รู้จักโรคเอสแอลอี SLE หรือ โรคลูปัส โรคพุ่มพวง ป่วยแล้วอันตรายหรือไม่ ?

           โรคพุ่มพวง คืออะไร มารู้จักโรคพุ่มพวง หรือที่เรียกว่า โรคเอสแอลอี โรคลูปัส โรคร้ายที่คร่าชีวิต พุ่มพวง ดวงจันทร์ อันเป็นที่มาของชื่อโรคที่คนไทยเรียกกัน

โรค sle

          โรคเอสแอลอี (Systemic Lupus Erythematosus - SLE) หรือ โรคลูปัส จัดเป็นโรคที่เรื้อรังชนิดหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มภูมิคุ้มกันเพี้ยน เกิดจากการที่ร่างกายผู้ป่วยผลิตโปรตีนของภูมิคุ้มกันในเลือดที่ เรียกว่า "แอนติบอดี้" ขึ้นมามากเกินปกติ ทำให้เกิดปัญหาในอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไม่ว่าทั้งทางตรงและทางอ้อม

          กล่าวคือ จากปกติที่ภูมิคุ้มกันในร่างกายจะต่อต้านเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอม เช่น แบคทีเรีย หรือไวรัสจากภายนอกร่างกาย แต่กลับต่อต้านร่างกายของตัวเอง จนทำให้เกิดการอักเสบที่อวัยวะต่าง ๆ ถ้าเป็นรุนแรงจะมีการทำลายอวัยวะภายในด้วย เช่น ไต หัวใจ ปอด และระบบประสาท 

          เพราะเคยสร้างความตื่นตะลึงด้วยการคร่าชีวิตราชินีลูกทุ่ง "พุ่มพวง ดวงจันทร์" มาแล้ว จึงทำให้คนไทยรู้จัก "โรคเอสแอลอี" กันในนาม "โรคพุ่มพวง" สงสัยไหมว่าโรคนี้ร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตหรือไม่ วันนี้เราจะพาไปค้นคำตอบของโรคเอสแอลอี หรือโรคพุ่มพวงกันค่ะ

          สำหรับความรุนแรงของโรคเอสแอลอีจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน บางคนเป็นรุนแรง บางคนเป็นไม่รุนแรง และในรายที่เป็นไม่รุนแรง วันดีคืนร้ายก็จะเป็นรุนแรงขึ้นมาได้อีก ในปัจจุบันโรคเอสแอลอียังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมอาการของโรคให้สงบ และดำเนินชีวิตได้ตามปกติหากรักษาได้ทันท่วงที

          ทั้งนี้ ผู้ป่วยด้วยโรคแอสเอลอีส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงวัยสาวถึงวัยกลางคน อายุระหว่าง 20-45 ปี อายุเฉลี่ยประมาณ 30 ปี โดยผู้หญิงมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้ชายประมาณ 9:1 และพบได้ในทุกเชื้อชาติ แต่จะพบในคนผิวดำและผิวเหลืองมากกว่าผิวขาว โดยเฉพาะบริเวณเอเชียตะวันออก เช่น ไทย, สิงคโปร์, มาเลเซีย, ฮ่องกง และจีน 

โรคเอสแอลอี สาเหตุเกิดจากอะไร

 


          ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของโรคเอสแอลอีแน่ชัด แต่จากหลักฐานทางการวิจัยพบว่า โรคนี้มีความเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์, ฮอร์โมน และการติดเชื้อโรค (โดยเฉพาะเชื้อไวรัส) นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยบางอย่างที่ทำให้ผู้ป่วยที่เป็นหรือมีโอกาสเป็นโรคเอสแอลอีมีอาการรุนแรงขึ้น เช่น แสงแดด โดยเฉพาะแสงอัลตราไวโอเลต การตั้งครรภ์ และยาบางชนิด ดังนี้

          1. พันธุกรรม พบว่าในแฝดจากไข่ใบเดียวกันมีโอกาสเกิดโรคนี้ถึงร้อยละ 30-50 และร้อยละ 7-12 ของผู้ป่วยเอสแอลอีเป็นญาติพี่น้องกัน เช่น แม่และลูกสาว หรือในหมู่พี่น้องผู้หญิงด้วยกัน

