x close

รู้หรือไม่ สิทธิพิเศษสำหรับผู้บริจาคโลหิต ช่วยค่ารักษาพยาบาลได้ด้วยนะ


บริจาคโลหิต

          รู้หรือไม่ สิทธิพิเศษสำหรับผู้บริจาคโลหิต ยิ่งบริจาคมากยิ่งได้สิทธิประโยชน์เยอะ แล้วแต่กฎเกณฑ์ของแต่ละสถานพยาบาล เช็กดูสิว่าเราพลาดสิทธิของตัวเองไปหรือไม่

          นับเป็นสิทธิประโยชน์ดี ๆ ที่ผู้บริจาคเลือดหลายรายอาจจะยังไม่ทราบเป็นแน่แท้ ว่าการบริจาคเลือดนั้นสามารถนับจำนวนครั้งที่บริจาค สะสมไว้เพื่อรับสิทธิประโยชน์ด้านค่ารักษาพยาบาลได้ด้วย ดังเช่นที่คุณ Tiger Choom นำมาบอกต่อให้ชาวเน็ตได้ทราบกันเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2559 ระบุว่า หลังจากที่เขาบริจาคเลือดกับโรงพยาบาลยะลา ก็ได้ทราบว่าหากเราบริจาคเลือดเกิน 24 ครั้ง จะได้รับสิทธิรักษาพยาบาลเช่นเดียวกับข้าราชการเลย นั่นคือแทบไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มเว้นเพียงส่วนเกินของค่าห้องพิเศษเท่านั้น ซึ่งสิทธิดังกล่าว แม้แต่แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลบางส่วนก็ยังไม่ทราบด้วยซ้ำว่ามีสิทธินี้ด้วย

บริจาคโลหิต

บริจาคโลหิต

          และที่พิเศษไปยิ่งกว่านั้นก็คือ สิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิติดตัวที่เราสามารถใช้ได้ตลอด เพียงแต่ผู้ที่ต้องการใช้ประโยชน์จะต้องสอบถามสิทธิประโยชน์จากทางห้องเลือดของโรงพยาบาลที่บริจาคเป็นประจำ เนื่องจากสิทธิที่ได้รับอาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละโรงพยาบาล โดยมีผู้รู้เข้ามาให้ข้อมูล ระบุว่าเป็นเพราะหลักเกณฑ์ส่วนนี้จะมาจากคณะกรรมการของแต่ละโรงพยาบาลที่กำหนดตามความเหมาะสม และเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ใช่หลักเกณฑ์จากสภากาชาดแต่อย่างไร

          ทั้งนี้สำหรับสิทธิประโยชน์ซึ่งผู้บริจาคโลหิตที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย จะได้รับ จากข้อมูลของเว็บไซต์ redcross.or.th มีดังนี้...

          ผู้บริจาคโลหิต 7 ครั้งขึ้นไป เป็นผู้ป่วยใน ของโรงพยาบาลสังกัดสภากาชาดไทย ได้แก่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา เสียค่ารักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยสามัญ ถ้าอยู่ห้องพิเศษ ผ่าตัด ผ่าตัดคลอดบุตร โดยจะเสียเพียงกึ่งหนึ่งของอัตราที่กำหนด

          ผู้บริจาคโลหิต 24 ครั้งขึ้นไป เป็นผู้ป่วยใน ของโรงพยาบาลสังกัดสภากาชาดไทย ได้แก่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา ได้รับการยกเว้นเฉพาะค่ารักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยสามัญ ถ้าอยู่ห้องพิเศษ ผ่าตัด  ผ่าตัดคลอดบุตร โดยจะเสียเพียง ร้อยละ 50 ของอัตราที่กำหนด

          ผู้บริจาคโลหิตตั้งแต่ 18 ครั้งขึ้นไป อาศัยอำนาจจากกระทรวงสาธารณสุข ตามความในประเภท ข. ที่มีหนังสือรับรองจากสภากาชาดไทยว่าได้บริจาคโลหิตตั้งแต่ 18 ครั้งขึ้นไป ได้รับการช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาล และถ้าอยู่ห้องพิเศษ ได้รับความช่วยเหลือค่าห้องและค่าอาหารเพียงร้อยละ 50 ของอัตราที่กำหนดไว้

          ผู้บริจาคโลหิตตั้งแต่ 7 ครั้งขึ้นไป อาศัยอำนาจจากกระทรวงสาธารณสุข ตามความในประเภท ค. ที่มีหนังสือรับรองจากสภากาชาดไทยว่าได้บริจาคโลหิตตั้งแต่ 7 ครั้งขึ้นไป ได้รับการช่วยเหลือเฉพาะค่าห้องพิเศษและค่าอาหารพิเศษไม่เกินสิทธิอันพึงเบิกได้จากหน่วยงานต้นสังกัดก่อน ส่วนที่เกินสิทธิให้เรียกเก็บเพียงร้อยละ 50 สำหรับผู้ไม่มีสิทธิ ได้รับความช่วยเหลือเพียงร้อยละ 50 ของอัตราที่กำหนดไว้

          ทั้งนี้สิทธิข้างต้นจะใช้ได้เฉพาะผู้ที่ไม่มีสิทธิอย่างอื่น เช่น ประกันสังคม หรือข้าราชการ และจะใช้ได้เฉพาะผู้ป่วยใน เมื่อได้ห้องเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลแล้ว โดยให้ญาตินำบัตรประจำตัวของผู้บริจาคโลหิต ขอหนังสือรับรองผู้บริจาคโลหิตได้ที่ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ถนนอังรีดูนังต์ เพื่อนำไปลดหย่อนการรักษาพยาบาลเป็นครั้ง ๆ ไป

บริจาคโลหิต

บริจาคโลหิต

บริจาคโลหิต

บริจาคโลหิต

ภาพจาก เฟซบุ๊ก Tiger Choom

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
- redcross.or.th
  


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รู้หรือไม่ สิทธิพิเศษสำหรับผู้บริจาคโลหิต ช่วยค่ารักษาพยาบาลได้ด้วยนะ อัปเดตล่าสุด 23 ตุลาคม 2560 เวลา 09:42:18 23,221 อ่าน
TOP