สธ. เตือนภัย ฟ้าผ่าฝนฟ้าคะนองห้ามใช้โทรศัพท์-ท่องเน็ต


โทรศัพท์มือถือ


สธ. เตือนภัยช่วงฝนตกฟ้าคะนอง ห้ามใช้ฮัลโหลทั้งมือถือ โทรศัพท์บ้าน ท่องเน็ต  เสี่ยงฟ้าผ่า!! (กระทรวงสาธารณสุข)

          สธ. ย้ำเตือนภัยฟ้าผ่า ห้ามประชาชนใช้โทรศัพท์มือถือ โทรศัพท์บ้าน รวมทั้งการเล่นอินเทอร์เน็ต ขณะเกิดฝนฟ้าคะนอง เสี่ยงถูกฟ้าผ่าเสียชีวิตได้ แนะหากเส้นขนหรือเส้นผมลุกชัน ขณะที่อยู่ใต้ก้อนเมฆฟ้าฝนครึ้ม ถือเป็นสัญญาณเสี่ยงภัย
         
          เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2557 นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงหน้าฝนนี้มักมีข่าวประชาชนเสียชีวิตจากฟ้าผ่าอยู่เนือง ๆ โดยเฉพาะช่วงนี้ สภาพอากาศร้อนอบอ้าวและมีความชื้นสูง หากมีพายุฝน ฟ้าคะนองจะมีโอกาสเกิดฟ้าผ่าได้ง่าย ดังนั้นในช่วงฤดูฝนประชาชนจึงมีโอกาสอย่างมากจากการถูกฟ้าผ่า

          โดยจากข้อมูลการเฝ้าระวังการบาดเจ็บรุนแรงจากการถูกฟ้าผ่า (Lightening-related injuries) ของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ร่วมกับโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่อยู่ในเครือข่ายการเฝ้าระวังการบาดเจ็บแห่งชาติ 33 แห่ง ของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ในรอบ 5 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2551-2555 มีผู้ถูกฟ้าผ่า 180 ราย เสียชีวิต 46 ราย คิดเป็นอัตราตายร้อยละ 26  

          ผู้บาดเจ็บส่วนใหญ่เป็นชาย และอยู่ในวัยแรงงานอายุ 20 - 49 ปี หากแยกตามอาชีพจะพบว่าเกษตรกรถูกฟ้าผ่ามากอันดับ 1 ร้อยละ 46 รองลงมาเป็นนักเรียน นักศึกษา ร้อยละ 40 และผู้ใช้แรงงานร้อยละ 9 เหตุมักเกิดในช่วงเวลา 14.00-17.00 น. สถานที่เกิดเหตุส่วนใหญ่เป็นนา ไร่ สวน โดยพบว่าผู้บาดเจ็บการถูกฟ้าผ่าในปี 2555 ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วยร้อยละ 11 สูงขึ้นจากปี พ.ศ. 2554 ประมาณ 3 เท่าตัว

          นายแพทย์ณรงค์ กล่าวต่อว่า ภัยจากจากฟ้าผ่าเป็นปรากฏการณ์ที่น่ากลัว และมีอันตรายสูง โดยลักษณะของฟ้าผ่าแบ่งเป็น 4 แบบ คือ

          1. ฟ้าผ่าภายในก้อนเมฆ
          2. ฟ้าผ่าระหว่างก้อนเมฆ
          3. ฟ้าผ่าจากฐานเมฆลงสู่พื้นเรียกว่า ฟ้าผ่าแบบลบ
          4. ฟ้าผ่าจากยอดเมฆลงสู่พื้น เรียกว่าฟ้าผ่าแบบบวก

