อีสุกอีใส กับความเชื่อมากมายที่เข้าใจผิดกันมานาน

          โรคอีสุกอีใส เป็นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แล้วรู้ไหม ป่วยอีสุกอีใสห้ามกินอะไร เคยเป็นอีสุกอีใสแล้วจะไม่เป็นซ้ำอีกแล้วจริงหรือไม่ มาไขความเชื่อที่คนเข้าใจผิด ๆ กันมานานกันเลย !

โรคอีสุกอีใส

          โรคอีสุกอีใส เป็นโรคที่ระบาดกันมากในช่วงอากาศเย็น ๆ โดยเฉพาะในฤดูหนาวจะพบผู้ป่วยมากขึ้น และเชื่อไหมว่ามีคนเสียชีวิตจากโรคนี้ด้วย ซึ่งเกิดจากโรคแทรกซ้อนของอีสุกอีใส ไม่ว่าจะเป็นปอดอักเสบ หรือตับอักเสบ ฟังดูแล้วน่ากลัวเหมือนกันนะคะกับโรคอีสุกอีใสนี้ แต่หลายคนอาจจะบอกว่า ไม่เห็นกลัวเลย ก็เราเคยเป็นโรคนี้มาแล้วตอนเด็ก ๆ คงไม่มีทางติดเชื้อได้อีกแล้วล่ะ หรือบางคนอาจจะบอกว่าโรคนี้เป็นกับเด็ก ๆ เท่านั้น เราเป็นผู้ใหญ่แล้วคงไม่เป็นหรอก...

          ถ้าคิดแบบนี้อยู่ขอให้ลบความคิดเดิม ๆ ออกไปได้เลยค่ะ เพราะมีหลากหลายความเชื่อเกี่ยวกับโรคอีสุกอีใสที่คุณเข้าใจผิดอยู่ อย่างเช่นเรื่องต่อไปนี้เลย

โรคอีสุกอีใส เป็นแต่ในเด็กเท่านั้น เราโตแล้วคงไม่เป็นหรอก !

          ขอบอกว่า โรคอีสุกอีใสเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ ทุกวัยค่ะ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ก็มีสิทธิ์ติดเชื้อได้เช่นกัน


โรคอีสุกอีใส เป็นแล้วจะไม่เป็นอีก จริงหรือ?

          เป็นความเชื่อที่ผิดค่ะ เพราะโรคอีสุกอีใสที่เดิมเกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลา (Varicella virus) หรือ Human herpes virus type 3 แต่ในปัจจุบันมีไวรัสโรคอีสุกอีใสสายพันธุ์ใหม่ที่ค่อนข้างรุนแรงกว่าเดิมด้วย ดังนั้น หากคนที่เคยเป็นอีสุกอีใสในวัยเด็กไปแล้ว เกิดตอนนี้ได้รับเชื้อสายพันธุ์ใหม่ ก็ยังสามารถกลับไปเป็นอีสุกอีใสได้อีกรอบ เพราะเป็นเชื้อไวรัสคนละตัวกันนี่เอง

          แถมเป็นตอนโตยังอาจมีอาการหนักกว่าเด็ก ๆ ด้วยซ้ำ หรืออย่างน้อยก็มีแผลเป็นให้รำคาญใจอีกต่างหาก

โรคอีสุกอีใส เป็นเองก็หายเองได้ จะไปฉีดวัคซีนป้องกันทำไม?

          คนส่วนใหญ่อาจจะเป็นโรคอีสุกอีใสแล้วหายเองได้ภายใน 1-3 สัปดาห์ค่ะ แต่กับบางคนอาจรักษาไม่หาย เพราะเกิดโรคแทรกซ้อนขึ้น ซึ่งโรคแทรกซ้อนนั้นเกิดจากการติดเชื้อจากแผลที่เกิดขึ้นทั้งตัว จนทำให้มีอาการต่าง ๆ เช่น แก้วหูอักเสบ ปอดอักเสบ ตับอักเสบ หรือติดเชื้อในสมอง

          ดังนั้น หากผู้ป่วยคนใดเป็นอีสุกอีใสแล้วมีอาการปวดหู หรือไอ หายใจเหนื่อย เจ็บหน้าอก ตาเหลืองตัวเหลือง (ดีซ่าน) ปวดศีรษะมาก ซึมลง อาการใดอาการหนึ่งหรือมากกว่า ก็ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาเพิ่มเติม เพราะโรคแทรกซ้อนบางอาการอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย


โรคอีสุกอีใส

ฉีดวัคซีนอีสุกอีใสไปแล้ว แสดงว่าจะไม่เป็นโรคนี้แล้วถูกไหม?

