หูดับ ฟังเสียงดังนาน ๆ ต้องระวัง

          ใครที่มีอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน ความสามารถการได้ยินลดลง แถมยังทำงานอยู่ในสถานที่ที่มีเสียงดัง หรือชอบเปิดเครื่องเล่น MP3 เสียงดังบ่อย ๆ เท่ากับว่าคุณกำลังเสี่ยงกับอาการหูดับอยู่ค่ะ แล้วอาการหูดับ คืออะไร เราอยู่ในกลุ่มเสี่ยงด้วยหรือไม่ วันนี้มีข้อมูลเรื่องหูดับมาฝากกัน

หูดับ

โรคหูดับ คืออะไร

          โรคหูดับ หรือเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Sudden Hearing Loss (SHL) เป็นภาวะสูญเสียการได้ยินอย่างกะทันหัน โดยผู้เป็นโรคหูดับจะมีอาการที่หูได้ยินเสียงน้อยลง หรือไม่ได้ยินเสียงเลย อาจจะเป็นข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้ แต่ส่วนใหญ่มักจะเป็นเพียงข้างเดียว

          อย่างไรก็ตาม ในทางทฤษฎีแล้วนั้น โรคหูดับ หมายถึง ระดับการได้ยินลดลงมากกว่า 30 เดซิเบล เป็นเวลานานเกินกว่า 72 ชั่วโมง แต่ทั้งนี้อาการมักจะปรากฏเด่นชัดในช่วง 2-3 ชั่วโมงแรก อาการรุนแรงมากน้อยแตกต่างกันได้มาก และระดับเสียงที่ไม่ได้ยินอาจเป็นระดับเสียงที่ความดังเท่าใดก็ได้ไม่แน่นอนเสมอไป และอาการของโรคหูดับอาจเป็นเพียงชั่วคราวหรือเกิดขึ้นอย่างถาวรก็ได้

อาการของโรคหูดับ

          จากสถิติพบว่าผู้ป่วยโรคหูดับ 1 ใน 3 มักจะมีอาการหูดับในช่วงเช้า โดยเฉพาะหลังตื่นนอนใหม่ ๆ และมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดศีรษะ อาเจียน เวียนหัว บ้านหมุน มีเสียงดังในหูร่วมด้วย

กลุ่มเสี่ยงโรคหูดับ

          โรคหูดับ เกิดขึ้นได้ทั้งกับเพศชายและเพศหญิง มักเป็นในทุกอายุ ตั้งแต่ 30-60 ปี โดยเฉพาะผู้ที่ต้องทำงานในสถานที่ที่มีเสียงดังมาก ๆ เช่น ดารา นักแสดง พิธีกร นักร้อง ที่ต้องทำงานในสถานที่เสียงดัง รวมทั้งวัยรุ่น วัยทำงานที่ชอบฟังเพลงจากเครื่องเล่น MP3 หรือสมาร์ตโฟน เสียงดัง ๆ

สาเหตุการเกิดโรคหูดับ

          ผู้ป่วยเพียงร้อยละ 10-15 เท่านั้นที่หาสาเหตุได้ว่าอาการหูดับเกิดจากอะไร ที่เหลือไม่พบสาเหตุแน่ชัด แต่มีการศึกษาพบว่า โรคหูดับ หรือเส้นประสาทหูเสื่อม เกิดจากสาเหตุ 4 ประการ คือ

 1. เกิดจากเชื้อไวรัสบางชนิด

          ในบางรายงานทางการแพทย์ พบสาเหตุของโรคหูดับ ว่าเกิดจากไวรัสมากถึงร้อยละ 60 โดยสามารถตรวจพบการเปลี่ยนแปลงทางน้ำเหลืองในห้องปฏิบัติการ โดยไวรัสที่เป็นสาเหตุ ได้แก่ ไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza Type B), ซัยโตเมกาโลไวรัส (CMV), ไวรัสคางทูม (Mumps), รูบิโอลา (Rubeola), ไวรัสสุกใส-งูสวัด (Varicella-zoster) ซึ่งไวรัสเหล่านี้จะไปทำให้หูชั้นในอักเสบได้