          โดยฟ้าผ่าแบบลบและแบบบวกนั้น จะทำอันตรายต่อคน สัตว์ และสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่บนพื้นดินหรือพื้นน้ำ ทั้งนี้ ฟ้าผ่าแบบลบจะผ่าลงบริเวณใต้เงาของเมฆฝนฟ้าคะนองเป็นหลัก ส่วนฟ้าผ่าแบบบวกสามารถผ่าได้ไกลออกไปจากก้อนเมฆประมาณ 40 กิโลเมตร ในเวลาอันรวดเร็วภายในเวลา 1 วินาที มักจะเกิดในช่วงท้ายของพายุฝนฟ้าคะนองคือหลังจากที่ฝนซาแล้ว

          "ประชาชนไทยขณะนี้ โดยทั่วไปมักจะไม่มีอุปกรณ์หรือเครื่องมือช่วยตรวจวัดความเสี่ยงของการเกิดฟ้าผ่า แต่มีวิธีการสังเกตสัญญาณความเสี่ยง โดยหากมีเมฆฝนฟ้าคะนองอยู่บนเหนือศีรษะแล้วปรากฏว่าเส้นขนบนผิวหนังลุกชันขึ้น หรือเส้นผมบนศีรษะลุกตั้งขึ้น แสดงว่ากำลังเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า หรือหากเกิดพายุฝนฟ้าคะนองใกล้ตัวในระยะประมาณ 16 กิโลเมตรแล้วมีฟ้าแลบหรือฟ้าผ่า และได้ยินเสียงฟ้าร้องหลังฟ้าแลบน้อยกว่า 30 วินาที แสดงว่าอยู่ใกล้เขตเสี่ยงฟ้าผ่า ต้องเพิ่มความระมัดระวัง" นายแพทย์ณรงค์ กล่าว


วิธีป้องกันตัวจากฟ้าผ่า

          ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วิธีป้องกันตัวให้ปลอดภัยจากฟ้าผ่ามีข้อแนะนำดังนี้

          1. หากอยู่ในที่โล่งให้หาที่หลบที่ปลอดภัย เช่น อาคารขนาดใหญ่  แต่อย่าอยู่ใกล้ผนังอาคาร ประตูและหน้าต่าง หรือควรหลบในรถยนต์ที่ปิดกระจกมิดชิด แต่อย่าสัมผัสกับตัวถังรถ 

          2. หากหาที่หลบไม่ได้ ให้หมอบนั่งยอง ๆ ให้ตัวอยู่ต่ำที่สุด โดยแนบมือทั้งสองข้างติดกับเข่า แล้วซุกศีรษะเข้าไประหว่างเข่า ส่วนเท้าให้ชิดกันหรือเขย่งปลายเท้า เพื่อลดพื้นที่สัมผัสกับพื้นให้น้อยที่สุด แต่อย่านอนหมอบกับพื้น เพราะกระแสไฟฟ้าอาจวิ่งมาตามพื้นได้  

          3. อย่ายืนหลบอยู่ใต้ต้นไม้สูงและบริเวณใกล้เคียงกับต้นไม้ หรืออยู่ในที่สูงและใกล้ที่สูง ที่สำคัญอย่ากางร่ม

          4. ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือกลางแจ้งในขณะที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง เพราะแม้ว่าโทรศัพท์มือถือจะไม่ใช่สื่อล่อฟ้า แต่ฟ้าผ่าจะเหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้าเข้ามาในมือถือ อีกทั้งโทรศัพท์มือถือมีส่วนประกอบที่เป็นแผ่นโลหะ สายอากาศและแบตเตอรี่ที่เป็นตัวล่อฟ้า จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า และยังทำให้แบตเตอรี่ลัดวงจรจนเกิดระเบิด ส่งผลให้ผู้ถูกฟ้าผ่าได้รับบาดเจ็บมากขึ้น

          5. ห้ามใช้โทรศัพท์บ้านหรือเล่นอินเทอร์เน็ตในขณะที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง เพราะฟ้าอาจผ่าลงมาที่เสาสัญญาณหรือเสาอากาศที่อยู่นอกบ้าน และกระแสไฟจากฟ้าผ่าจะวิ่งมาตามสายโทรศัพท์ที่เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ ทำให้โทรศัพท์และคอมพิวเตอร์ รวมทั้งผู้ใช้งานได้รับอันตราย

