x close

มารักษาอาการปวดก้นกบ ก่อนเรื้อรังจนนั่งไม่ได้

          ปวดก้นกบเป็น ๆ หาย ๆ มีรอบเดือนแล้วปวดก้นกบ คนท้องปวดก้นกบ...ใครมีอาการแบบนี้อยู่ ต้องมาอ่านข้อมูลต่อไปนี้
ปวดก้นกบ

          ปวดหลังก็ว่าทรมานแล้ว แต่ถ้าใครมีอาการปวดร้าวมาถึงก้นกบละก็ จะรู้ซึ้งถึงความทรมานมากขึ้น โดยเฉพาะหนุ่มสาวออฟฟิศที่ต้องนั่งทำงานวันละ 8 ชั่วโมง นาน ๆ เข้าอาการปวดก้นกบถามหาแน่นอน แล้วสาเหตุของการปวดก้นกบเกิดจากอะไร จะมีวิธีรักษาให้หายได้ไหม มาติดตามข้อมูลที่กระปุกดอทคอมรวบรวมมาบอกกันเลย

ก้นกบ อยู่ตรงไหน?

          บางคนอาจจะยังไม่ทราบว่าอวัยวะที่ชื่อ "ก้นกบ" อยู่ตรงบริเวณไหนของร่างกาย เลยไม่แน่ใจว่าตัวเองปวดหลัง ปวดเอว ปวดกระเบนเหน็บ หรือปวดก้นกบกันแน่ งั้นลองมาคลำดูกัน โดยก้นกบ (coccyx) คือกระดูกส่วนปลายสุดของกระดูกสันหลัง จะอยู่ประมาณเหนือร่องก้นเล็กน้อย หากลองใช้มือคลำดูจะพบตุ่ม ๆ อยู่ตรงบริเวณนั้น ซึ่งส่วนนี้ก็คือหางของสัตว์นั่นเอง

          บริเวณกระดูกก้นกบนี้ประกอบด้วยกระดูกอ่อน 4 หรือ 5 ปล้องเชื่อมติดกัน และยังมีกล้ามเนื้อ มีเส้นเอ็นเกาะอยู่โดยรอบ โดยเมื่อแรกเกิด ข้อต่อเหล่านี้จะยังเคลื่อนไหวอยู่ ก่อนจะมาเชื่อมติดกันภายหลัง ทำหน้าที่รับน้ำหนักในขณะที่เรานั่ง และจะยิ่งรับน้ำหนักมากขึ้น หากเรานั่งในลักษณะที่เอนไปข้างหลัง


กระดูกก้นกบ

สาเหตุของอาการปวดก้นกบ

          มีหลากหลายสาเหตุที่ทำให้เรารู้สึกปวดบริเวณก้นกบได้ นั่นก็คือ

          - ถูกกระแทกจากอุบัติเหตุ เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดเมื่อมีอาการปวดก้นกบ โดยเฉพาะคนที่หกล้มแล้วก้นกระแทกพื้น ตกบันไดโดยเอาก้นลง กระดูกก้นกบจะรับแรงกระแทกโดยตรง ทำให้กระดูกช้ำ แตก เคลื่อน หรือหัก จนเกิดอาการปวดตามมาได้

          - การนั่งไม่ถูกท่า เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้หนุ่มสาวออฟฟิศที่ต้องนั่งทำงานนาน ๆ ทนทรมานกับอาการนี้ นั่นเพราะหากเรานั่งเก้าอี้ที่ไม่ถูกท่า คือนั่งจมลงไปมาก หรือเอนหลังมากเกินไป จะทำให้ก้นกบไปกดกับเบาะจนมีอาการปวดตามมา

          - ตั้งครรภ์ ว่าที่คุณแม่ใกล้คลอดก็มักจะมีอาการปวดก้นกบเหมือนกัน ซึ่งเกิดจากฮอร์โมนรีแล็กซินถูกผลิตขึ้นมาในช่วงตั้งครรภ์ ทำให้เส้นเอ็นและข้อต่ออุ้งเชิงกรานเกิดการนิ่มตัว พร้อมที่จะยืดขยายได้เมื่อทารกคลอดผ่าน แต่ถ้าข้อต่อยืดขยายหรือเคลื่อนไหวมากเกินไปก็ทำให้ปวดได้ ดังนั้น กล้ามเนื้อสะโพกต้องแข็งแรงมากพอที่จะกระชับข้อต่อให้มั่นคง แต่น้ำหนักครรภ์ที่มากจะไปกดให้อุ้งเชิงกรานแบะออกจากกระดูกก้นกบ ทำให้เกิดอาการปวดก้นกบตามมา

          - ความอ้วน หากปกติเราเคยผอมอยู่แล้วมาอ้วน ก็มีสิทธิ์เสี่ยงต่ออาการปวดก้นกบได้ เพราะท่านั่งของเราจะที่เปลี่ยนไป และจะมีน้ำหนักกดกระดูกก้นกบมากขึ้น

