เช็กด่วน ! 6 สัญญาณที่บอกว่าคุณติดสมาร์ทโฟนเข้าขั้นวิกฤต

 
ติดสมาร์ทโฟน

          ติดมือถือเข้าขั้นวิกฤติ รีบเช็ก เรามี 6 สัญญาณตามนี้ไหม ถามใจตัวเองดู

          ทุกวันนี้หันไปทางไหนก็เห็นแต่คนก้มหน้าก้มตาอยู่กับมือถือ นั่งจิ้มหน้าจอสี่เหลี่ยมอย่างขะมักเขม้นจนแทบไม่ได้สนใจผู้คนแวดล้อมรอบข้างบ้างเลย แล้วเชื่อไหมคะว่าบางครั้งก็เป็นสาเหตุให้ต้องประสบอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝันขึ้น ทั้ง ๆ ที่ไม่น่าจะเกิดเหตุการณ์อย่างนั้นเลยสักนิด หนำซ้ำถ้ามัวแต่สื่อสารกันผ่านสมาร์ทโฟนสุดไฮเทค ยังจะก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาอีกมากมายเลยด้วย

          ได้รู้อย่างนี้แล้วชักจะผวากันบ้างไหมคะ ถ้าอย่างนั้นลองมาเช็กสัญญาณของอาการติดสมาร์ทโฟนขั้นสาหัสที่ เว็บไซต์ฮัฟฟิงตันโพสต์ เขาได้ไล่เรียงมาให้ดูกันก่อนดีกว่า ใครเข้าข่ายมีอาการโนโมโฟเบีย (Nomophobia) หรือติดโทรศัพท์ถึงขั้นวิกฤตแล้วมาดูกันเลย


1. หยิบโทรศัพท์มาเช็กทันทีที่มีเสียงเตือน


          แม้ว่าจะยุ่งแค่ไหนแต่ถ้ามีเสียงติ๊ดเบา ๆ หรือเสียงสัญญาณว่าโทรศัพท์มีการติดต่อเข้ามา คุณก็จะละทิ้งภารกิจติดพันทุกอย่างลงทันที แล้วหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดูอย่างปัจจุบันทันด่วน ไม่เช่นนั้นจะเกิดอาการกระวนกระวาย ลุกลี้ลุกลนหมดสมาธิกับอย่างอื่นอย่างฉับพลัน ถ้าเป็นอย่างนี้ก็แสดงว่า คุณเริ่มมีอาการโนโมโฟเบียแล้วล่ะ

          แนวทางแก้ไขและป้องกันอาการที่ว่านี้ก็คือ คุณต้องพยายามยั้งคิดให้ได้ว่าข้อความที่เข้ามาทางโทรศัพท์อาจจะไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไร เป็นเรื่องที่รอได้ และคุณก็ต้องให้ความสนใจภารกิจที่กำลังทำอยู่ก่อน อีกทั้งควรจะห่างโทรศัพท์เอาไว้ด้วย เวลานอนควรจะปิดโทรศัพท์มือถือ หรือไม่ก็วางไว้ให้ไกลตัวที่สุด เวลาไปไหนมาไหนก็ควรเก็บโทรศัพท์ไว้ในกระเป๋า ไม่ถืออยู่กับตัวตลอดเวลา เพื่อเบรกตัวเองออกจากความวิตกกังวลที่มีสาเหตุมาจากโทรศัพท์มือถือนะคะ


2. หลอนว่าโทรศัพท์สั่นหรือดังอยู่บ่อย ๆ

          อาการหลอนว่าโทรศัพท์สั่นหรือดัง (Phantom Cellphone Syndrome) ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีสัญญาณโทรศัพท์เข้ามาจริง ๆ เป็นอาการที่ค่อนข้างชัดเจนมากว่า คุณกำลังติดเทคโนโลยีไร้สายเข้าขั้นวิกฤตแล้ว แต่จะว่าไปก็เป็นอาการพื้นฐานที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ยืนยันด้วยผลสำรวจของ Indiana University-Purdue University Fort Wayne ที่พบว่า 89% ของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ มีอาการหลอนว่าโทรศัพท์สั่น หรือดังทั้ง ๆ ที่ไม่มีสายเข้าอยู่บ่อย ๆ


