x close

อีโบลา เจาะลึกไวรัสมรณะที่โลกหวาดกลัว ป่วยแล้วเสี่ยงตายสูงมาก

          อีโบลา เชื้อไวรัสมรณะที่คร่าชีวิตผู้คนในทวีปแอฟริกาจำนวนมาก โรคนี้กำเนิดอย่างไร ติดต่อได้ทางไหน และจะป้องกันตัวจากโรคอีโบลาได้อย่างไรบ้าง มาศึกษาไปพร้อมกันเลย

 
อีโบลา

          อีโบลา โรคระบาดในแถบทวีปแอฟริกา จริง ๆ แล้วไม่ใช่โรคใหม่ แต่เคยระบาดมาแล้วตั้งแต่ปี 2519 และความน่ากลัวของโรคนี้คืออัตราการตายสูงมาก ถึงร้อยละ 50-90 ที่สำคัญยังมีการระบาดซ้ำ แม้จะมีวัคซีนป้องกันโรคอีโบลาแล้วก็ตาม ดังนั้นเพื่อความไม่ประมาท เรามาทบทวนเรื่องโรคอีโบลากันดีกว่าว่า โรคนี้เกิดจากอะไร ติดต่อยังไง พร้อมไขข้อข้องใจ..มีวัคซีนแล้วทำไมถึงยังระบาดอยู่อีก 

อีโบลา

อีโบลา คืออะไร

          อีโบลา เป็นโรคจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มโรคไข้เลือดออกชนิดหนึ่ง มีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษว่า Ebola virus disease (EVD) พบการระบาดของโรคเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2519 ใกล้กับลุ่มแม่น้ำอีโบลา ประเทศสาธารณรัฐคองโก และยังคงเป็นโรคระบาดที่เกิดซ้ำในแถบแอฟริกา โดยเฉพาะในประเทศคองโกจนถึงปัจจุบัน

อีโบลา

อีโบลา เกิดจากอะไร

          เชื้อไวรัสอีโบลา มีพาหะเป็นสัตว์ป่า ชนิดสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น ค้างคาวผลไม้ หรือลิง โดยรูปร่างของเชื้อไวรัสอีโบลา มีลักษณะเป็นเส้นด้ายในกลุ่มฟิโลไวรัส เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 80 นาโนเมตร ยาวได้มากถึง 1,400 นาโนเมตร แบ่งออกเป็น 6 สายพันธุ์ ได้แก่ อีโบลา-ซาร์อี (ZEBOV), อีโบลา-ซูดาน (SUDV), อีโบลา-โกตดิวัวร์ (TAFV), อีโบลา-เรสตัน (RESTV) อีโบลา-บันดิบูเกียว (BDBV) และอีโบลา-บอมบาลี (BOMV) แต่สายพันธุ์ที่พบการระบาดมากที่สุดคือ อีโบลา-ซาร์อี (ZEBOV) ซึ่งค่อนข้างร้ายแรง

เชื้ออีโบลา ระบาดอย่างไร

          การระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลา มีลักษณะแพร่เชื้อจากคนสู่คนผ่านทางการรับหรือสัมผัสของเหลวจากร่างกายผู้ติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นเลือด น้ำลาย น้ำมูก เหงื่อ สารคัดหลั่งต่าง ๆ ตลอดจนเชื้ออสุจิ รวมถึงการสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น ราวจับประตู ลูกบิดประตู ปุ่มลิฟต์ ตลอดจนการสัมผัสกับสัตว์ที่ติดเชื้อไวรัสดังกล่าว โดยเชื่อว่าค้างคาวผลไม้ ซึ่งเป็นสัตว์ที่ชาวแอฟริกันนิยมจับทำอาหาร เป็นพาหะในการแพร่เชื้อ

อีโบลา อาการเป็นอย่างไร

          โรคอีโบลามีระยะฟักตัว 2-21 วัน โดยอาการสามารถแสดงได้ตั้งแต่วันแรก ซึ่งระยะแรกจะเริ่มจากมีไข้สูงเฉียบพลัน อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อทั้งตัว เจ็บคอ เมื่อเข้าสู่ระยะที่ 2 จะมีอาการท้องเสีย อาเจียน มีผื่นนูน มีเลือดออกตามเยื่อบุของร่างกาย เช่น เยื่อบุตา ภายในช่องปาก รวมทั้งเลือดออกที่อวัยวะภายใน มีอาการผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง การทำงานของตับและไตล้มเหลว ช็อก ผู้ติดเชื้อมีโอกาสเสียชีวิตสูงถึง 50-90%

