โรคพิษสุนัขบ้า อันตรายถึงชีวิต แนะฉีดวัคซีนป้องกัน


โรคพิษสุนัขบ้า


เตือนภัย !! พิษสุนัขบ้า อันตรายถึงชีวิต (กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์)

          กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เตือนระวังโรคพิษสุนัขบ้า ชี้ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อและแสดงอาการจะเสียชีวิตทุกราย แนะประชาชนกลุ่มเสี่ยงควรฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรค

          เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2557 นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า โรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคกลัวน้ำ เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยมีเชื้อเรบีส์ไวรัส (Rabies virus) เป็นสาเหตุของโรค ซึ่งในประเทศไทยจะพบมากในสุนัขและแมว ขณะที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น ลิง กระรอก หนู โค กระบือ ก็สามารถเป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้เช่นกัน

          ทั้งนี้ เชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าสามารถติดต่อสู่คนได้โดยถูกสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด ระยะเวลาที่เชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายจนแสดงอาการส่วนใหญ่ใช้เวลาประมาณ 2-8 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น ความรุนแรงของบาดแผล ปริมาณของเชื้อที่ได้รับ และโรคนี้สามารถเกิดได้ตลอดทั้งปีไม่ใช่เฉพาะหน้าร้อน

          อาการของผู้ป่วยจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

          กลุ่มที่ 1 แบบคลุ้มคลั่ง อาจมีอาการกระวนกระวาย ระบบประสาทอัตโนมัติผิดปกติ ประสาทหลอน อาจมีชัก หายใจหอบ หมดสติและเสียชีวิตในที่สุด  

          กลุ่มที่ 2 แบบอัมพาต เป็นอาการที่พบได้น้อย โดยมีอาการอัมพาตของแขน ขา พูดไม่ชัด น้ำลายมาก มีอาการกลัวน้ำ กลัวลม พบได้ประมาณร้อยละ 50 หลังแสดงอาการ จะอยู่ได้นานกว่าแบบคลุ้มคลั่งและจะเสียชีวิตในที่สุด

          ดังนั้น เมื่อถูกสุนัข แมว หรือสัตว์อื่น ๆ กัด ให้ล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ให้ถึงก้นแผล แล้วล้างสบู่ออกให้หมดและใส่ยาฆ่าเชื้อจะช่วยลดอัตราเกิดโรคได้ถึงร้อยละ 80-90 จากนั้นให้รีบไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุดเพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรค


โรคพิษสุนัขบ้า


          "ปัจจุบันยังไม่มียาที่สามารถรักษาโรคพิษสุนัขบ้าได้ ถ้าคนหรือสัตว์ที่ได้รับเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าและแสดงอาการแล้วจะเสียชีวิตทุกราย แต่สามารถป้องกันโรคได้ด้วยวัคซีน ดังนั้น ผู้มีโอกาสสัมผัสสัตว์ หรือสัตว์เลี้ยงที่บ้านควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตามโปรแกรมที่กำหนด นอกจากนี้ ตาม พ.ร.บ.โรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ.2535 กำหนดให้ลูกสุนัขทุกตัวต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคตั้งแต่อายุ 2-4 เดือน และฉีดซ้ำทุกปีหรือตามที่สัตวแพทย์กำหนด ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 200 บาท และต้องห้อยเหรียญแสดงการฉีดวัคซีนด้วย"

          ทั้งนี้ หากผู้ใดประสงค์ขอรับบริการตรวจวินิจฉัยโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ และตรวจหาระดับภูมิคุ้มกันต่อโรคพิษสุนัขบ้าในคน สามารถส่งตัวอย่างตรวจได้ที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โทร.0-2589-9855, 0-2589-9857 ต่อ 99248




ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก







เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคพิษสุนัขบ้า อันตรายถึงชีวิต แนะฉีดวัคซีนป้องกัน อัปเดตล่าสุด 16 พฤษภาคม 2557 เวลา 16:52:37 1,713 อ่าน
TOP
x close