FOMO


3. มีอาการ FOMO หรืออาการกลัวพลาดข่าวสารสำคัญ

          ลองสังเกตตัวเองดูบ้างไหมคะว่าคุณอัพเดทหน้าแรกของโซเชียลมีเดีย ทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรมอยู่ตลอดเวลาหรือเปล่า ชนิดที่วางโทรศัพท์ได้ไม่ถึง 5 นาทีก็ยกขึ้นมาเช็กข่าวใหม่ ๆ อีกครั้งแล้ว เรียกได้ว่าอยากจะรู้ทั้งข่าวสาร และเรื่องราวของชาวโซเชียลมีเดียอย่างใกล้ชิด ใครไปทำอะไรที่ไหน เมื่อไร กินอะไร ก็พลาดไม่ได้สักวินาที ถ้าไม่รู้ก็จะหงุดหงิด กระวนกระวาย ใจไม่เป็นสุข ถ้าคุณรู้ตัวว่ามีอาการ FOMO (Fear Of Missing Out) หรืออาการกลัวพลาดข่าวสารในโซเชียลมีเดียแบบนี้ ก็ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมซะใหม่ ปล่อยผ่านเรื่องราวของคนอื่นไปบ้าง แล้วหันมาสนใจเรื่องของตัวเอง กับสิ่งที่ตัวเองทำให้มากขึ้นดีกว่า


4. ไม่สนใจคนรอบข้าง

          เดี๋ยวนี้เป็นพฤติกรรมที่เห็นกันชินตาเลยก็ว่าได้ ขนาดมาด้วยกัน นั่งใกล้กัน ต่างคนก็ต่างนั่งคุยโทรศัพท์ ไม่ยอมหันหน้ามามองหรือพูดคุยกันเลย ซึ่งถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ คนใกล้ชิดที่เคยสนิทสนมกันก็อาจจะกลายเป็นความห่างเหินเหมือนมีช่องว่างตรงกลางที่เอื้อมไม่ถึง เนื่องจากต่างฝ่ายต่างขาดการสื่อสารซึ่งกันและกัน หรือฝ่ายหนึ่งส่งสารไป แต่อีกฝ่ายไม่รับสารนั้น มัวนั่งก้มหน้าจิ้มโทรศัพท์หน้าตาเฉย ฉะนั้นอย่าปล่อยให้พฤติกรรมแบบนี้เกิดขึ้นกับคุณดีกว่า ที่สำคัญอย่าปล่อยให้เทคโนโลยีมาพรากคุณออกจากความอบอุ่นของเพื่อน ครอบครัว และคนใกล้ชิดเลยนะ


สมาร์ทโฟน


5. ขาดโทรศัพท์ขาดใจ

          สำหรับคนที่อยู่ห่างโทรศัพท์ไม่ได้เลย เพราะเมื่อไรที่ไม่ได้หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาอัพเดทสเตตัส ถ่ายรูป หรือเช็กอิน ก็เหมือนจะขาดใจตายเสียให้ได้ นั่นก็แสดงว่าคุณเข้าข่ายติดโทรศัพท์อย่างหนัก เรียกได้ว่าถ้าเปรียบเทียบกับอาการป่วยก็ต้องบอกว่าเขาขั้นสาหัสเลยทีเดียว ดังนั้นถ้ารู้ตัวว่าเป็นแบบนี้ ควรจะออกห่างจากโทรศัพท์บ้าง ทำเป็นเหมือนไม่มีโทรศัพท์มือถืออยู่กับตัวได้เลยยิ่งดี เพื่อลดอาการเสพติดโทรศัพท์ ที่อาจจะเป็นสาเหตุให้คุณรู้สึกเครียด และมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมานะคะ


6. ประสิทธิภาพในการเรียนและการทำงานลดลง

          ถ้าวัน ๆ ไม่สามารถเงยหน้าขึ้นมาจากโทรศัพท์ หรือแยกแยะและเรียงลำดับความสำคัญของชีวิตในแต่ละวันได้ คงไม่พ้นต้องเสียสมาธิในการเรียนและการทำงานไปไม่น้อย จนอาจจะเป็นสาเหตุให้คุณมีประสิทธิภาพในการเรียนและการทำงานลดลงไปอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งถ้าไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์ ให้ห่างไกลจากอาการติดโทรศัพท์มือถือโดยด่วน ก็อาจจะต้องเสียใจกับผลลัพธ์ที่จะตามมาทั้งในเรื่องของหน้าที่การงาน การเรียน รวมทั้งปัญหาสุขภาพที่คาดไม่ถึงอีกมากเลยนะจ๊ะ

          โทรศัพท์มือถือเป็นอุปกรณ์สื่อสารที่มีความสำคัญกับชีวิตประจำวัน จนจะกลายเป็นปัจจัยที่ 5 อยู่ร่อมร่อก็จริง แต่ถ้าไม่รู้จักใช้อย่างเหมาะสม ก็อาจจะก่อให้เกิดโทษมากกว่าประโยชน์ อย่างเช่น อาจจะทำให้เราเครียดและวิตกกังวลมากไปโดยไม่รู้ตัวได้นะคะ ดังนั้นรู้จักใช้เทคโนโลยีให้เป็นกันดีกว่าเนอะ





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เช็กด่วน ! 6 สัญญาณที่บอกว่าคุณติดสมาร์ทโฟนเข้าขั้นวิกฤต อัปเดตล่าสุด 21 ตุลาคม 2560 เวลา 08:09:44 12,354 อ่าน
TOP
x close