          ก็ยังไม่ถูกนะจ๊ะ เพราะถึงจะฉีดวัคซีนไปแล้ว แต่วัคซีนนั้นป้องกันโรคได้ประมาณ 90% เท่านั้นเอง แสดงว่าเรายังมีโอกาสเป็นโรคนี้อยู่อีก 10% เพียงแต่การฉีดวัคซีนจะทำให้อาการน้อยลง และช่วงเวลาที่เป็นโรคนี้ก็สั้นลง เช่น จะมีตุ่มขึ้นไม่มาก และอาการจะหายไปเองภายในเวลาไม่นาน

          นอกจากนี้ โดยปกติแล้วคนที่เป็นโรคอีสุกอีใสประมาณ 15% เมื่อหายแล้วจะมีเชื้อบางส่วนไปแอบหลบอยู่ในปมประสาทใกล้กระดูกสันหลัง หากเมื่อใดร่างกายอ่อนแอ เชื้อพวกนี้จะแสดงอาการออกมาเป็นโรคที่เรียกว่า "งูสวัด" แต่การฉีดวัคซีนยังสามารถป้องกันโรคงูสวัดได้ด้วย  

อาบน้ำต้มผักชีช่วยให้อีสุกอีใสหายไวจริงไหม?

          ผักชีเป็นพืชธาตุเย็นที่ช่วยลดอาการผื่นแดงได้ แต่ความเชื่อที่ว่าใช้รักษาโรคอีสุกอีใสได้หรือไม่นั้น ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ค่ะ จึงยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่ารักษาโรคนี้ได้ผลจริงหรือเปล่า
 

ไข่ไก่

ไข่ เป็นอาหารแสลงของโรคอีสุกอีใสใช่ไหม?

          มีคนพูดเยอะเหมือนกันว่า ถ้าเป็นโรคอีสุกอีใสห้ามกินไข่ เพราะจะทำให้เป็นแผลเป็น แต่นี่เป็นความเชื่อที่ผิด เพราะแพทย์ยืนยันมาแล้วว่า ไม่มีอาหารชนิดใดเป็นของแสลงกับโรคอีสุกอีใสเลย ผู้ป่วยสามารถทานอาหารได้ตามปกติ ซึ่งก็ต้องเป็นอาหารที่ถูกสุขลักษณะ คือต้องเป็นอาหารที่สุกแล้ว ไม่ใช่ของหมักดอง เพื่อให้ร่างกายได้สารอาหารที่ดีมีประโยชน์ไปสร้างภูมิคุ้มกันมาต่อสู้กับเชื้อโรค

          และจริง ๆ แล้ว ในช่วงที่เป็นอีสุกอีใสนั้น ผิวของเรายิ่งต้องการการดูแลบำรุงจากโปรตีนมากขึ้น เพราะฉะนั้น จึงต้องทานเนื้อ นม ไข่ และถั่วต่าง ๆ อันเป็นแหล่งโปรตีนสำคัญไว้ด้วยค่ะ


ไข้ขึ้นสูง สามารถกินยาแอสไพรินให้ไข้ลดเร็วได้ใช่ไหม?

          การทานยาแอสไพรินนี่เป็นข้อห้ามสำคัญเลยค่ะ เพราะยาแอสไพรินอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดกลุ่มอาการไรย์ (Reye\'s syndrome) ซึ่งเป็นความผิดปกติของสมองและตับ ทำให้มีอาการของสมองอักเสบร่วมกับตัวเหลืองจนเกิดอันตรายร้ายแรงได้ ดังนั้น หากมีไข้ขึ้นสูง ให้ทานยาพาราเซตามอลแทน ร่วมกับใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวบ่อย ๆ เพื่อบรรเทาอาการไข้ค่ะ ที่สำคัญคือต้องพักผ่อนมาก ๆ ดื่มน้ำเยอะ ๆ ด้วยจ้า

          ความเชื่อแต่ละข้อล้วนเป็นความเชื่อที่เราได้รับการบอกต่อมาทั้งนั้นเลยเห็นไหมคะ แถมเรามักจะปฏิบัติตามด้วย แต่พอได้รู้อย่างนี้ ก็คงทำให้เพื่อน ๆ เปลี่ยนความเข้าใจเสียใหม่แล้วเนอะ


*หมายเหตุ อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 8 ธันวาคม 2558


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
  
- โรงพยาบาลวิภาวดี  

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อีสุกอีใส กับความเชื่อมากมายที่เข้าใจผิดกันมานาน อัปเดตล่าสุด 5 กรกฎาคม 2564 เวลา 17:49:35 240,873 อ่าน
TOP
x close