            2. ติดเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรีย จนถึงปัจจุบันยังไม่สามารถค้นพบเชื้อแบคทีเรียและไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคนี้ได้

          3. ฮอร์โมนเพศโดยเฉพาะเอสโตรเจน โรคที่พบมากในสตรีวัยเจริญพันธุ์ บ่งชี้ว่าน่าจะมีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนเพศ นอกจากนี้ความรุนแรงของโรคยังแปรเปลี่ยนตามการมีครรภ์ ประจำเดือน และการใช้ยาคุมกำเนิด

          4. แสงแดดและสารเคมี ยาบางอย่างเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงทางพันธุกรรมแสดงอาการของโรคนี้ได้

โรคเอสแอลอี อาการเป็นอย่างไร

 


          โรคเอสแอลอี เป็นโรคที่มีลักษณะการแสดงออกได้หลากหลาย อาจมีอาการเฉียบพลันและรุนแรง หรือมีอาการค่อยเป็นค่อยไปเป็นช่วงระยะเวลานานหลายปี หรืออาจมีอาการแสดงออกของหลายอวัยวะในร่างกายพร้อม ๆ กัน หรือมีการแสดงออกเพียงอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งทีละอย่างก็ได้ โดยอาการที่พบบ่อยนั้น ได้แก่ มีไข้ ผื่นขึ้นที่ใบหน้า เกิดแผลในปาก ผมร่วง มีอาการปวดข้อ พอรักษาก็หายไปแต่ก็กลับเป็นขึ้นมาได้อีก ส่วนอาการอื่น ๆ มีดังนี้


          * อาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด เป็นอาการที่พบได้บ่อยในขณะโรคกำเริบ

          * อาการทางผิวหนังและเยื่อบุช่องปาก ในระยะเฉียบพลันที่พบได้บ่อยที่สุด คือ ผื่นรูปปีกผีเสื้อ ลักษณะเป็นผื่นบวมแดงนูนบริเวณโหนกแก้มและสันจมูก ผื่นจะเป็นมากขึ้นเมื่อถูกแสงแดด ปลายเท้าซีดเขียวเมื่อถูกน้ำหรืออากาศเย็น ผมร่วง มีแผลในปาก

โรค sle

          * อาการทางข้อและกล้ามเนื้อ เป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุด ส่วนใหญ่เป็นอาการปวดข้อมากกว่าลักษณะข้ออักเสบ มักเป็นบริเวณข้อเล็ก ๆ ของนิ้วมือ ข้อมือ ข้อไหล่ ข้อเท้า หรือข้อเข่า เป็นเหมือน ๆ กันทั้ง 2 ข้าง ร้อยละ 17-45 พบอาการปวดกล้ามเนื้อ

          * อาการทางไต ผู้ป่วยบางรายมาพบแพทย์ด้วยอาการทางไตเป็นอาการนำ อาการแสดงที่สำคัญของไตอักเสบจากลูปัส ได้แก่ บวม ปัสสาวะเป็นฟอง ตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะ ความดันโลหิตสูง

          * อาการทางระบบเลือด อาการที่พบ ได้แก่ อ่อนเพลียหน้ามืดจากภาวะซีด เม็ดเลือดขาวต่ำ ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย และเกล็ดเลือดต่ำ อาจพบจุดจ้ำเลือดออกตามตัวได้

          * อาการทางระบบประสาท อาการที่พบได้คือ อาการชักและอาการทางจิต นอกจากนี้อาจมีอาการปวดศีรษะรุนแรง หรือมีอาการอ่อนแรงของแขนขา อาจพบได้ในระยะที่โรคกำเริบ

          * อาการทางปอดและเยื่อหุ้มปอด อาการที่พบบ่อยคือ เยื่อหุ้มปอดอักเสบ อาการแสดงคือเจ็บหน้าอก โดยเฉพาะเวลาหายใจเข้าสุด ตรวจพบมีน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด บางรายมีอาการปอดอักเสบซึ่งต้องแยกจากปอดอักเสบติดเชื้อ

