x close

วิธีป้องกันงูกัด-ปฐมพยาบาลอย่างไร เรื่องใกล้ตัวที่ต้องรู้ !

          วิธีป้องกันงูกัด งูชนิดไหนมีพิษบ้าง หากถูกกัดแล้วจะมีอาการอย่างไร แล้วจะปฐมพยาบาลอย่างไร เรื่องใกล้ตัวที่ต้องรู้รับฤดูฝน
งูกัด

          ฤดูฝนไม่ได้มาพร้อมกับสายฝนที่ชุ่มฉ่ำเท่านั้น แต่จะไปไหนมาไหนก็ต้องระวังสัตว์มีพิษชนิดต่าง ๆ ที่พบได้บ่อยในช่วงนี้ด้วย โดยเฉพาะ "งู" ที่อาศัยอยู่ตามสภาพแวดล้อมใกล้ตัว เพราะหากไม่ระวังก็เสี่ยงถูกงูพิษกัดจนเสียชีวิตได้เลย

          สำหรับเรื่องของงูนั้น นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ ได้ให้ความรู้เพื่อแจ้งเตือนให้พวกเราได้ระวังกันว่า งูมีอยู่หลายชนิด ทั้งมีพิษและไม่มีพิษ หากถูกงูพิษกัดจะมีรอยเขี้ยว 1-2 แผลเสมอ และมีเลือดออกซึม ๆ แต่ถ้าถูกงูกัดแล้วไม่พบรอยเขี้ยว แสดงว่านั่นไม่ใช่งูพิษ

งูกัด


          ทั้งนี้ งูพิษที่คนถูกกัดบ่อย ๆ นั้นมีอยู่ 7 ชนิด คือ งูเห่า งูจงอาง งูกะปะ งูเขียวหางไหม้ งูแมวเซา งูสามเหลี่ยม และงูทับสมิงคลา ซึ่งเราสามารถจำแนกพิษของงูได้เป็น 4 ประเภท คือ

           1. พิษต่อระบบประสาท ได้แก่ พิษของงูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยม ทำให้เกิดอัมพาตของกล้ามเนื้อ ลืมตาไม่ได้ กลืนลำบาก เสียชีวิตได้

           2. พิษต่อโลหิต ได้แก่ พิษของงูแมวเซา งูกะปะ งูเขียวหางไหม้ ทำให้มีเลือดออกตามที่ต่าง ๆ ตามผิวหนัง เหงือก อาเจียนเป็นเลือด

           3. พิษต่อกล้ามเนื้อ ได้แก่ พิษงูทะเล ปวดกล้ามเนื้อมาก ปัสสาวะสีดำเนื่องจากกล้ามเนื้อถูกทำลาย

           4. พิษต่อกล้ามเนื้อหัวใจ ได้แก่ พิษงูเห่า งูจงอาง ทำให้ลืมตาไม่ขึ้น น้ำลายมากกลืนลำบาก เกิดอัมพาตของกล้ามเนื้อที่ช่วยในการหายใจ

          ในส่วนวิธีการป้องกันงูกัดนั้น ทำได้โดยการหลีกเลี่ยงการเดินในที่แคบ หรือบริเวณที่รกมีหญ้าสูง ถ้าจำเป็นต้องเดินผ่านควรใส่รองเท้าหุ้มข้อเท้า กางเกงขายาว เสื้อแขนยาว เตรียมไฟฉายและไม้

          แต่หากถูกงูกัดแล้วควรปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยการล้างแผลด้วยน้ำสะอาด ไม่ควรใช้เหล้า ยาสีฟัน หรือสิ่งอื่น ๆ ทาแผล ไม่ควรใช้ปากดูดเลือด ไม่ควรใช้ผ้าหรือเชือกรัดเหนือบริเวณที่ถูกกัดแน่นเกินไป หากจะรัดควรรัดให้แน่นพอที่สามารถสอดนิ้วมือเข้าใต้วัสดุที่ใช้รัดได้ 1 นิ้วมือ รัดทั้งเหนือและใต้แผลประมาณ 3 นิ้วมือ และรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด
 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิธีป้องกันงูกัด-ปฐมพยาบาลอย่างไร เรื่องใกล้ตัวที่ต้องรู้ ! อัปเดตล่าสุด 7 ธันวาคม 2564 เวลา 10:06:51 32,019 อ่าน
TOP