คู่มือพลังงานสำหรับสาวกินเส้น (Lisa)
สารพัดเส้นส่วนประกอบหลักในอาหารจานโปรดของคุณ 100 กรัมเท่ากัน จะให้พลังงานเท่าไหร่นะ? มาดูกันดีกว่าว่าในบรรดาอาหารเส้น ๆ จะเลือกกินเส้นไหนดี !
เส้นก๋วยเตี๋ยว
150-220 Kcal
ก๋วยเตี๋ยวเส้นขาว ๆ ทั้งเส้นใหญ่ เส้นเล็ก และเส้นหมี่ ล้วนทำมาจากแป้งข้าวเจ้าเหมือนกัน แต่กลับให้พลังงานที่ต่างกันขึ้นอยู่กับความชื้นของเส้น โดยเส้นใหญ่จะมีแคลอรีสูงที่สุด เพราะมักจะเคลือบน้ำมัน ทำให้ในปริมาณ 100 กรัม ให้พลังงานสูงถึง 220 กิโลแคลอรี ในขณะที่เส้นเล็กให้พลังงานประมาณ 180 กิโลแคลอรี และเส้นหมี่ให้พลังงานประมาณ 150 กิโลแคลอรีเท่านั้น
ทั้งนี้มีข้อมูลจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระบุเพิ่มด้วยว่า ถ้าในปริมาณ 80 กิโลแคลอรีเท่ากัน จะได้ก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ในปริมาณ 1 ทัพพี หรือประมาณ 50 กรัม ส่วนเส้นหมี่ได้ปริมาณ 2 ทัพพี หรือประมาณ 54 กรัม
วุ้นเส้น
330 Kcal
เห็นพลังงานพุ่งขนาดนี้อย่าเพิ่งตกใจ ! เพราะวุ้นเส้น (เส้นดิบ) มีน้ำหนักเบามาก คือ 1 ซองมีประมาณ 50 กรัมเท่านั้น ปกติสาว ๆ กินไม่ถึง 100 กรัมหรอก ซึ่งข้อมูลจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า หากนำวุ้นเส้นไปลวก ในปริมาณ 2 ทัพพี หรือประมาณ 120 กรัม จะให้พลังงานประมาณ 80 กิโลแคลอรีเท่านั้นเอง แต่ก็อย่าเข้าใจผิดว่าวุ้นเส้นเป็นโปรตีน ! จริงอยู่ว่าเส้นชนิดนี้ทำจากถั่วเขียว แต่ในกระบวนการผลิตถั่วจะถูกโม่และแยกโปรตีนออกไปจนเหลือแต่แป้ง เดี๋ยวนี้ยังมีการผสมแป้งมันลงไปเพื่อเป็นการลดต้นทุนด้วย โดยจะไม่เหนียวเท่าวุ้นเส้นจากถั่วเขียว 100%
เส้นขนมจีน
80 Kcal
ถึงแม้จะทำจากแป้งข้าวเจ้าเหมือนกับเส้นก๋วยเตี๋ยว แต่แป้งสำหรับเส้นขนมจีนจะหมักแช่น้ำไว้ก่อน จึงนำไปผ่านกระบวนการต่าง ๆ และมักเป็นเส้นสดใหม่ที่ทำวันต่อวัน เส้นจึงมีองค์ประกอบของน้ำมาก และให้พลังงานต่ำกว่าเส้นก๋วยเตี๋ยว ข้อเสียอย่างหนึ่งของเส้นที่มีความชื้นสูงแบบนี้ก็คือ สาว ๆ จะกินแล้วรู้สึกว่าไม่อยู่ท้องนั่นเอง โดยข้อมูลจากกรมอนามัยระบุว่า ขนมจีน 1 จับ (ประมาณ 72 กรัม) ให้พลังงาน 80 กิโลแคลอรี
Tip : ควรเลือกแบบที่เป็นสีธรรมชาติ ไม่มีการแต่งสีเพิ่มเติม และหากซื้อมาแล้วยังไม่กินควรแช่ตู้เย็นเก็บไว้ แม้จะเป็นแป้งหมักแต่ก็ไม่ควรทิ้งไว้ข้ามวัน
เส้นบะหมี่
300 Kcal