          * อาการทางระบบหัวใจและหลอดเลือด ที่พบบ่อยคือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ซึ่งมักพบร่วมกับเยื่อหุ้มปอดอักเสบ ผู้ป่วยจะมาด้วยอาการ เจ็บหน้าอก มีน้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ เหนื่อยง่าย โรคหลอดเลือดหัวใจส่วนใหญ่เป็นผลมาจากภาวะหลอดเลือดแข็งจากการได้รับยาสเตียรอยด์นาน ๆ นอกจากนี้ภาวะความดันโลหิตสูง ก็เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยจากไตอักเสบเรื้อรัง และจากการได้รับยาสเตียรอยด์

          * อาการทางระบบทางเดินอาหาร ไม่มีอาการที่จำเพาะสำหรับโรคลูปัส อาการที่พบบ่อย ได้แก่ คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดท้อง ซึ่งเป็นผลจากการใช้ยารักษาโรคลูปัส เช่น NSAIDS ยาสเตียรอยด์ อาการยังคงอยู่ได้แม้จะหยุดยาไปเป็นสัปดาห์

โรคเอสแอลอี รักษาอย่างไร


          ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาใดที่ทำให้หายขาดได้ เพราะสาเหตุของการเกิดโรคยังไม่แน่ชัด แต่การปฏิบัติตัวที่ดี การเลือกใช้ยาที่ถูกต้องทั้งชนิด ขนาด และช่วงเวลาที่เหมาะสม จะสามารถควบคุมอาการของโรคนี้ได้ โดยรักษาด้วยยากลุ่ม NSAIDS และยาต้านมาลาเรีย (คลอโรควีนและไฮดรอกซีคลอโรควีน) ในผู้ป่วยที่มีอาการเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่มีปัญหาต่อการดำเนินชีวิตประจำวันมากนัก เช่น ผู้ป่วยที่มีอาการอย่างโรคทางผิวหนัง มีผื่นที่หน้า ปวดข้อและปวดกล้ามเนื้อ โดยที่ผลการตรวจทางปัสสาวะปกติ อย่างไรก็ตามในกรณียาเหล่านี้ควบคุมอาการไม่ได้ อาจให้ยาสเตียรอยด์ในขนาดต่ำ ๆ (Prednisolone < 10 มิลลิกรัม /วัน) ร่วมด้วย เมื่อควบคุมโรคได้จึงค่อยลดยาลง

          ยาสเตียรอยด์ เช่น prednisolone เป็นยาหลักที่ใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการอักเสบของอวัยวะสำคัญต่าง ๆ จากโรคลูปัส แพทย์จะปรับขนาดของยาตามอาการและผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ถ้าไม่ได้ผลอาจต้องให้ยากดระบบภูมิคุ้มกันอื่น ๆ ร่วมด้วย

ปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อป่วยเป็นโรคเอสแอลอี 

 


          1. ในระยะแรกต้องได้รับการรักษาด้วยยา ต้องรับประทานยาตามขนาดและระยะเวลาที่แพทย์กำหนดอย่างเคร่งครัด

          2. ควรพยายามอย่าให้ผิวหนังถูกแสงแดดโดยตรง ควรใส่หมวกปีกกว้าง กางร่ม และสวมใส่เสื้อแขนยาวเวลาที่จำเป็นต้องออกแดด

          3. ทำจิตใจให้สบาย ไม่ควรเครียด ท้อถอย เศร้าใจ หรือกังวลใจ เพราะทำให้อาการกำเริบได้ ควรมีกำลังใจและมีความอดทนต่อการรักษา

          4. เสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารประเภท เนื้อสัตว์ ไข่ นม ผักและผลไม้ต่าง ๆ มีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และนอนหลับพักผ่อนให้พอเพียง

          5. เนื่องจากผู้ป่วยเอสแอลอีมีโอกาสติดเชื้อโรคได้ง่ายจึงต้องคอยระวังตัว ไม่เข้าใกล้ผู้อื่นที่กำลังเป็นโรคติดต่อ เช่น โรคหวัด พยายามไม่อยู่ในที่ที่มีผู้คนแออัด นอกจากนี้อาหารที่รับประทานทุกชนิดควรเป็นอาหารที่สะอาดและต้มสุกแล้ว

