วมซึมภายใน 120 วัน ให้หันมาใช้ส้วมนั่งราบและชักโครกแทน กรมอนามัยแจงเป็นการจับแพะชนแกะ ชี้ไม่มีใครละเมิดสิทธิออกกฎหมายบังคับชาวบ้านได้
หลังจากมีกระแสข่าวว่า รัฐบาลประกาศ พ.ร.ฎ. ยกเลิกส้วมแบบนั่งยองหรือส้วมซึม ให้เป็นแบบชักโครกหรือนั่งราบ ในอีก 120 วัน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน และป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในการใช้ส้วม จนเกิดเป็นประเด็นฮือฮา และเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากในอินเทอร์เน็ตนั้น
ล่าสุด (26 เมษายน) นพ.ณัฐพร วงษ์ศุทธิภากร รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะที่รับผิดชอบเรื่องส้วม ได้ออกมาชี้แจงว่า ข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง ไม่รู้ว่านำมาผูกโยงกันได้อย่างไร ทั้งนี้ ข่าวดังกล่าวเป็นการโยงเอาพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องสุขภัณฑ์เซรามิก : โถส้วมนั่งราบต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. 2556 กับ มติ ครม.เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2556 ที่เห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทยระยะที่ 3 (พ.ศ.2556-2559) ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ส้วมสาธารณะ 12 ประเภท หันมาใช้ส้วมนั่งราบและชักโครก ซึ่งเป็นการจับแพะชนแกะกันเอาเองเท่านั้น
โดย นพ.ณัฐพร กล่าวต่อว่า หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าจะมีการออกกฎหมายบังคับให้ครัวเรือนใช้ส้วมนั่งราบหรือชักโครก แทนส้วมนั่งยองหรือส้วมซึม ซึ่งต้องขอเรียนว่าไม่เป็นความจริง ไม่สามารถไปออกกฎหมายบังคับชาวบ้านได้ เป็นเพียงการนำเสนอของกระทรวงสาธารณสุขต่อ ครม. เพื่อต้องการให้ส้วมสาธารณะ 12 ประเภท คือ แหล่งท่องเที่ยว ร้านจำหน่ายอาหาร ตลาดสด สถานีขนส่งทางบกและทางอากาศ สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง สถานศึกษา โรงพยาบาล สถานที่ราชการ สวนสาธารณะ ศาสนสถาน ส้วมสาธารณะริมทาง และ ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ดิสเคานท์สโตร์ อย่างน้อยต้องมีส้วมนั่งราบหรือชักโครก 1 ห้อง เพื่อรองรับผู้สูงอายุ คนท้อง คนน้ำหนักเกิน ไม่ให้มีปัญหาเรื่องเข่าเสื่อมหรือหน้ามืด ซึ่งก็ไม่ได้เป็นกฎหมาย และไม่สามารถไปบังคับชาวบ้านได้ ไม่สามารถไปละเมิดสิทธิประชาชนได้
นอกจากนี้ รองอธิบดีกรมอนามัย ยังกล่าวอีกว่า ส่วนที่มีการออกกฎหมายบังคับเรื่องส้วมแล้วคือ ปั๊มน้ำมัน และสถานที่จำหน่ายอาหาร คือ บังคับว่าจะต้องมีส้วมนั่งราบ 1 ห้อง ไม่ใช่ว่าห้องน้ำทุกห้องต้องเปลี่ยนมาเป็นแบบนั่งราบหรือชักโครกหมด แต่ขอให้มีอย่างน้อย 1 ห้อง ส่วนชาวบ้านนั้น อยากรณรงค์ให้หันมาใช้ส้วมนั่งราบหรือชักโคกมากกว่า เพราะส่วนใหญ่มีผู้สูงอายุอยู่ หากทุกบ้านเปลี่ยนมาเป็นนั่งราบได้ ก็จะช่วยป้องกันปัญหาข้อเข่าเสื่อม รวมถึงคนท้อง คนอ้วน ก็จะไม่เจอปัญหาหน้ามืดหรือลำบากตอนเข้าห้องน้ำ
ทั้งนี้ เรื่องพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เครื่องสุขภัณฑ์เซรามิก : โถส้วมนั่งราบต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. 2556 นั้น รองอธิบดีกรมอนามัย แจงว่า เป็นคนละส่วนกับแผนแม่บทที่จะรณรงค์ให้สถานที่ 12 ประเภทหันมาใช้ส้วมแบบนั่งราบหรือชักโครก ตามที่ระบุไว้ก่อนหน้านี้ เมื่อถามว่า ขณะนี้คนไทยทั่วประเทศมีส้วมนั่งราบหรือชักโครกใช้มากน้อยเพียงใด นพ.ณัฐพร เผยว่า มีไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ โดยส่วนใหญ่เป็นส้วมซึมหรือนั่งยอง เพราะบ้านนอกหรือบ้านจัดสรรรุ่นเก่าล้วนใช้ส้วมแบบนั่งยอง แต่ถ้าบ้านรุ่นใหม่โถส้วมจะเป็นแบบชักโครกหมดแล้ว
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
![](http://img.kapook.com/image/Logo/dailynews.jpg)