บะหมี่เส้นสีเหลืองทำมาจากแป้งสาลี ซึ่งเป็นแป้งที่มีโปรตีนสูงพอสมควร แถมยังได้ประโยชน์จากแคโรทีนอยด์ และฟลาโวนอยด์ ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระในกลุ่มวิตามินเออีกด้วย ส่วนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปถึงจะเห็นสีเหลือง ๆ เหมือนกัน แต่ก็ผ่านการทอดและปรุงรสจนมีไขมันและโซเดียมสูง แค่ปริมาณ 1 ซอง (60 กรัม) ก็ให้พลังงานถึง 280 กิโลแคลอรี และยังเป็นพลังงานจากไขมันเกือบครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว
ขณะที่หากเทียบในปริมาณ 80 กิโลแคลอรีเท่านั้น จะได้ปริมาณบะหมี่สุก 2/3 ทัพพี (ประมาณ 36 กรัม) ซึ่งปริมาณพลังงานที่เท่ากันนี้จะได้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแห้ง เพียง 1/3 ห่อ หรือประมาณ 20 กรัม
Tip : หากอยากกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปควรซื้อชนิดที่มีการเติมสารอาหาร เช่น ไอโอดีน ธาตุเหล็ก หรือวิตามินเอเพิ่มเข้าไป เพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการให้มากขึ้นสักนิด
เส้นบุก
10 Kcal
เส้นหนึบ ๆ ที่แปรรูปมาจากหัวบุกนี้ มีเส้นใยสูงและให้พลังงานต่ำมาก ๆ แถมสารแป้งในหัวบุกซึ่งเรียกว่า แมนแนน เมื่อแตกตัวจะได้เป็นน้ำตาลกลูโคสและแมนโนส ซึ่งงานวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่า ในกระบวนการย่อย แมนโนสจะถูกดูดซึมช้ากว่ากลูโคส น้ำตาลในเลือดจึงเพิ่มขึ้นช้า เหมาะอย่างยิ่งสำหรับสาว ๆ ที่เป็นเบาหวาน และสาว ๆ อยากผอมทั้งหลาย
Tip : เส้นบุกมีทั้งแบบเส้นใสและแบบผสมสาหร่ายทะเลเพื่อเพิ่มคุณค่าอาหาร แต่ให้พลังงานต่ำไม่ต่างกัน ส่วนการปรุงควรลวกในน้ำเดือดจัด จึงจะได้เส้นบุกที่นุ่มกำลังดี
เส้นแก้ว
20 Kcal
เส้นแก้วใส ๆ คล้ายวุ้นเส้นแต่อวบและกรุบกว่านี้ (หาซื้อได้จากซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ ๆ ทั่วไป) ทำจากสาหร่ายทะเลสีน้ำตาล 100 กรัม มีคาร์โบไฮเดรตน้อยมาก ประมาณ 4 กรัม นอกเหนือจากนั้นก็เป็นใยอาหาร เหมาะกับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานหรือต้องการลดความอ้วน สำหรับส่วนที่ทำให้เส้นแก้วแตกต่างจากเส้นบุกก็คือ เส้นชนิดนี้จะมีโซเดียมและแคลเซียมอยู่เล็กน้อย
Tip : เส้นแก้วสามารถนำมากินสด ๆ ได้เลย แต่หากไม่ชอบความจืดและกรุบ จะนำไปปรุงรสและผ่านความร้อนเพื่อให้เส้นนุ่มลงก็ได้ แต่อาจต้องใช้เวลานานกว่าเส้นอื่น ๆ สักหน่อย
***หมายเหตุ : อัพเดทข้อมูลล่าสุดเมื่อเวลา 09.22 น. วันที่ 26 เมษายน 2559
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
, กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข