อย. ปรับใหม่ ภาษาบอกสรรพคุณสมุนไพรไทย ใช้คำเข้าใจง่าย


สมุนไพรไทย


ปรับภาษาสรรพคุณยาสมุนไพรทันสมัย หวังขยายฐานตลาดนอก และเตรียมถอดคัมภีร์วัดโพธิ์ 1,021 ตำรับ (ไทยโพสต์)
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

          อย.ร่วมมือกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ ปรับสรรพคุณยาสมุนไพรเป็นภาษาที่ทันสมัยเข้าใจง่าย เพื่อขยายฐานผู้ใช้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ พร้อมเตรียมถอดความรู้ในคัมภีร์วัดโพธิ์ สมุนไพรไทย 1,021 ตำรับ
   

          เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2557 นพ.วินิต อัศวกิจวิรี ผู้อำนวยการกองควบคุมเครื่องมือแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ อย. กำลังหารือร่วมกับกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ในการพัฒนา ปรับปรุงภาษาที่ใช้เขียนสรรพคุณยาสมุนไพรและยาโบราณให้เป็นภาษาที่เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น โดยอาจจะมีวงเล็บต่อท้ายว่า ใช้สำหรับผู้มีปัญหาร้อนใน ปัสสาวะสีข้น เป็นต้น เพื่อขยายความที่ให้ประโยชน์กับทั้ง 2 ฝ่าย

          ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเข้าใจสรรพคุณได้ง่ายขึ้น และเปิดโอกาสในการขยายตลาดการใช้ยาสมุนไพรในการรักษาโรคมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศ เช่น ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย เพราะการอธิบายสรรพคุณภาพแบบเดิมนั้นค่อนข้างจำกัดและขัดกับกับการรักษาด้วยการแพทย์สมัยใหม่ เช่น กรณีเขียนสรรพคุณยาว่ายาแก้กระษัย ไตพิการ นั้นถือเป็นคำโบราณ แต่พิจารณาโดยนักวิชาการแผนปัจจุบันนั้นไม่ได้ ถ้าบอกว่ายารักษามะเร็งนั้นจะต้องเป็นยาอันตราย

          สำหรับการปรับเปลี่ยนครั้งนี้ ส่วนใหญ่จะมุ่งไปที่กลุ่มยาที่อยู่นอกบัญชียาหลักแห่งชาติ เช่น ยาสามัญประจำบ้าน รักษาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น เช่น แก้ไอ ท้องเสีย ท้องอืด ท้องเฟ้อ โดยเฉพาะยาแก้ไอแผนปัจจุบันที่ตอนนี้มีการคุมเข้มมาก เนื่องจากพบว่ามีการเอาไปเป็นส่วนผสมของยาเสพติด ทำให้คนหันมารับประทานยาแก้ไอสมุนไพรกันมากขึ้น เช่น ยาแก้ไอมะแว้ง หรือยามะขามป้อม ช่วยขับเสมหะ

          นอกจากนี้ เอกชนอาจจะเป็นผู้เลือกโดยมองที่ความต้องการของตลาด ซึ่งได้หารือกับทางเอกชนด้วย พยายามหาสินค้าที่เป็นที่ต้องการในอนาคต ส่วนยาสมุนไพรที่อยู่ในบัญชียาหลักฯ ขณะนี้มีอยู่ 71 รายการ และในอนาคตจะมองเรื่องการใช้สมุนไพรในการรักษาโรคของผู้สูงอายุซึ่งได้ผลมาก และการที่ยาสมุนไพรได้เข้ามาอยู่ในบัญชียาหลักยังมีข้อดีมาก เพราะการจะเข้ามาอยู่ในบัญชียาหลักฯ ได้นั้นต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานยาอย่างเข้มงวด ว่ามีผลดี-ผลเสียอย่างไร ทำให้ข้อมูลตรงนี้ทำให้ยาสมุนไพรเป็นที่ยอมรับมากขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเป็นโอกาสในการขยายตลาดเพิ่มขึ้น

          "ตอนนี้ตลาดอาเซียนกำลังจะเริ่มขึ้นแล้ว แต่ยาไทยเรายังมีปัญหาที่ไม่ยอมทำข้อมูลที่เป็นทางการ บางครั้งอยู่ในคำภีร์โบราณ เขียนแบบเด็กสมัยใหม่อ่านแล้วไม่รู้เรื่อง จึงมาร่วมกันพัฒนาปรับปรุงตรงนี้" นพ.วินิต กล่าว
   
          ด้าน นพ.ธวัชชัย กมลธรรม อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญแพทย์แผนไทย แพทย์พื้นบ้านมาประชุมร่วมกันเพื่อถอดความรู้ด้านยาสมุนไพร และจัดทำเป็นพจนานุกรมศัพท์ทางการแพทย์แผนไทย ทั้งในส่วนของชื่อเรียกและสรรพคุณเพื่อให้เข้าใจง่ายและเป็นที่ยอมรับ ล่าสุดทำเสร็จไปแล้วกว่า 3 พันคำ และจะขยายให้ครอบคลุมยาสมุนไพรทั้ง 12 ตำรับ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการถอดความรู้ในคัมภีร์วัดโพธิ์ สมุนไพรไทย 1,021 ตำรับ นอกจากนี้ยังจะมีการแปลเป็นภาษาต่างประเทศด้วย

          ทั้งนี้ ข้อมูลทั้งหมดที่จัดทำขึ้นมาจะถูกบรรจุอยู่ในฐานของมูลของกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ ถือเป็นข้อมูลกึ่ง ๆ การจดลิขสิทธิ์สมุนไพรและศาสตร์การแพทย์แผนไทยที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย


ขอขอบคุณข้อมูลจาก




เรื่องน่าสนใจอื่นๆ
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อย. ปรับใหม่ ภาษาบอกสรรพคุณสมุนไพรไทย ใช้คำเข้าใจง่าย อัปเดตล่าสุด 21 กรกฎาคม 2557 เวลา 15:00:58 1,082 อ่าน
TOP
x close