จับตาอีสุกอีใส ไข้สมอง-อหิวาต์ ไข้กาฬคืนสังเวียน (ไทยโพสต์)
กรมควบคุมโรคห่วงหน้าร้อนเชื้อโรคโตเร็ว แพร่ระบาด จับตาปี 2557 มีผู้ป่วยเพิ่ม โรคสุกใสพุ่ง 33% โรคไข้สมองอักเสบ 5% โรคไข้กาฬหลังแอ่น 15% โรคอหิวาตกโรค 3.8% โรคไทฟอยด์ 19% และโรคไวรัสตับอักเสบเอ 30% แนะประชาชนกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ฉีดวัคซีนตามมาตรฐาน
เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2557 นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุม DDC Forum เรื่อง "การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพ ปี 2557" ว่า จากการประเมินการเกิดโรคย้อนหลัง 10 ปี ทำให้สามารถพยากรณ์โรคที่อาจจะเกิดขึ้นในปีนี้ 4 กลุ่มโรค คือ
1. โรคที่มากับอาหารและน้ำ เช่น โรคอหิวาตกโรค คาดว่าถ้าไม่มีการเฝ้าระวังและควบคุมโรคที่ดี น่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 280-340 ราย หรือเพิ่มขึ้น 3.8 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2556
ทั้งนี้ โรคดังกล่าวจะมีลักษณะการระบาดปีเว้นสองปี นอกจากนี้ยังมีโรคที่น่าเป็นห่วงอีกคือโรคไทฟอยด์ คาดว่าจะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นประมาณ 2,700-3,300 ราย หรือเพิ่มขึ้น 19% เมื่อเทียบกับปี 2556 ขณะที่โรคไวรัสตับอักเสบเอ คาดว่าจะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นประมาณ 430-520 ราย หรือเพิ่มขึ้น 30% เมื่อเทียบกับปี 2556
2. กลุ่มโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน เช่น โรคสุกใส คาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 58,000-71,000 ราย หรือเพิ่มขึ้น 33% เมื่อเทียบกับปี 2556 โดยในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยสูงสุดอยู่ในช่วง ม.ค., ก.พ. หรือ มี.ค. โดยเกิดในกลุ่มคนที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน ทั้งจากการที่ประชากรไม่คงที่ มีการเกิด การตาย การย้ายถิ่น ทำให้มีการสะสมของคนที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน กลุ่มคนไม่เคยเป็นโรคสุกใสมาก่อน คนที่ไม่ได้รับวัคซีนสุกใส เพราะไม่ได้อยู่ในตารางเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และฤดูกาลทำให้ระยะการถ่ายทอดโรคยาวนานขึ้น เช่น ฤดูหนาว ทำให้ไวรัสมีชีวิตอยู่ได้ยาวนานขึ้น จึงมีโอกาสถ่ายทอดโรคได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีโรคไอกรน
3. กลุ่มโรคที่เกี่ยวกับประสาทและสมอง เช่น โรคไข้สมองอักเสบ คาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 680-830 ราย เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับปี 2556 เพราะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าปี 2547-2549 มีอัตราป่วยคงที่ แต่ในช่วงปี 2550-2555 อัตราป่วยกลับมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะเดือน มิ.ย. ปี 2555 ที่มีอัตราการเกิดโรคสูงกว่าที่คาดการณ์
นอกจากนี้ ยังมีโรคไข้กาฬหลังแอ่น คาดว่าจะมีผู้ป่วยในปี 2557 ประมาณ 14-17 ราย เพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบกับปี 2556 โดยโรคไข้กาฬหลังแอ่นเป็นโรคที่มีอุบัติการณ์ค่อนข้างต่ำ พบผู้ป่วยตลอดทั้งปีและทุกภาคทั่วประเทศ จำนวนผู้ป่วยจะกระจายเดือนละประมาณ 1-3 ราย ปีที่พบผู้ป่วยมากกว่าค่าปกติที่คาดการณ์ไว้คือ ปี 2547 มีจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด 50 ราย และปี 2549 มีจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด 35 ราย และกลุ่มที่ 4 คือกลุ่มโรคที่มาจากสัตว์ เช่น พิษสุนัขบ้า
ส่วนคำแนะนำสำหรับโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ นพ.โสภณ แนะให้ยึดหลักป้องกันการป่วยด้วยมาตรการ "กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ" ส่วนโรคสุกใส ปัจจัยเสี่ยงเกิดจากการร่วมกิจกรรมคลุกคลีกับผู้ป่วย เมื่อมีอาการป่วยให้รีบไปหาแพทย์ทันที ในบางรายแพทย์อาจให้ยาต้านไวรัสเพื่อลดความรุนแรง
ถัดไปโรคไข้สมองอักเสบ พ่อแม่ต้องพาเด็กไปรับการฉีดวัคซีนให้ครบตามเกณฑ์มาตรฐาน ที่สำคัญคือจากสถิติปีล่าสุดที่พบว่ามีผู้ป่วยประมาณ 700-800 รายนั้น ยังไม่ทราบว่ามาจากเชื้อตัวไหน จึงต้องมีการตรวจหาสาเหตุของโรคในผู้ป่วยทุกราย อย่างไรก็ตาม ตนยังเป็นห่วงในกลุ่มคนที่อยู่ห่างไกล คนด้อยโอกาสและคนต่างด้าว
ส่วนโรคไข้กาฬหลังแอ่น แนะนำให้หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด เมื่อมีอาการป่วยให้รีบไปหาแพทย์ทันที สำหรับโรคไวรัสตับอักเสบเอ เราพบมากขึ้น พบว่ามีเชื้อไวรัสปนอยู่ในน้ำแข็ง
"ตอนนี้เข้าสู่ช่วงหน้าแล้ง อากาศร้อนจัดยิ่งน่าเป็นห่วง เพราะจะมีน้ำน้อย คนไม่ค่อยล้างมือ และอากาศร้อน ๆ ยิ่งทำให้เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดี" นพ.โสภณ กล่าว
ขอขอบคุณข้อมูลจาก