          6. ทำตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล และไปรับการตรวจตามนัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อประโยชน์ในการรักษาและประเมินความรุนแรงของโรค และผลการรักษาแพทย์จะได้พิจารณาให้การรักษาได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

          7. ไม่ควรเปลี่ยนแพทย์ผู้รักษาบ่อย ๆ เพราะแพทย์คนใหม่อาจจะไม่ทราบรายละเอียดของอาการเจ็บป่วย ทำให้เกิดความล่าช้าในการวินิจฉัยและการรักษา อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน หรืออาจเป็นอันตรายได้

          8. ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง เพราะจะมีโอกาสแพ้ยาได้บ่อยและรุนแรงกว่าคนธรรมดา

          9. ไม่ควรเพิ่มหรือลดขนาดยาเอง

          10. ถ้ามีอาการผิดปกติ มีไข้ หรือไม่สบาย ควรรีบกลับไปปรึกษาแพทย์ผู้รักษาทันที หรือหากจะไปหาแพทย์อื่น ควรนำยาที่กำลังรับประทานอยู่ไปให้แพทย์ดูด้วยทุกครั้ง เพื่อว่าแพทย์จะได้จัดยาได้ถูกต้องและสอดคล้องกับยาประจำที่รับประทานอยู่

          11. ผู้ป่วยหญิงที่แต่งงานแล้วไม่ควรมีบุตรในระยะที่โรคกำเริบ เพราะจะเป็นอันตรายต่อแม่และเด็กในครรภ์ ไม่ควรใช้ยาคุมกำเนิด เพราะอาจจะทำให้อาการของโรคกำเริบขึ้น ควรเลี่ยงใช้วิธีอื่น ­ๆ แทนโดยการปรึกษาแพทย์ ผู้ป่วยจะสามารถตั้งครรภ์ได้เมื่อพ้นระยะที่โรคมีความรุนแรงแล้ว แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการตั้งครรภ์และขณะตั้งครรภ์ควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์


โรค SLE ห้ามกินอาหารอะไรบ้าง

          จริง ๆ แล้วในปัจจุบันยังไม่สามารถระบุได้ว่า อาหารชนิดไหนที่สามารถทำให้อาการ SLE กำเริบ หรือแม้แต่อาหารที่ช่วยให้อาการของโรค SLE ดีขึ้นได้ก็ยังไม่พบข้อมูลทางการแพทย์ที่สามารถยืนยันได้อย่างชัดเจนด้วยเช่นกัน เพราะถ้าพูดถึงการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยโรค SLE จะมีลักษณะเหมือนกับแนวทางการกินเพื่อสุขภาพที่ดีทั่วไปนั่นเอง

          แต่ทั้งนี้เพื่อเป็นแนวทางในการดูแลด้านอาหารการกินของผู้ป่วยโรค SLE เราก็พอมีข้อมูลอาหารที่ผู้ป่วยโรค SLE ควรหลีกเลี่ยง เพื่อลดโอกาสเกิดอาการที่รุนแรงหรือโรคแทรกซ้อนได้ ลองอ่านต่อที่นี่เลยค่ะ

          - โรค SLE ห้ามกินอาหารอะไรบ้าง ไม่อยากอาการทรุดต้องดูแล  


          ทั้งนี้หากผู้ป่วยปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม ทานยาที่ถูกต้อง พบแพทย์ตามนัด อาการของโรคพุ่มพวงก็จะไม่รุนแรงนัก แต่หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที อวัยวะสำคัญ เช่น ไต สมอง หลอดเลือด อาจเกิดการอักเสบได้ หรือหากผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติอยู่แล้ว อาจเกิดภาวะติดเชื้อได้ง่ายขึ้น ซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ดังนั้นหากใครมีอาการต้องสงสัย ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับวินิจฉัยทันทีค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก : หมอชาวบ้าน, thai-sle.com, vcharkarn.com, psu.ac.th

 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รู้จักโรคเอสแอลอี SLE หรือ โรคลูปัส โรคพุ่มพวง ป่วยแล้วอันตรายหรือไม่ ? อัปเดตล่าสุด 13 ธันวาคม 2566 เวลา 17:47:45 314,806 อ่าน
TOP
x close