กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แนะวิธีป้องกันอันตรายจากด้วงก้นกระดก (กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์)
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แนะวิธีป้องกันอันตรายจากด้วงก้นกระดก พร้อมเตือนให้ระวังด้วงน้ำมัน ลักษณะคล้ายด้วงกระดก ห้ามกินเด็ดขาดเพราะมีพิษ
เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2557 นายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ด้วงก้นกระดกหรือบางครั้งเรียกว่าแมลงเฟรชชี่ เนื่องจากพบมากเมื่อเริ่มเปิดเทอมนั้น เป็นแมลงที่มีขนาดเล็ก ความยาวประมาณ 4-7 มิลลิเมตร ชนิดที่พบบ่อยในบ้านเราคือ Paederus fuscipes ซึ่งมีลำตัวสีส้มสลับดำ ปีกคู่แรกแข็งสั้นสีดำเป็นมัน ส่วนท้องยาวออกมานอกปีก สังเกตเห็นได้ง่าย ปลายท้องสีดำ อาศัยอยู่ตามกองมูลสัตว์ ดินใต้หินและกองไม้หรือต้นพืชที่มีลักษณะเป็นเถาปกคลุม ไม่ได้กัดกินเลือดคนเป็นอาหาร แต่จะชอบบินเข้ามาเล่นไฟในบ้านเรือนในเวลากลางคืน จึงทำให้มีโอกาสที่คนจะได้สัมผัสกับแมลงชนิดนี้
พิษของด้วงก้นกระดกเกิดจากสารพิษพีเดอริน (Pederin) ที่อยู่ภายในลำตัวของแมลง เมื่อแมลงไต่ขึ้นมาตามร่างกาย แล้วไปตบตีหรือทำให้ลำตัวแตกหัก สารพิษจะซึมเข้าสู่ผิวหนัง และร่างกาย ทำให้เกิดเป็นแผลพุพอง บวมแดงและปวดแสบปวดร้อน ถ้าเราถูที่บาดแผล พิษจะกระจายเป็นผื่นพุพองเป็นวงกว้างมากขึ้นและเป็นนานหลายวัน เมื่อแผลทุเลาแล้วจะยังเป็นรอยดำอีกระยะหนึ่ง และต้องระวังไม่ให้สารพิษเข้าตา เพราะจะทำให้ตาอักเสบจนถึงกับตาบอดได้
ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงไม่ไปสัมผัสกับแมลงชนิดนี้ ถ้าพบแมลงไต่ขึ้นมาตามร่างกาย ห้ามตีหรือบี้ แต่ควรใช้กระดาษทิชชูหนา ๆ ค่อย ๆ หยิบแมลงออกจากร่างกาย ส่วนนักเรียนนักศึกษาที่อ่านหนังสือเวลาค่ำคืนควรใช้ไฟตั้งโต๊ะให้แสงส่องในบริเวณที่ต้องการ อยู่ในห้องที่มีมุ้งลวดและหมั่นดูแลซ่อมแซม อย่าให้มุ้งลวดมีรอยฉีกขาด แต่ถ้าผิวหนังถูกน้ำพิษของด้วงก้นกระดกแล้วห้ามแกะเกา เพราะจะทำให้น้ำพิษกระจายเป็นวงกว้างมากขึ้น ให้รีบล้างแผลให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำ แล้วใช้ยาปฏิชีวนะประเภทครีม ทาบริเวณที่ถูกพิษ ถ้ามีอาการคันหรือปวดแสบปวดร้อนให้ทาด้วยน้ำยาคาลาไมล์ กรณีที่ตุ่มแผลแตกแล้วเป็นหนองจากการติดเชื้อซ้ำหรือมีอาการรุนแรงควรไปพบแพทย์
ด้วงน้ำมัน
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่ออีกว่า นอกจากด้วงก้นกระดกแล้ว จะมีแมลงพิษอีกชนิดหนึ่งคือ ด้วงน้ำมันที่คนมักจะสับสนกับด้วงก้นกระดก ด้วงน้ำมันเป็นแมลงปีกแข็งอีกจำพวกหนึ่ง ตัวมีขนาดใหญ่กว่า ด้วงก้นกระดกมากคือ มีลำตัวยาว 2-3 เซนติเมตร