          6 .ควรถอดอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าออกให้หมด เพราะฟ้าอาจผ่าลงที่เสาไฟฟ้าหรือสายไฟฟ้า ทำให้กระแสไฟฟ้ากระชากเครื่องใช้ไฟฟ้า อาจทำให้เสียได้ และควรดึงเสาอากาศของโทรทัศน์ออก เพราะหากฟ้าผ่าที่เสาอากาศบนหลังคาบ้าน อาจวิ่งเข้าสู่โทรทัศน์ได้

          7. หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับโลหะทุกชนิด เนื่องจากโลหะเป็นตัวนำไฟฟ้าและอย่าอยู่ใกล้สายไฟ

          8. หลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำ เพราะเป็นตัวนำไฟฟ้า

          9. ควรเตรียมไฟฉายไว้ส่องดูทาง เพราะอาจเกิดไฟดับหรือไฟไหม้ได้ 

          นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อว่า สำหรับวิธีปฐมพยาบาลผู้ถูกฟ้าผ่า ให้สังเกตก่อนว่าในบริเวณที่เกิดเหตุยังมีความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่าหรือไม่ ถ้ามีให้เคลื่อนย้ายผู้ถูกฟ้าผ่าไปยังตำแหน่งที่ปลอดภัย เพื่อป้องกันตัวเราเองจากการถูกฟ้าผ่า และสามารถแตะต้องตัวผู้ถูกฟ้าผ่าได้ทันที เนื่องจากคนที่ถูกฟ้าผ่าจะไม่มีกระแสไฟฟ้าหลงเหลืออยู่ในตัว ซึ่งต่างจากผู้ที่ถูกไฟฟ้าดูดหรือไฟฟ้าช็อต ดังนั้น จึงไม่ต้องกลัวว่าเราจะถูกไฟฟ้าดูด

          โดยการปฐมพยาบาลผู้ถูกฟ้าผ่าจะใช้วิธีเดียวกับผู้ที่ถูกไฟฟ้าช็อต กล่าวคือ หากหมดสติ ไม่รู้ตัว หัวใจหยุดเต้น และไม่หายใจ ซึ่งสังเกตได้จากอาการที่เกิดขึ้นคือ ริมฝีปากเขียว สีหน้าซีดเขียวคล้ำ ทรวงอกเคลื่อนไหวน้อยมากหรือไม่เคลื่อนไหว ชีพจรบริเวณคอเต้นช้าและเบามาก ถ้าหัวใจหยุดเต้นจะคลำชีพจรไม่ได้ หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ขอให้ช่วยผายปอดทันทีก่อนนำส่งโรงพยาบาล ด้วยการให้ลมทางปากหรือที่เรียกว่า "การเป่าปาก" ร่วมกับนวดหัวใจเพื่อให้ปอดและหัวใจทำงาน โดยให้วางมือตรงกึ่งกลางลิ้นปี่เล็กน้อย

          กรณีทำการปฐมพยาบาลคนเดียวให้นวดหัวใจ 15 ครั้ง สลับกับการเป่าปาก 2 ครั้ง ถ้าทำการปฐมพยาบาลสองคน ให้นวดหัวใจ 5 ครั้งสลับกับการเป่าปาก 1 ครั้ง ก่อนนำผู้ป่วยส่งแพทย์ต่อไป ประชาชนที่สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักโรคจากการประกอบอาชีพ โทร. 025904395 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422" นายแพทย์โสภณ กล่าว


ขอขอบคุณข้อมูลจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สธ. เตือนภัย ฟ้าผ่าฝนฟ้าคะนองห้ามใช้โทรศัพท์-ท่องเน็ต อัปเดตล่าสุด 15 พฤษภาคม 2557 เวลา 11:40:48 9,015 อ่าน
TOP
x close