มาดูกัน...ยุงชอบกัดคนประเภทไหน

           ไข้เลือดออก โรคนี้เกิดจากการถูกยุงกัด รู้แบบนี้ก็ต้องตัดไฟแต่ต้นลม ทำอย่างไรไม่ให้ถูกยุงกัด

            ทำความรู้จักกับชนิดของยุงที่เป็นพาหะนำโรคต่าง ๆ พร้อมลักษณะของคนที่ยุงชอบกัดเป็นพิเศษ และหากอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่มียุงเป็นพาหะ เรายังมีวิธีการป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัดมาฝากกันอีกด้วย

            ประเทศไทยมักพบกับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกระบาดหนักในช่วงหน้าฝนของทุกปีโดยพบผู้มีอาการป่วยและผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ซึ่งพาหะของโรคนี้ก็คือ ยุง นั่นเอง นอกจากโรคไข้เลือดออกแล้ว ยุง ยังเป็นพาหะนำไปสู่โรคอื่น ๆ เช่น โรคไข้ชิคุนกุนยา โรคไข้สมองอักเสบ โรคเท้าช้าง ขณะที่ในช่วงหน้าหนาวก็เป็นอีกฤดูที่ยุงชุมมากเช่นกัน ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันตนเองไม่ให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคต่าง ๆ เหล่านี้ เราจึงนำข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะของคนที่ยุงชอบกัด อาการที่เกิดหลังถูกยุงกัด รวมทั้งวิธีป้องกันตนเองเบื้องต้นมาแนะนำให้ทราบกัน

            ทั้งนี้ ดร.อุษาวดี ถาวระ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ 8 ว. กลุ่มงานกีฏวิทยา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับยุง ซึ่งเป็นพาหะนำโรคไว้ดังนี้

ไข้เลือดออก


ชนิดของยุงที่มาพร้อมกับโรคต่าง ๆ

            - ยุงก้นปล่อง เป็นพาหะของโรคมาลาเรียและโรคเท้าช้าง
            - ยุงรำคาญ เป็นพาหะของโรคไข้สมองอักเสบและโรคเท้าช้าง
            - ยุงลาย เป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก ไข้ชิคุนกุนยา และโรคเท้าช้าง
            - ยุงเสือ เป็นพาหะของโรคเท้าช้าง

            นอกจากนี้ หากสังเกตให้ดีจะพบว่า ยุงชอบกัดคนบางคนมากกว่าผู้ที่นั่งอยู่ใกล้ ๆ และจากผลการวิจัยพบข้อมูลที่น่าสนใจ ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ยุงชอบกัดคนบางประเภทเป็นพิเศษ ดังนี้

            - ยุงชอบกัดคนที่มีเหงื่อออกมาก
            - ยุงชอบกัดคนที่ตัวร้อน (อุณหภูมิบริเวณผิวหนังสูง)
            - ยุงชอบกัดคนที่หายใจแรง เพราะคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมากับลมหายใจเป็นตัวดึงดูดยุง
            - ยุงชอบกัดเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ เพราะกลิ่นและลักษณะผิวหนัง
            - ยุงชอบกัดผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เพราะฮอร์โมนแตกต่างกัน
            - ยุงชอบกัดคนที่ใส่เสื้อผ้าสีเข้ม เช่น สีดำ กรมท่า แดง เขียว มากกว่าสีขาว

ยุงชอบกัดคนประเภทไหน


อาการหลังจากถูกยุงกัด

            สำหรับสาเหตุของอาการคัน ดร.อุษาวดี เผยข้อมูลว่า เกิดจากการที่ยุงฉีดน้ำลายลงไปในบริเวณที่เจาะดูดเลือด เพื่อทำให้เลือดเจือจางลง จะได้ดูดเลือดได้ง่าย ซึ่งน้ำลายของยุงส่งผลให้มนุษย์เกิดอาการแพ้ที่แตกต่างกันออกไป บางรายแค่มีอาการคัน ขณะที่บางรายอาจมีอาการแพ้รุนแรง จนเป็นแผลลุกลาม และติดเชื้อได้ง่าย

            นอกจากนี้ในน้ำลายของยุงก็มีเชื้อโรคที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ปะปนอยู่ เช่น เชื้อไวรัสเดงกี เชื้อไวรัสเจอี หรือแม้กระทั่งหนอนพยาธิที่ก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคไข้เลือดออก โรคไข้สมองอักเสบเจอี โรคมาลาเรีย โรคเท้าช้าง ฯลฯ


การป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด

            วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันไม่ให้ยุงกัด คือการดูแลสภาพแวดล้อมที่ตนเองอาศัยอยู่ให้ปราศจากยุง หรือให้มีปริมาณยุงน้อยที่สุด โดยเบื้องต้นสามารถทำได้ ดังนี้

            - จัดสภาพบ้านให้เรียบร้อย ไม่เป็นแหล่งอาศัยของยุง และป้องกันไม่ให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงบริเวณบ้าน
            - เปลี่ยนน้ำในภาชนะที่ไม่มีฝาปิด เช่น แจกัน ทุก 7 วัน             
            -  นอนในมุ้ง หรือติดมุ้งลวด หรือใช้พัดลมเป่าไม่ให้ยุงเข้าใกล้
            - ใช้สารไล่แมลงหรือสารป้องกันแมลง ซึ่งผลิตจากส่วนผสมธรรมชาติ เช่น ตะไคร้หอม ไพล ขมิ้นชัน มะกรูด ยูคาลิปตัส ฯลฯ
            - ใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันยุงซึ่งผสมสารเคมีสังเคราะห์ที่ไม่เป็นอันตราย โดยนำมาทาบริเวณแขน ขา ซึ่งจะช่วยป้องกันยุงได้ประมาณ 2-8 ชั่วโมง
            - ใช้ยาจุดกันยุง เครื่องไล่ยุงไฟฟ้า
            - ใช้ไม้ตียุงไฟฟ้า หรือใช้น้ำยาล้างจาน 1 ส่วน ผสมน้ำ 4 ส่วน ใส่กระบอกเพื่อฉีดพ่นบริเวณที่มียุงเยอะ
            - ใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดยุงกระป๋อง ฉีดเฉพาะบริเวณมุมอับ ใต้เตียง ใต้โต๊ะ ทิ้งไว้ 15-30 นาที ก่อนเข้าไปในห้อง

            เมื่อได้รู้จักกับประเภทของยุงที่เป็นพาหะนำพาโรคต่าง ๆ มาสู่มนุษย์ รวมถึงลักษณะของผู้ที่เป็นเป้าหมายหลักของยุงแล้ว ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการถูกยุงกัดก็อย่าลืมระมัดระวังตัวกันมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดการเจ็บป่วยนั่นเอง แต่อย่างไรก็ตาม ทุกคนมีโอกาสโดนยุงกัดได้หมด อย่าชะล่าใจ ควรระวังและป้องกันตัวไม่ให้ถูกยุงกัด จะดีที่สุดนะจ๊ะ
 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข, ศูนย์ข้อมูลโรคติดเชื้อและพาหะนำโรค


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มาดูกัน...ยุงชอบกัดคนประเภทไหน อัปเดตล่าสุด 1 กรกฎาคม 2564 เวลา 15:01:57 108,867 อ่าน
TOP
x close