ดัชนีมวลกาย วิธีหาค่า BMI เช็กกันหน่อยไหมคุณอ้วนหรือยัง ?


          ดัชนีมวลกาย MBI หาค่าอย่างไร แล้วลองมาเช็กดูซิว่า ค่าดัชนีมวลกายของเราอยู่ในเกณฑ์ไหน วิธีวัดค่า BMI ยังไง เรามีคำตอบ

ดัชนีมวลกาย

          จะว่าไป บางทีเราก็ไม่รู้ตัวเหมือนกันนะว่าตอนนี้ตัวเอง "อ้วน" หรือ "ผอม" เกินไป เพราะดูเผิน ๆ แค่รูปร่างภายนอกก็สรุปไม่ได้เหมือนกันว่า น้ำหนักกับส่วนสูงของเราสมดุลกันหรือเปล่า แต่เรามีวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้คุณรู้ตัวเองได้ว่าตอนนี้รูปร่างของคุณอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือผิดปกติไหมนะ นั่นก็คือ การหาค่าดัชนีมวลกาย หรือ วัดค่า BMI นั่นเอง

ดัชนีมวลกายคืออะไร


          ดัชนีมวลกาย หรือ Body Mass Index (BMI) เป็นค่าดัชนีที่คำนวณจากน้ำหนักและส่วนสูง เพื่อใช้เปรียบเทียบความสมดุลระหว่างน้ำหนักตัวต่อความสูงของมนุษย์นั่นเอง ซึ่ง Adolphe Quetelet ชาวเบลเยียม เป็นผู้คิดค้นขึ้น และถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายเลยทีเดียว

ดัชนีมวลกาย

วิธีวัดค่า BMI หาค่าดัชนีมวลกายได้อย่างไร ?


          วิธีวัดค่า BMI ง่าย ๆ แค่ต้องรู้ตัวเลข 2 อย่าง คือ "น้ำหนักของตัวเอง" (หน่วยเป็นกิโลกรัม) และ "ส่วนสูงของตัวเอง" (หน่วยเป็นเมตร) ตัวอย่างเช่น 

          น้ำหนัก 60 กิโลกรัม ส่วนสูง 160 เซนติเมตร หรือเท่ากับ 1.6 เมตร ก็จำเลข 60 กิโลกรัม กับส่วนสูง 1.6 เมตร เอาไว้ ถ้าพร้อมแล้วก็มาลองคำนวณดัชนีมวลกายของตัวเองดูกันเลย

สูตรคำนวณดัชนีมวลกาย


BMI = น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) ÷ ส่วนสูง (เมตร) ยกกำลังสอง

          ถ้าเราหนัก 60 กิโลกรัม สูง 1.6 เมตร ก็จะคำนวณได้เป็น 60 ÷ (1.6x1.6) = 23.43

          จำตัวเลขที่เราคำนวณไว้ให้ดีนะจ๊ะ เพราะเราจะนำตัวเลขที่ออกมานี้แหละไปเทียบกับเกณฑ์ต่อไปนี้

เกณฑ์ประเมินค่าดัชนีมวลกาย


วิธีหาค่า BMI

แบบที่ 1 : กำหนดโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) โดยใช้สำหรับผู้มีอายุ 20 ปีขึ้นไป

             ► ค่าที่ได้น้อยกว่า 18.5 "คุณผอมเกินไป"

             ► ค่าที่ได้อยู่ระหว่าง 18.5-24.9 "คุณอยู่ในเกณฑ์เหมาะสม น้ำหนักตัวปกติ"

             ► ค่าที่ได้อยู่ระหว่าง 25-29.9 "คุณน้ำหนักเกิน แต่ยังไม่เรียกว่าอ้วน"

             ► ค่าที่ได้อยู่ระหว่าง 30-34.9 "คุณอ้วนแล้ว จัดเป็นโรคอ้วนระดับที่ 1"

             ► ค่าที่ได้อยู่ระหว่าง 35-39.9 "คุณอ้วนแล้ว จัดเป็นโรคอ้วนระดับที่ 2"

             ► ค่าที่ได้มากกว่าหรือเท่ากับ 40 "คุณอ้วนเกินไป อันตรายมาก !!!"

          เห็นเกณฑ์ข้างต้น หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมตัวเลขเกณฑ์ที่ใช้เปรียบเทียบไม่ตรงกับที่เคยรู้มา อันนี้ต้องบอกก่อนค่ะว่า ค่านี้เป็นค่าที่ใช้ในประเทศเมืองหนาว แต่ถ้านำมาเทียบกับคนเอเชีย ซึ่งเป็นเมืองร้อน จะมีการปรับเปลี่ยนตัวเลขนิดหน่อย เพื่อให้เหมาะสมกับเมืองร้อนที่ไม่จำเป็นต้องมีไขมันไว้ปกป้องร่างกายจากอากาศหนาว ๆ มากนัก 


แบบที่ 2 : ค่าดัชนีมวลกายที่เหมาะสมสำหรับชาวเอเชีย

             ► ค่าที่ได้น้อยกว่า 18.5 "คุณผอมเกินไป"

             ► ค่าที่ได้อยู่ระหว่าง 18.5-22.9 "คุณอยู่ในเกณฑ์เหมาะสม น้ำหนักตัวปกติ"

             ► ค่าที่ได้อยู่ระหว่าง 23-24.9 "คุณน้ำหนักเกิน แต่ยังไม่เรียกว่าอ้วน"

             ► ค่าที่ได้มากกว่า 25-29.9 "คุณอ้วนแล้ว จัดเป็นโรคอ้วนระดับที่ 1"

             ► ค่าที่ได้มากกว่า 30 "คุณอ้วนเกินไป เสี่ยงที่จะเกิดโรคที่มาจากความอ้วน"

          ดังนั้น จากที่เราคำนวณได้ค่า 23.43 ถ้าเป็นคนเอเชียก็เท่ากับน้ำหนักเกินไปนิดหน่อยจ้า แต่ยังไม่เรียกว่าอ้วนนะ

          อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องบอกก็คือ ค่าดังกล่าวไม่สามารถใช้ได้กับคนที่มีมวลกล้ามเนื้อมาก ๆ อย่างนักกีฬา นักเพาะกาย หรือหนุ่ม ๆ ที่ชอบฟิตกล้ามนะ เพราะคนกลุ่มนี้อาจจะมีน้ำหนักมาก แต่ก็ไม่จัดว่าอ้วน

          ลองนำสูตรนี้ไปคำนวณกับตัวเองดูได้เลย อย่างน้อยก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่เตือนให้เราได้รู้ตัวกันเนอะ เพราะถ้าอ้วนเกินไป รับรองว่าต้องเจอโรคร้ายมารุมเร้าแบบไม่ต้องกวักมือเรียกแน่นอน จะได้รีบปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยไว ยิ่งปรับเร็วเท่าไรก็ยิ่งดีเท่านั้น

ขอบคุณข้อมูลจาก : องค์การอนามัยโลก, NCBI, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, สสส.    


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ดัชนีมวลกาย วิธีหาค่า BMI เช็กกันหน่อยไหมคุณอ้วนหรือยัง ? อัปเดตล่าสุด 4 เมษายน 2567 เวลา 15:10:27 196,484 อ่าน
TOP
x close