สธ.เตือนภัยมะเร็งรุนแรงขึ้น คนไทยดับปีละกว่า 6 หมื่นคน ทั่วโลกปีละเกือบ 8 ล้านคน (กระทรวงสาธารณสุข)
สธ. เผย คนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งมากที่สุด แนะคนอายุ 30 ปีขึ้นไปตรวจร่างกายประจำปี เพราะหากพบเร็ว โอกาสรักษาหายมีสูง พร้อมแนะนำ 5 ทำ 5 ไม่ ป้องกันมะเร็ง และ 7 สัญญาณบ่งชี้โรคมะเร็ง
เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2557 นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ทุกปี องค์การอนามัยโลกและสมาคมต่อต้านมะเร็งสากล กำหนดให้เป็นวันมะเร็งโลก (World Cancer Day) เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ รณรงค์ให้รู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับมะเร็งและตระหนักถึงความรุนแรงของโรคนี้ เนื่องจากขณะนี้โรคมะเร็งกำลังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่รุนแรงระดับโลก เป็นภัยเงียบคุกคามชีวิตประชาชนวัยแรงงานและผู้สูงอายุมากที่สุด ซึ่งองค์การอนามัยโลกรายงานพบผู้ป่วยโรคมะเร็งทั่วโลกปีละประมาณ 13 ล้านคน เสียชีวิตปีละ 7.6 ล้านคน มากที่สุดคือมะเร็งปอดจำนวน 1.37 ล้านคน และแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นทุกประเทศ จึงคาดว่าในอีก 16 ปีคือในปี 2573 จะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 13 ล้านกว่าคน ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก
สำหรับประเทศไทยนั้น นายแพทย์ณรงค์ ระบุว่า โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายสูงอันดับ 1 ของคนไทยต่อเนื่องมานานกว่า 13 ปี คือตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา ล่าสุดในปี 2554 มีคนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งทุกชนิด 61,082 คน คิดเป็นร้อยละ 15 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมดที่มีปีละ 414,670 คน โดยจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคนี้เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 3,000 คน
ขณะที่ นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลเรื่อง 5 ปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคมะเร็ง นั่นก็คือ ความอ้วน การดื่มสุรา การสูบบุหรี่ การไม่ออกกำลังกาย และไม่กินผักผลไม้สด โดยโรคมะเร็งจะค่อย ๆ ก่อตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ผู้ป่วยไม่รู้ตัว จึงขอแนะนำให้ผู้ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป ควรตรวจสุขภาพ ค้นหาความผิดปกติอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หากตรวจพบเร็วโอกาสรักษาหายจะมีสูง
ขณะเดียวกันกระทรวงสาธารณสุขก็ได้จัดระบบการป้องกันและการค้นหาผู้ที่เริ่มมีความผิดปกติ แต่ยังไม่รู้ตัว เช่น ผู้หญิงที่อายุ 30 ปีขึ้นไปจะรณรงค์ให้ตรวจหามะเร็งปากมดลูกให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ตรวจมะเร็งเต้านมไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 หากพบความผิดปกติจะได้รับการผ่าตัดภายใน 1 เดือน ซึ่งมีโอกาสหายเป็นปกติสูงมาก หากเซลล์มะเร็งยังไม่ลุกลามไปที่อื่น ส่วนในบางเขตบริการฯ เช่น ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่พบโรคมะเร็งตับสูง จะตรวจหาไข่พยาธิใบไม้ตับในอุจจาระ หากพบจะให้ยาฆ่าพยาธิและปรับพฤติกรรมเลิกกินปลาน้ำจืดดิบ ๆ สุก ๆ ด้วย
สำหรับการป้องกันโรคมะเร็งนั้น รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขแนะนำว่า มีหลักการง่าย ๆ คือ 5 ทำ 5 ไม่ คือ
กิจกรรมที่ควรทำ 5 ประการได้แก่
1. ออกกำลังกายประจำ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 ครั้ง ครั้งละไม่ต่ำกว่า 30 นาที จะป้องกันความอ้วน ลดความเครียดได้
2. ทำจิตแจ่มใส ทำได้หลายวิธีเช่นออกกำลังกาย การทำบุญตามวิถีแห่งศาสนา การทัศนศึกษา
3. กินผักผลไม้สดให้ได้วันละครึ่งกิโลกรัม ในผักผลไม้มีสารต้านมะเร็ง เช่น วิตามินเอ สารเบต้าแคโรทีน และมีเส้นใยอาหาร ทำหน้าที่คล้ายแปรงไปกระตุ้นผนังลำไส้ใหญ่ให้สร้างเมือกมากขึ้น ทำให้ระบบขับถ่ายดี
4. กินอาหารให้หลากหลาย ไม่ซ้ำซาก จำเจ และใหม่สด สะอาด ปราศจากเชื้อรา ลดอาหารที่มีไขมันสูง อาหารปิ้งย่าง หรือทอดไหม้เกรียม อาหารหมักดองเค็ม
5. ตรวจร่างกายเป็นประจำ
ส่วนสิ่งที่ไม่ควรทำมี 5 ประการคือ
1. ไม่สูบบุหรี่ โดยพบว่ามะเร็งปอดร้อยละ 80 เกิดจากสูบบุหรี่ ปัจจุบันพบมะเร็งปอดรายใหม่ปีละกว่า 10,000 คน หากหยุดสูบบุรี่จะป้องกันเกิดมะเร็งปอดได้ร้อยละ 60-70
2. ไม่มีเซ็กส์มั่ว ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
3. ไม่ดื่มสุรา โดยผู้ที่ดื่มสุรามากกว่าวันละ 3 แก้ว จะเพิ่มความเสี่ยงมะเร็ง 9 เท่าของคนไม่ดื่ม และหากดื่มมากว่าวันละ 3 แก้วและสูบบุหรี่มากกว่าวันละ 20 มวนด้วย ความเสี่ยงเกิดมะเร็งจะเพิ่มเป็น 50 เท่าตัว
4. ไม่ตากแดดจ้า
5. ไม่กินปลาน้ำจืดที่มีเกล็ดดิบ ๆ เช่น ปลาตะเพียน ปลาซิว ปลาสร้อย ปลาเกล็ดขาว
นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังได้แนะนำวิธีสังเกตอาการผิดปกติที่ต้องสงสัยว่าอาจเป็นมะเร็ง 7 ข้อ เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสุขภาพตัวเองได้ คือ
1. มีเลือดออกหรือมีสิ่งขับออกจากร่างกายผิดปกติ เช่น ตกขาวมากเกินไป
2. มีก้อนเนื้อหรือตุ่มเกิดขึ้นที่ใดที่หนึ่งของร่างกายและก้อนนั้นโตเร็ว
3. มีแผลเรื้อรังรักษาหายยาก
4. ถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะผิดปกติหรือเปลี่ยนไปจากเดิม
5. เสียงแหบ หรือไอเรื้อรัง
6. กลืนอาหารลำบาก หรือทานอาหารแล้วไม่ย่อย
7. มีการเปลี่ยนแปลงของหูดหรือไฝ
ทั้งนี้ หากใครมีอาการเหล่านี้ขอให้ไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อตรวจสุขภาพ เพราะหากเป็นมะเร็ง ถ้าพบเร็วจะเพิ่มโอกาสการรักษาให้หายขาดได้มากขึ้น
ขอขอบคุณข้อมูลจาก