 2. เกิดจากภาวะที่หูชั้นในขาดเลือดไปเลี้ยง

          เพราะหูชั้นในมีความไวต่อปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงมาก ดังนั้นหากเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหูชั้นในอุดตัน ตีบหรือแตก ก็อาจทำให้เป็นโรคหูดับได้

 3. ปฏิกิริยาทางอิมมูน

          เนื่องจากพบหลักฐานว่ามีผู้ป่วยโรคออโตอิมมูนหลายชนิด เช่น โรคลูปัส กลุ่มอาการโคแกน ฯลฯ มีอาการหูดับร่วมด้วย จึงเชื่อกันว่าโรคหูดับอาจจะเกิดจากภาวะที่ร่างกายสร้างภูมิต้านทานชนิดแอนติบอดีต่อเนื้อเยื่อตนเอง หรือที่เรียกว่า Autoimmunity

 4. การฉีกขาดของเยื่อภายในหูชั้นใน (Intracochlear Membrane)

          โดยเยื่อดังกล่าวจะทำหน้าที่แยกหูชั้นในออกจากหูชั้นกลาง และแบ่งช่องของสารน้ำที่เป็นของเหลวที่อยู่ภายในหูชั้นใน หากเยื่อนี้ฉีกขาดจะทำให้ของเหลวเกิดการรั่วไหลได้

          อย่างไรก็ตาม การได้ยินเสียงดังมาก ๆ ในทันที เช่น เสียงระเบิด เสียงฟ้าผ่า ก็ทำให้หูดับได้ จนสูญเสียการได้ยินในทันที นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยบางรายเป็นโรคหูดับเพราะความเครียด ไม่ได้นอนพักผ่อนอย่างเพียงพอ อดหลับอดนอน เพราะโหมทำงานหนักมากเกินไป ก็เป็นสาเหตุให้เกิดโรคหูดับได้เช่นกัน

          ทั้งนี้ ยังมีโรคหูดับเฉียบพลัน (Sudden Sensorineural Hearing Loss) ที่อยู่ ๆ ผู้ป่วยเกิดไม่ได้ยินเสียงขึ้นมาเฉย ๆ จนหูดับไปจนเกือบไม่ได้ยินเลยในเวลาไม่เกิน 3 วัน ซึ่งอาการหูดับเฉียบพลันนี้อาจเกิดจาก

          - เนื้องอกของประสาทสมองที่ 8 กดทับเส้นเลือดไปเลี้ยงหูชั้นใน

          - การผิดปกติของเลือด

          - เป็นโรคหลอดเลือด เช่น ความดันสูง การไหลเวียน กระแสโลหิตบกพร่อง หลอดเลือดอักเสบหรืออุดตัน

          - การติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย

          - การฉีกขาดของเยื่อปิดหน้าต่างของหูชั้นใน เช่น ไอ หรือจามรุนแรง เกิดการผสมของน้ำในหู 2 ชนิด

          - การได้รับการผ่าตัดหู

          - ความผิดปกติทางฮอร์โมนและต่อมไร้ท่อ เช่น โรคไทรอยด์

          - ความเครียด ทำให้การหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลของร่างกายหลุดไป

          - การผิดปกติของการเผาผลาญ เช่น โรคเบาหวาน

          - การได้รับการกระทบกระแทกของศีรษะ อาจได้แรงอัดจากหูชั้นกลางสะเทือนไปหูชั้นใน หรือแรงดันสูงของโพรงน้ำในสมอง

          - โรคซิฟิลิสของหูและประสาท

          - ไม่ทราบสาเหตุ

          ส่วนโรคของหูชั้นในที่มีการคั่งของน้ำในหูชั้นในอาจทำให้หูดับได้ทันที แต่อาการจะเป็น ๆ หาย ๆ หลายครั้ง และมีกลุ่มอาการร่วมเป็นชุด คือ หูอื้อ เวียนหัว มีเสียงซ่า ๆ รบกวนในหู เป็นอีกโรคหนึ่งที่เรียกว่า โรคเมเนียร์ (Meniere\'s Disease) โดยมักพบในหญิงที่มีอาย 40-60 ปี มากกว่ากลุ่มอื่น ๆ