          ทั้งนี้ อาการในระยะแรกเริ่มของโรคมีลักษณะคล้ายคลึงกับอาการป่วยด้วยโรคชนิดอื่น ๆ เช่น ไข้มาลาเรีย ท้องร่วง ไข้หวัด ไข้เลือดออกจากไวรัสอื่น ๆ ทำให้ระบุโรคได้ล่าช้า

อีโบลา

อีโบลา การรักษาต้องทำอย่างไร

          วิธีรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสอีโบลา แพทย์จะใช้ยาต้านไวรัสอีโบลา ร่วมกับรักษาไปตามอาการ เช่น ให้น้ำและเกลือแร่ทดแทน ร่วมกับให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เพื่อป้องกันเลือดจับเป็นลิ่มในหลอดเลือด และให้ยาช่วยการแข็งตัวของเลือดในระยะที่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการเลือดออก

          ขณะที่ โรงพยาบาลศิริราช ได้ผลิตแอนติบอดีเพื่อรักษาโรคอีโบลาได้สำเร็จ โดยทีมวิจัยได้ผลิตแอนติบอดีจำเพาะต่อไวรัสอีโบลา มีคุณสมบัติพิเศษที่มีขนาดเล็กกว่าแอนติบอดีปกติ 5 เท่า ~25-35 kDa เรียกว่า แอนติบอดีสายเดี่ยว (human single chain antibodies) โดยผลิตจากยีนของคน จึงไม่เป็นสิ่งแปลกปลอมเมื่อเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ ต่างจากแอนติบอดีที่ผลิตจากสัตว์ทดลอง ทั้งนี้ การผลิตแอนติบอดีชนิดดังกล่าว ยังผลิตได้น้อยในห้องปฏิบัติการวิจัย แต่หากจำเป็นต้องใช้ผลิตเพื่อการรักษา จะต้องร่วมมือกับบริษัทผลิตยา เพื่อให้สามารถผลิตได้มากขึ้นภายใต้มาตรฐาน GMP เพื่อการทดลองในสัตว์ และจดทะเบียนเป็นยาใหม่ต่อไป

อีโบลา ป้องกันได้ง่าย ๆ

          การรักษาสุขอนามัยของตัวเองให้ดี ยังคงเป็นวิธีป้องกันการติดเชื้อไวรัสที่มีประสิทธิภาพสูง เช่นเดียวกับการป้องกันไวรัสอีโบลา ก็ควรปฏิบัติ ดังนี้

          1. พยายามหลีกเลี่ยงกลุ่มสุ่มเสี่ยงติดเชื้ออีโบลา โดยเฉพาะคนที่เดินทางมาจากประเทศแถบแอฟริกา

          2. ไม่รับประทานอาหารป่า โดยเฉพาะค้างคาว หรือลิง

          3. รับประทานอาหารปรุงสุก

          4. หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ที่มีอาการไข้ หรือป่วย รวมทั้งเลี่ยงการสัมผัสเลือดและของเหลวจากร่างกายผู้ป่วย รวมทั้งวัตถุที่ปนเปื้อนของเหลวจากร่างกายของผู้ป่วย

          5. ล้างมือบ่อย ๆ

          6. สวมหน้ากากอนามัย

          7. รักษาระยะห่างทางสังคม

               - Social Distancing ต้องทำยังไงบ้าง ส่องวิธีหนีห่าง COVID-19 เมื่ออยู่ในสังคม

วัคซีนอีโบลา ตัวช่วยที่ยังไม่สมบูรณ์

อีโบลา

          ปัจจุบันมีวัคซีนอีโบลาเพียงชนิดเดียว สำหรับป้องกันไวรัสอีโบลาสายพันธุ์ ZEBOV เพียงสายพันธุ์เดียว โดยวัคซีนดังกล่าวเพิ่งได้รับการรับรองตามระเบียบที่ถูกต้องเมื่อปี 2562 ดังนั้นการกระจายวัคซีนไปยังประชากรกลุ่มเสี่ยงจึงยังทำได้ไม่ทั่วถึงทุกพื้นที่ แต่จะใช้ในบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนในพื้นที่ระบาด ยังไม่มีใช้ในคนทั่วไป

          นอกจากนี้ วัคซีนยังไม่สามารถป้องกันไวรัสอีโบลาได้ครบทุกสายพันธุ์ ดังนั้นจึงไม่อาจกล่าวได้ว่า เราสามารถป้องกันโรคอีโบลาได้ 100%