          - อยู่ในช่วงประจำเดือนมา สาว ๆ หลายคนมักมีอาการปวดบั้นเอว และปวดก้นกบร่วมด้วยในช่วงก่อนประจำเดือนมา จนถึงวันแรก ๆ ที่ประจำเดือนมาแล้ว แต่เมื่อผ่านพ้นช่วงมีประจำเดือน อาการปวดก้นกบก็จะหายไปเอง

          - สาเหตุอื่น ๆ เช่น ข้อเสื่อม มีเนื้องอกบริเวณกระดูกก้นกบ หรือเป็นอาการข้างเคียงที่เป็นผลมาจากอาการป่วยบางอย่าง เช่น หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม หรือไปกดทับเส้นประสาท แล้วแสดงอาการเจ็บปวดลามลงไปถึงก้นกบ รวมทั้งอาจเป็นอาการบ่งชี้ของโรคมะเร็งปากมดลูกในระยะท้าย หากมีอาการอื่น ๆ เช่น ขาบวม ปัสสาวะเป็นเลือด อุจจาระเป็นเลือด ร่วมด้วย 

          ทั้งนี้ หากดูจากสถิติการรักษา จะพบอาการปวดก้นกบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 5 เท่า เพราะกระดูกก้นกบของผู้หญิงจะอยู่ทางด้านหลังมากกว่า ทำให้เกิดอุบัติเหตุง่ายกว่า อีกทั้งยังเป็นผลมาจากการตั้งครรภ์ และคลอดบุตรด้วย

ปวดก้นกบทรมานขนาดไหน

          ผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการใหม่ ๆ อาจจะรู้สึกปวดบริเวณก้นกบไม่นานนัก เป็น ๆ หาย ๆ แต่หากปวดนาน ๆ จนเข้าระยะเรื้อรัง จะรู้สึกปวดตลอดเวลาที่นั่ง เวลาที่ลุกขึ้น เวลาก้มตัวลง และรู้สึกเจ็บเวลานั่งถ่ายอุจจาระ บางคนหากลองใช้นิ้วดันกระดูกก้นกบดูก็จะรู้สึกเจ็บปวดได้เช่นกัน หากใครมีอาการปวดเช่นนี้เป็นเวลานาน ควรพบแพทย์ เพราะบางทีอาจไม่ได้ปวดที่ก้นกบอย่างที่เรารู้สึก แต่อาจปวดมาจากโรคอื่นในบริเวณใกล้เคียงกันก็เป็นได้


รักษาอาการปวดก้นกบ

การรักษาอาการปวดก้นกบ

          การรักษาอาการปวดก้นกบมีอยู่หลายวิธี แต่ต้องเลือกให้เหมาะสมกับผู้ป่วยรายนั้นว่ามีอาการมากน้อยเพียงใด โดยวิธีรักษาอาการปวดก้นกบ ได้แก่

          - ปรับเปลี่ยนท่านั่ง หากอาการปวดเกิดจากการนั่งไม่ถูกท่า ก็ควรปรับเปลี่ยนเสียใหม่ พยายามนั่งตัวตรง อย่าให้หลังงอ หรือเอนไปข้างหลัง เพื่อไม่ให้ก้นกบกดกับเบาะ อาจจะลองหาหมอนที่เป็นวงรูปโดนัทมาวางไว้บนเก้าอี้ก็ได้ เพื่อช่วยลดการรับน้ำหนักของก้นกบ

          - ประคบร้อน ประคบเย็น เพื่อบรรเทาอาการปวดก้นกบ โดยผู้ป่วยต้องทดลองดูว่าการประคบในอุณหภูมิไหนจะช่วยคลายความปวดได้ดีที่สุด

          - นวดบริเวณรอบ ๆ กล้ามเนื้อ เพื่อช่วยลดการเกร็งของกล้ามเนื้อ สามารถบรรเทาอาการปวดได้บ้าง

          - ใช้ยา ทั้งยาทาน เช่น ยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ หรือฉีดยาชาเฉพาะที่ เพื่อลดความเจ็บปวด ซึ่งในรายที่เป็นไม่มาก หากฉีดยาซ้ำ ๆ ก็จะมีอาการทุเลาลงได้

          - การรักษาด้วยวิธีทางกายภาพ เช่น ใช้คลื่นอัลตราซาวด์ คลื่นความร้อน การกระตุ้นเส้นประสาท

          - การฝังเข็ม เป็นวิธีการรักษาแนวใหม่ ซึ่งได้ผลดีและค่อนข้างรวดเร็ว โดยแพทย์จะทำการฝังเข็มให้ที่ศีรษะ แขน และขา เพื่อรักษาอาการปวดให้