หูดับ

 การวินิจฉัยโรคหูดับ

          เมื่อผู้ป่วยฟังเสียงไม่ได้ยิน หรือมีอาการหูดับ ควรมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยทันที โดยแพทย์ หู-คอ-จมูก จะตรวจหูอย่างละเอียด และพิจารณาส่งไปตรวจวัดการได้ยิน ซึ่งถือว่าเป็นการตรวจที่ช่วยในการวินิจฉัยและประเมินความรุนแรงของโรคได้เป็นอย่างดี

          โดยการตรวจวัดระดับการได้ยิน เรียกว่า Hearing tests หรือ Audiometry แบ่งความรุนแรงออกได้เป็น 3 ระดับ คือ

          - ระดับเล็กน้อย (mild) 25-39 เดซิเบล

          - ระดับปานกลาง (moderate) 40-68 เดซิเบล

          - ระดับรุนแรง (severe) 70-94 เดซิเบล

          นอกจากนี้ยังมีการตรวจพิเศษอื่น ๆ โดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เรียกว่า เอ็มอาร์เอ (MRA) และเอ็มอาร์ไอ (MRI) เป็นการตรวจเส้นประสาทหูชั้นในและชั้นกลางอย่างละเอียด รวมทั้งเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงเส้นประสาทหู เพื่อดูว่ามีโรคอื่นแทรกซ้อนทำให้ไม่ได้ยินหรือไม่ และสามารถตรวจพบเนื้องอกภายในสมองบริเวณนั้นที่อาจเป็นสาเหตุได้ โดยเนื้องอกดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า อะคูสติก นิวโรมา (Acoustic neuroma)

 การรักษาโรคหูดับ

          การรักษาที่สำคัญคือ ต้องให้ผู้ป่วยพักผ่อนให้มากที่สุด เพื่อให้ประสาทหูฟื้นตัวโดยเร็ว โดยทั่วไปแพทย์จะสั่งให้พักผ่อนอย่างน้อย 1 สัปดาห์ โดยระหว่างนี้ห้ามฟัง หรือเข้าใกล้เสียงดังมาก ๆ และหากหยุดทำงานได้จะดีที่สุด เพื่อจะได้พักผ่อนอยู่กับบ้าน

          ทั้งนี้ อาการของโรคหูดับจะดีขึ้นหรือหายได้เองราวร้อยละ 70 ของผู้ป่วยทั้งหมด เช่นนั้นแล้วใครที่เป็นโรคหูดับไม่รุนแรงแพทย์อาจพิจารณาติดตามอาการเท่านั้น ไม่ต้องรับการรักษามากมาย

          นอกจากนี้ยังมีการรักษาโรคหูดับด้วยการใช้ยาต้านไวรัส ชื่อ อะซัยโคลเวีย (Acyclovir) สำหรับโรคที่เกิดจากไวรัส HSV-1 และจะยิ่งได้ผลดีขึ้นเมื่อให้ยาต้านไวรัสร่วมกับยาสเตียรอยด์ ส่วนยาลดปฏิกิริยาอักเสบ กลุ่มสเตียรอยด์ Corticosteroids ก็ได้ผลดีเช่นกัน

 การป้องกันโรคหูดับ

          ทางที่ดีที่สุดในการป้องกันโรคหูดับ คือ ควรหลีกเลี่ยงเสียงดัง เช่น ไม่ควรเปิดฟังเพลงจากเครื่องเล่น MP3 เสียงดังจนเกินไป และฟังเป็นระยะเวลานานติดต่อกัน รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงสถานที่หรือสภาวะแวดล้อมที่มีเสียงดังมาก ๆ ด้วย


ขอบคุณข้อมูลจาก
- กระทรวงสาธารณสุข
- lifedd.net

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
หูดับ ฟังเสียงดังนาน ๆ ต้องระวัง อัปเดตล่าสุด 7 เมษายน 2564 เวลา 23:12:42 105,438 อ่าน
TOP
x close