ต้มจับฉ่ายเสี่ยงมะเร็ง สธ. แนะเลี่ยงทานอาหารต้ม ตุ๋นนาน ๆ


ต้มจับฉ่าย ประโยชน์จากผักเต็ม ๆ ถ้วย

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          กรมอนามัย เตือน เลี่ยงทานอาหารค้างคืน อุ่นซ้ำ ๆ สูญเสียคุณค่าทางโภชนาการ โดยเฉพาะอาหารต้มตุ๋นนาน ๆ อย่างต้มจับฉ่าย ทานมากเสี่ยงมะเร็ง พร้อมแนะ 12 เคล็ดลับการกินอาหารเพื่อสุขภาพดี

          เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2557 ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย ได้ออกมาเตือนประชาชนที่นิยมซื้ออาหารสำเร็จรูป หรือปรุงอาหารในปริมาณมาก แต่เมื่อทานไม่หมดก็นำไปเก็บไว้ในตู้เย็นแล้วนำออกมาอุ่นเมื่อจะทานในมื้อต่อไป ว่า การอุ่นอาหารซ้ำซากจะทำให้คุณค่าทางโภชนาการของอาหารนั้นลดลง ดังนั้น จึงควรปรุงอาหารในปริมาณที่พอทานในแต่ละมื้อ และเน้นทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่มากกว่าทานอาหารค้างคืน

          นอกจากนี้ นพ.พรเทพ ยังเตือนถึงอันตรายของอาหารที่ต้มตุ๋นเป็นเวลานานกว่า 4 ชั่วโมง เช่น ต้มจับฉ่าย หรืออาหารประเภทเป็ดพะโล้ ห่านพะโล้ หมูสามชั้น ซึ่งเวลาปรุงต้องเคี่ยวด้วยน้ำตาล ว่า อาหารกลุ่มนี้มีโปรตีนจากเนื้อสัตว์เมื่อถูกความร้อนนาน ๆ อาจเกิดสารกลุ่มเฮ็ตเตอโรไซคลิกเอมีน (heterocyclic amine) ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งได้

          ส่วนอาหารประเภทผักสด ผักลวก นึ่ง ต้มนั้น อธิบดีกรมอนามัยระบุว่า หากเหลือเก็บไว้มื้อต่อไป คุณค่าทางโภชนาการจะลดลงและรสชาติเปลี่ยน หากจะเก็บไว้ต้องเก็บรักษาในอุณหภูมิที่เหมาะสม เพื่อป้องกันจุลินทรีย์ปนเปื้อนอันจะทำให้ท้องเสียได้ พร้อมแนะนำให้รับประทานผักสดเป็นประจำอย่างน้อยมื้อละ 2 ทัพพี เพราะผักมีแร่ธาตุ วิตามิน สารต้านอนุมูลอิสระที่ดีต่อร่างกาย ดังนั้นควรทานให้มากเนื้อแดง เพราะถ้ากินเนื้อแดงมากจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งบางชนิด

          ทั้งนี้ นพ.พรเทพ ยังแนะนำ 12 เคล็ดลับการทานอาหารให้มีสุขภาพดี คือ

          1. กินอาหารให้หลากหลายครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย

          2. กินผักชนิดต่าง ๆ อย่างน้อยมื้อละ 2 ทัพพี

          3. กินผลไม้อย่างน้อยมื้อละ 1-2 ส่วน เช่น กล้วยน้ำว้า หรือส้ม

          4. เลือกวัตถุดิบในการปรุงอาหารที่ปลอดภัยจากการปนเปื้อนของสารเคมีและสิ่งเจือปน

          5. ลดการกินอาหารมัน ได้แก่ อาหารทอดน้ำมัน เช่น ไก่ทอด หมูทอด อาหารที่มีกะทิ เช่น แกงกะทิ หลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันทอดซ้ำ

          6. ลดการกินอาหารหวาน

          7. ลดการกินเค็มโดยเฉพาะเครื่องปรุงรสเค็ม

          8. ลดการกินอาหารแปรรูป หลีกเลี่ยงอาหารที่มีสีเกินความเป็นสีธรรมชาติ เช่น เนื้อสัตว์แปรรูปสีแดง

          9. หลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงไว้ค้างคืน

          10. ดูแลน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ผู้ชายรอบเอวไม่เกิน 90 ซม. ผู้หญิงรอบเอวไม่เกิน 80 ซม.

          11. ออกกำลังกายที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน

          12. ทำใจให้สบาย คิดบวกเสมอ



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ต้มจับฉ่ายเสี่ยงมะเร็ง สธ. แนะเลี่ยงทานอาหารต้ม ตุ๋นนาน ๆ อัปเดตล่าสุด 7 สิงหาคม 2557 เวลา 16:51:09 32,496 อ่าน
TOP
x close