
แฟ้มภาพ
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
สธ. สั่งปิดโรงเรียนย่านคลองเตย 2 วัน เพื่อฆ่าเชื้อโรค และฝั่งเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด หลังโรคมือ เท้า ปาก ส่งผลให้เด็กอนุบาล วัย 3 ขวบ ดับ 1 ราย ป่วยเพิ่มอีก 2 ราย
จากกรณีพบเด็กวัย 3 ขวบ 7 เดือน นักเรียนโรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่ง ที่เขตคลองเตย กทม. ป่วยและเสียชีวิตจากโรคมือ เท้า ปาก (Hand Foot and Mouth Disease) สายพันธุ์ อีวี 71 เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2557 และยังพบเด็กนักเรียนโรงเรียนเดียวกัน ป่วยเพิ่มอีกนั้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2557 นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เผยว่า สธ. ได้ส่งเจ้าหน้าที่จากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 กรมควบคุมโรค ร่วมกับทาง กทม. ไปตรวจสอบพื้นที่ในโรงเรียนดังกล่าว พร้อมกับติดตามไปยังบ้านของเด็กที่เสียชีวิตและเจ็บป่วย เมื่อวันที่ 6-7 มกราคม เพื่อควบคุมโรคและจำกัดการแพร่ระบาดโดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้ สธ. ยังต้องเฝ้าระวังติดตามอาการเด็กในห้องเดียวกันและทั้งโรงเรียน ซึ่งมีนักเรียนประมาณ 200 คน เป็นเวลา 15 วัน สำหรับเด็กที่ป่วย จำนวน 2 คน ได้ถูกรับตัวไปดูแลในโรงพยาบาลแล้ว เบื้องต้นพบว่า อาการไม่รุนแรงนัก และได้มีการเก็บอุจจาระส่งตรวจหาชนิดเชื้อไวรัสแล้ว
นอกจากนี้ สธ. ได้สั่งการให้โรงเรียนดังกล่าวปิดการเรียนการสอนเป็นเวลา 6 วัน คือ ตั้งแต่วันที่ 7-12 มกราคม 2557 เพื่อให้มีการทำความสะอาดห้องเรียน ห้องน้ำ ของเล่น เครื่องใช้ต่าง ๆ เพื่อทำลายเชื้อโรค โดย สธ. จะให้ความรู้โรคมือ เท้า ปาก และให้คำแนะนำครูพี่เลี้ยงในการตรวจคัดกรองสุขภาพเด็กนักเรียนซ้ำอีกในวันที่ 13 มกราคมนี้
นพ.ณรงค์ กล่าวอีกว่า โรคมือ เท้า ปาก ไม่ใช่โรคใหม่และไม่ได้เกิดสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งสามารถพบเจอโรคนี้ได้ทั่วโลก โดยในไทยพบได้ตลอดปี แต่ส่วนใหญ่จะพบมากในช่วงฤดูฝนและหนาว เนื่องจากสภาพอากาศเย็นทำให้เชื้อไวรัสเจริญเติบโตได้ดี ซึ่ง สธ. ได้กำชับหน่วยงานในสังกัดและนอกสังกัดให้เฝ้าระวังโรคดังกล่าวแล้ว หากพบความผิดปกติสามารถแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ใกล้ หรือโทรปรึกษาสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ความรุนแรงของโรคมือ เท้า ปาก จะขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของโรค โดยเฉพาะอีวี 71 ซึ่งพบว่า มีความรุนแรงมาก โดยอุบัติการณ์ของโรคจะมีอัตราตาย 1 รายต่อผู้ป่วย 1 หมื่นราย ซึ่งในปี 2556 ประเทศไทยมีผู้ป่วย 45,000 ราย มีอัตราตาย 3 ราย ถือเป็นอัตราที่ยังไม่น่าห่วง
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้โรคมือ เท้า ปาก ยังไม่มียารักษาหรือวัคซีน จึงต้องรักษาตามอาการของโรค เช่น เรื่องระบบหัวใจ ระบบประสาท เป็นต้น ดังนั้น หากเด็กมีสัญญาณนอกเหนือจากตุ่มที่มือ เท้า ปาก เช่น มีไข้สูง อาเจียน ชัก ควรรีบพบแพทย์เพื่อเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพราะเด็กที่ร่างกายแข็งแรงก็อาจเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน ฉะนั้น การรักษาสุขลักษณะที่ดี สอนให้เด็กล้างมืออย่างถูกวิธีจะเป็นวิธีที่สามารถช่วยได้เบื้องต้น
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