สถานการณ์ในไทย

          สำหรับประเทศไทย ยังไม่พบคนป่วยอีโบลา อีกทั้งยังมีความเสี่ยงในการระบาดของโรคอีโบลาค่อนข้างต่ำ เนื่องจากยังไม่มีเที่ยวบินตรงจากประเทศในกลุ่มแอฟริกามายังไทย ประชากรในประเทศกลุ่มเสี่ยงอีโบลาที่จะเดินทางเข้าประเทศไทยได้จึงต้องผ่านด่านคัดกรองจากประเทศอื่น ๆ ก่อนมาถึงไทย และในประเทศไทยก็มีการคัดกรองผู้เดินทางมาจากต่างประเทศอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะหากพบว่าเดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ก็จะมีการตรวจสุขภาพก่อนอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักร

          นอกจากนี้ อีโบลายังเป็นโรคติดต่ออันตราย ตามประกาศของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติอีกด้วย

               - รู้จักโรคติดต่ออันตราย มีโรคอะไรบ้าง

อีโบลา

มาตรการเฝ้าระวังเชื้ออีโบลาในประเทศไทย

          แม้ประเทศไทยจะมีความเสี่ยงในการพบเชื้อต่ำ แต่ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข ได้เฝ้าระวังและป้องกันโรค ด้วยมาตรการหลัก ซึ่งดำเนินการมาอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ดังนี้

          1. ติดตามสถานการณ์ความคืบหน้าจากองค์การอนามัยโลก เฝ้าระวังผู้ป่วยโดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือคนไทยที่เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค ทั้งในด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ในโรงพยาบาลภาครัฐและภาคเอกชน และในชุมชน คัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาดของโรคทั้งที่ด่านควบคุมโรคที่สนามบิน ด่านทางน้ำและด่านพรมแดนทางบก

          2. เตรียมความพร้อมในการตรวจหาเชื้อทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งไทยได้รับความร่วมมือจากสหรัฐฯ ในการตรวจวิเคราะห์เชื้อไวรัสชนิดนี้ 

          3. มาตรการดูแลรักษา หากมีผู้ป่วยที่มีอาการในข่ายสงสัย โดยใช้มาตรฐานเดียวกับการดูแลผู้ป่วยโรคติดต่อที่มีอันตราย เช่น ไข้หวัดนก โรคซาร์ส ซึ่งโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศมีความพร้อมอยู่แล้ว

          นอกจากนี้การเฝ้าระวังโรคติดต่ออันตรายในระดับพื้นที่ ทางกรมควบคุมโรค จะมีการให้ข้อมูลข่าวสารกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ ตลอดจนสื่อสารไปยังอาสาสมัครสาธารณสุข กรณีพบความผิดปกติ เช่น พบเห็นผู้ที่มาจากประเทศที่มีการระบาดของโรค แล้วมีอาการไม่สบาย เป็นไข้ ให้รีบแจ้งมาที่กรมควบคุมโรค หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

          สำหรับประชาชนทั่วไป หากจะเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ควรปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้

          1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่า ทั้งที่ป่วยหรือไม่ป่วย

          2. หลีกเลี่ยงการรับประทานสัตว์ป่าที่ป่วยตายโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยเฉพาะสัตว์จำพวกลิง หรือค้างคาว หรืออาหารเมนูพิสดารที่ใช้สัตว์ป่าหรือสัตว์แปลก ๆ มาประกอบอาหาร

          3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารคัดหลั่ง เช่น เลือดจากผู้ป่วย สิ่งของเครื่องใช้ของผู้ป่วยที่อาจปนเปื้อนกับสารคัดหลั่งของผู้ป่วย หรือศพ

          4. หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วย หากมีความจำเป็นให้สวมอุปกรณ์ป้องกันร่างกายและล้างมือบ่อย ๆ

          5. หากมีอาการเริ่มป่วย เช่น มีไข้สูง อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ เจ็บคอ อาเจียน ท้องเสีย ภายหลังกลับจากประเทศที่มีการระบาด ให้รีบพบแพทย์ทันที



***หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2563


ขอบคุณข้อมูลจาก
คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล
สำนักระบาดวิทยา
เดลินิวส์
Thai PBS
WHO
WHO
ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์
Centre for Health Protection กระทรวงสาธารณสุขฮ่องกง

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อีโบลา เจาะลึกไวรัสมรณะที่โลกหวาดกลัว ป่วยแล้วเสี่ยงตายสูงมาก อัปเดตล่าสุด 8 มิถุนายน 2563 เวลา 14:45:49 30,249 อ่าน
TOP