อันตรายจากแมลงชนิดนี้คือชาวบ้านมักเข้าใจผิดคิดว่า เป็นแมลงที่กินได้ จึงนำไปเผาไฟแล้วนำมากินจนเกิดอันตรายถึงกับเสียชีวิต เนื่องจากสารพิษชนิดแคนทาริดิน (Cantharidin) อยู่ในตัวของแมลง สารพิษชนิดนี้จะไม่ถูกทำลายแม้นำแมลงมาเผาไฟหรือนำมาปรุงเป็นอาหาร
ด้วงน้ำมันเป็นแมลงที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เคยได้รับตัวอย่างส่งมาตรวจวิเคราะห์หลายครั้ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 จนถึงปัจจุบัน เนื่องจากมีประชาชนนำไปกินแล้วเกิดพิษ ทำให้เจ็บป่วยหรือบางรายถึงกับเสียชีวิต ซึ่งตามปกติ เมื่อด้วงน้ำมันถูกรบกวนจะขับสารพิษออกมาทันที เมื่อสัมผัสถูกกับผิวหนังจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองอย่างรุนแรง และเกิดเป็นผื่นพอง ปวดแสบปวดร้อน ถ้าเข้าตาจะทำให้ตาอักเสบจนถึงกับทำให้ตาบอดได้เช่นกัน
ถ้ากินด้วงน้ำมันเข้าไปจะมีอาการคออักเสบ กลืนอาหารลำบาก ปวดท้อง คลื่นไส้ อุจจาระร่วง อาเจียนเป็นเลือด ความดันโลหิตลดลง ปัสสาวะเป็นเลือด สลบ และอาจทำให้เสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลว ถ้าได้รับพิษในปริมาณมากคือกินด้วงน้ำมันมากกว่า 3 ตัว
ในประเทศไทยพบด้วงชนิดนี้แล้วประมาณ 13 ชนิด โดยทุกชนิดมีพิษแบบเดียวกัน ชนิดที่พบบ่อยและประชาชนเคยเสียชีวิตจากการรับประทานมาแล้วมี 3 ชนิด
ชนิดแรกคือ Mylabris phalerata มีลักษณะคือ หัว อก ลำตัว และขาสีดำ มีปีกแข็ง มีลายขวางสีเหลืองส้มสลับดำ โดยจะเป็นสีเหลืองส้ม 3 แถบ ดำ 3 แถบ ลำตัวยาว 2-3 เซนติเมตร
ชนิดที่สองคือชนิด Epicauta hirticornis มีลักษณะคือ หัวสีน้ำตาล อก ลำตัว ขา และปีกสีดำ ไม่มีลายบนปีกแข็ง ขนาดของลำตัว ยาว 1.5-2.2 เซนติเมตร
ชนิดที่สาม Epicauta maliculi ลำตัวมีขนาดยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร มีลักษณะที่สำคัญคือ ปีกคู่หน้ามีสีเหลืองและปลายปีกสีดำ หัวสีแดง
ด้วงน้ำมันมักพบอยู่ตามต้นแค ต้นโสน พืชตระกูลถั่ว มะเขือเทศ และปอ โดยจะบินเป็นกลุ่มมากินใบและดอกของพืชเหล่านี้ เมื่อชาวบ้านมาพบเห็นเข้ามักจะเข้าใจผิดจับมากิน โดยคิดว่าเป็นอาหารหรือเป็นยาบำรุงกำลัง ดังนั้นเราจึงควรป้องกันตัวเองโดยห้ามจับแมลงที่มีลักษณะดังกล่าวมากินโดยเด็ดขาดและไม่ไปกระตุ้นหรือสัมผัสกับแมลงเหล่านี้ รวมทั้งห้ามกินแมลงชนิดใด ๆ ที่ไม่รู้จัก ถ้าร่างกายถูกพิษของด้วงน้ำมันสามารถรักษาได้เช่นเดียวกับการถูกพิษของด้วงก้นกระดก แต่ถ้าได้รับพิษจากการกินด้วงน้ำมันต้องรีบไปพบแพทย์ทันที พร้อมทั้งนำตัวอย่างแมลงไปแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยเพื่อให้สามารถรักษาได้ทันท่วงที
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์