          - การผ่าตัด ปกติแล้วไม่ค่อยมีการผ่าตัดเพื่อรักษาอาการปวดก้นกบมากเท่าไรนัก เว้นเสียแต่ว่าผู้ป่วยมีอาการปวดมากจนทนไม่ไหว และไม่มีทางอื่นรักษาแล้ว ก็จำเป็นต้องผ่าตัดเอากระดูกก้นกบออก

          ทั้งนี้ ในผู้ป่วยบางราย แพทย์จะทำการเอกซเรย์เพื่อตรวจดูกระดูกก้นกบ เพราะบางรายอาการปวดอาจเกิดจากกระดูกก้นกบหัก หรืออาจมีเนื้องอกเกิดขึ้นบริเวณนั้นก็เป็นได้

เคล็ดลับการป้องกันอาการปวดก้นกบ

          - นั่งหลังตรง ก้นสัมผัสพื้นเก้าอี้ให้เต็มเก้าอี้ น้ำหนักลงที่ต้นขาทั้ง 2 ข้าง อย่าเอนตัวไปพิงด้านหลัง เพราะจะทำให้กระดูกก้นกบต้องรับน้ำหนักมากแทนที่จะเป็นการนั่งอยู่บนปุ่มของกระดูกเชิงกราน ทำให้ก้นกบเกิดการอักเสบอย่างฉับพลันได้

          - ไม่ควรนั่งบนเก้าอี้ที่นิ่มเกินไป เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อหลังออกแรงได้ไม่สะดวก ทำให้หลังค่อม และอาจลงน้ำหนักที่กระดูกก้นกบ

          - หากมีอาชีพที่ต้องนั่งทำงานนาน ๆ ให้ลุกขึ้นมายืดเส้นยืดสายทุกชั่วโมง อย่านั่งอยู่กับที่นาน ๆ ควรลุกขึ้นเดินบ้าง

          - ออกกำลังกายยืดกล้ามเนื้อหลังให้แข็งแรงอย่างสม่ำเสมอ นอกจากจะช่วยให้หลังแข็งแรงแล้ว ยังจะช่วยลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้ออันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการปวดได้

          - ทานอาหารที่มีกากใย และดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อลดอาการท้องผูก ซึ่งจะทำให้ปวดเบ่งมากขึ้นระหว่างขับถ่าย

หญิงตั้งครรภ์

วิธีป้องกัน และดูแลการแบะของก้นกบสำหรับหญิงตั้งครรภ์

            ผู้หญิงตั้งครรภ์จะมีโอกาสปวดก้นกบมากกว่าคนปกติ โดยเฉพาะเมื่ออายุครรภ์มากขึ้น น้ำหนักครรภ์จะกดให้อุ้งเชิงกรานแบะออกจากกระดูกก้นกบ เพื่อเตรียมพร้อมการคลอด แต่ก็สามารถใช้วิธีเหล่านี้เพื่อบรรเทาอาการไม่ให้ปวดมากเกินไป

           1. ให้นอนตะแคงแทนการนอนหงาย โดยนอนตะแคงซ้าย แต่ไม่ควรนอนตะแคงข้างขวา เพราะจะไปกดหลอดเลือด

           2. ถ้าต้องการพลิกตัว ให้งอเข่า 2 ข้างซ้อนกันขณะนอนตะแคง แล้วยกสะโพกให้ลอยขึ้นจากพื้นเตียงตลอดเวลาที่พลิกตัวมาอีกข้าง เมื่อพลิกเสร็จแล้วจึงค่อย ๆ วางสะโพกลง ถ้าไม่มีแรงในการยกสะโพกให้ใช้มือช่วยยกสะโพกลอยจากเตียงขณะพลิกตัว

           3. ขณะนอนตะแคง ให้ใช้กระเป๋าน้ำร้อนประคบ 30 นาที จะช่วยบรรเทาอาการอักเสบของข้อ

           4. ใช้ผ้าคาดพยุงท้องช่วยรองรับการแบกน้ำหนักของลูกในท้อง และลดการกดทับของหลังในช่วงล่าง

           5. ไม่ควรอยู่ในอิริยาบถเดิมนาน ๆ หรือเปลี่ยนท่าทางอย่างรวดเร็ว

           6. สวมเสื้อผ้าที่ใส่สบาย ไม่รัดแน่น รวมถึงเลือกรองเท้าที่เดินสบาย เพื่อช่วยรองรับน้ำหนัก





อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

- เฟซบุ๊ก DrCarebear Samitivej
- thaibone.com
- amarinbabyandkids.com 
 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มารักษาอาการปวดก้นกบ ก่อนเรื้อรังจนนั่งไม่ได้ อัปเดตล่าสุด 11 เมษายน 2562 เวลา 14:46:56 287,587 อ่าน
TOP