เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
งานวิจัยชี้ โซเชียลมีเดียทำให้เกิดปรากฎการณ์ FOMO หรือ Fear Of Missing Out คนกลัวจะตกข่าว ต้องเข้ามาอัพเดทสถานะของคนรอบข้างในโซเชียลมีเดียตลอดเวลา
เมื่อเดือนกรกฎาคม 2556 เว็บไซต์เมโทรของอังกฤษ มีรายงานว่า ดร.แอนดรูว์ ไพรซ์บีล์สกี วิทยากรด้านจิตวิทยา จากมหาวิทยาลัยเอสเซ็กซ์ ประเทศอังกฤษ ได้เผยงานวิจัยชิ้นใหม่เกี่ยวกับปรากฏการณ์ FOMO หรือ Fear Of Missing Out ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในกลุ่มที่ใช้โซเชียลมีเดียในปัจจุบัน จนทำให้พวกเขาต้องหาทางเข้าไปอัพเดทข้อมูลข่าวสารในโซเชียลมีเดีย อย่างเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ตลอดเวลา เพราะกลัวจะตกข่าว
โดย FOMO นั้นเป็นกลุ่มอาการใหม่ของเหล่าผู้ใช้โซเชียลมีเดีย ที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งหมายถึงกลุ่มคนที่ไม่สามารถขาดการติดต่อ หรือเช็กข่าวสารของบุคคลอื่น ๆ ผ่านโซเชียลมีเดียได้ รวมถึงไม่สามารถยั้งใจ ให้ตัวเองไม่ต้องหยิบอุปกรณ์สมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ตขึ้นมาเปิดเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ได้นานด้วย และนั่นทำให้เราพบภาพของคนกลุ่มนี้ที่ไม่อาจแยกห่างจากอุปกรณ์ต่าง ๆ ของพวกเขาได้เป็นเวลานาน
สำหรับผู้ที่มีอาการ FOMO นั้น มักจะเกิดความรู้สึกแย่ต่อตนเอง เพราะเกิดความกังวลว่าคนอื่น ๆ จะรู้สึกมีความสุขมากกว่าเราหรือไม่ และโดยเฉพาะอย่างยึ่ง พวกเขากลัวที่จะไม่รู้ว่าคนอื่นจะมีประสบการณ์พิเศษอะไรที่ตัวเองไม่มีหรือไม่
ทั้งนี้ เว็บไซต์ MyLife.com ได้เผยผลสำรวจจากการสอบถามกลุ่มผู้ใหญ่ 2,000 ราย ที่ซึ่งมักจะเข้าไปเยี่ยมชมโซเชียลมีเดียของตัวเองบ่อยครั้ง พบว่า มีผู้ตอบแบบสอบถามถึง 56% ที่กลัวว่าตัวเองจะพลาดสถานการณ์ ข่าวสาร และการอัพเดทสถานะของผู้อื่น หากไม่คอยเฝ้าดูโซเชียลมีเดียของตัวเอง และมีบางส่วนที่เผยว่า พวกเขาจะเข้าไปเช็กโซเชียลมีเดียของตัวเองในทันทีที่ตื่นนอนอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมีคนราวครึ่งหนึ่งของผู้ที่ตอบแบบสอบถามที่เผยว่า พวกเขารู้สึกว่าอยากจะพักจากการใช้โซเชียลมีเดียต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม ดร.แอนดรูว์ มองว่า แม้จะมีแนวโน้มว่าคนหนุ่มสาวในปัจจุบันจะมีอาการ FOMO มากขึ้น แต่เขาก็คาดว่าคนในรุ่นต่อไปนั้นน่าจะมีความสามารถในการรับมือต่อสิ่งนี้ เพราะพวกเขาน่าจะหาสมดุลระหว่างด้านดีและด้านลบของเทคโนโลยีโซเชียลมีเดียได้