x close

ตาเข ตาเหล่ เกิดจากอะไร จ้องหน้าจอนาน ๆ ก็เป็นได้จริงหรือ ?

ตาเข ตาเหล่

          ตาเข ตาเหล่ เกิดจากอะไร แล้ววิธีรักษาตาเหล่ ตาเข จะช่วยให้หายตาเขไหม บอกเลยว่าโรคนี้ถ้ารู้ตัวแต่เนิ่น ๆ ตาเหล่ก็หายได้

          ภาวะตาเหล่หรือตาเขเป็นเรื่องที่หลาย ๆ คนมองว่าน่าตลกขบขัน ถึงขนาดเป็นมุกตลกในวงการบันเทิงมาก็เนิ่นนาน ทว่าคนที่มีภาวะตาเหล่ ตาเข จริง ๆ อาจไม่ตลกด้วยนะคะ เพราะนี่ก็คือปัญหาสุขภาพดวงตาอย่างหนึ่งที่สร้างความลำบากในการใช้ชีวิตประจำวันไม่น้อยเลยทีเดียว และจริง ๆ แล้วอาการตาเหล่ ตาเข สามารถรักษาได้ด้วย โดยเฉพาะในวัยเด็กที่รู้ตัวทันว่ามีอาการตาเหล่หรือตาเข

          ดังนั้นเพื่อให้กระจ่างกันมากขึ้น วันนี้กระปุกดอทคอมจึงขอนำเสนอภาวะตาเหล่ ตาเข ว่าเกิดจากอะไร รักษาได้ไหม รวมไปถึงจะมาให้ความกระจ่างว่า เล่นสมาร์ทโฟนนาน ๆ ทำให้ตาเหล่จริงหรือเปล่าด้วย


ตาเหล่ ตาเข คืออะไร

          โรคตาเหล่ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Strabismus หรือ Squint เป็นภาวะที่ตาทั้งสองข้างไม่อยู่ในแกนเดียวกัน ส่งผลให้ไม่สามารถมองวัตถุเดียวกันพร้อมกันด้วยตาทั้งสองข้างได้ ดังนั้นผู้ป่วยจึงมักใช้ตาข้างที่ปกติจ้องมองวัตถุ ทั้งนี้ตาเหล่อาจมีลักษณะเบนออกด้านนอก หรือเหลือบขึ้นด้านบน หรือสังเกตเห็นว่าตาดำข้างหนึ่งตรงดี แต่ตาดำอีกข้างหันเข้าหาหัวตา โดยโรคตาเขอาจเป็นเฉพาะข้างใดข้างหนึ่ง หรือสลับข้างกันไปมา ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าเป็นอาการตาเหล่ประเภทใด

ตาเข ตาเหล่

ตาเหล่ ตาเข เกิดจากอะไร

          สาเหตุของโรคตาเหล่ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่า ตาเหล่ เกิดจากอะไรกันแน่ ทว่าจากสถิติจะพบว่าสาเหตุของโรคตาเหล่ อาจจำแนกออกได้ดังนี้

1. กรรมพันธุ์

          ภาวะตาเขในเด็กมักจะตรวจพบว่าตาเขตั้งแต่แรกเกิด หรือภายในอายุ 6 เดือนจะตรวจพบว่ามีภาวะตาเขชนิดเข้าด้านใน หรือตาเขออกด้านนอก ซึ่งเมื่อซักประวัติแล้วก็มักพบว่า มีคนในครอบครัวเป็นโรคตาเหล่อยู่ แสดงให้เห็นว่าโรคตาเหล่อาจถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรมได้

2. ความผิดปกติของกล้ามเนื้อดวงตา

          ตาเหล่อาจเกิดจากภาวะที่กล้ามเนื้อดวงตาแต่ละข้างทำงานไม่สมดุลกัน เช่น ปัญหาสายตายาวในเด็ก ที่ทำให้เด็กต้องเพ่งมองเพื่อปรับสายตาให้ชัด ส่งผลให้เกิดความผิดปกติกับตาข้างใดข้างหนึ่งได้ และโดยส่วนมากจะก่อให้เกิดอาการตาเหล่เข้าข้างใน รวมทั้งเด็กที่มีปัญหาสายตาสั้นเอียง ก็อาจเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะตาเขได้เช่นกัน

3. มีโรคในตาข้างใดข้างหนึ่ง

          ปัญหาสุขภาพดวงตาที่ส่งผลให้สายตาข้างใดข้างหนึ่งมัวลง มองเห็นไม่ชัดเจนเหมือนปกติ ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้กล้ามเนื้อดวงตาทำงานไม่สมดุลกัน เกิดเป็นภาวะตาเขในทึ่สุด

4. ความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง

          จากสถิติพบว่า เด็กที่มีความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง เช่น เด็กที่มีพัฒนาการทางร่างกายช้า เด็กที่มีความผิดปกติด้านการทำงานของสมอง มักจะเกิดภาวะตาเขได้มากกว่าเด็กทั่วไป

5. โรคมะเร็งจอตา

          สาเหตุของภาวะตาเขนี้มักพบในเด็กเล็กที่เป็นโรคมะเร็งจอตาแต่กำเนิด ซึ่งหากไม่รีบรักษา มะเร็งอาจลุกลามและทำให้เด็กเสียชีวิตได้

6. โรคทางกายอื่น ๆ

          ภาวะตาเขในเคสนี้มักจะพบได้ในผู้ใหญ่ หรือในเด็กโตที่ไม่มีอาการตาเขมาแต่กำเนิด ทว่าเป็นโรคบางอย่างที่ส่งผลต่อกล้ามเนื้อดวงตา ทำให้เกิดอาการตาเหล่ได้ ซึ่งสามารถจำแนกโรคที่ก่อให้เกิดอาการตาเขได้ดังนี้

          - โรคเนื้องอกในสมอง ที่ส่งผลให้เส้นประสาทเส้นที่ 3 4 หรือ 6 ถูกทำลายหรือกดทับ จนเกิดอาการตาเขได้

          - โรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งในส่วนศีรษะและลำคอที่ลุกลามมารบกวนกล้ามเนื้อดวงตา หรือประสาทตา เช่น มะเร็งไซนัส และมะเร็งหลังโพรงจมูก

          - โรคเบาหวาน หากเป็นเบาหวานขึ้นตาก็อาจทำให้กล้ามเนื้อตาอัมพาต เกิดอาการตาเขหรือตาบอดได้

          - โรคไทรอยด์เป็นพิษ โรคไทรอยด์เป็นพิษมักส่งผลกระทบกับการทำงานของกล้ามเนื้อประสาทตา ถ้าเป็นเรื้อรังก็อาจทำให้เกิดภาวะตาเขได้

          - โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ที่อาจส่งผลให้กล้ามเนื้อตาอ่อนแรงจนเกิดภาวะตาเขได้

          - อุบัติเหตุทางตาและสมอง ที่อาจส่งผลให้กล้ามเนื้อตาอัมพาต และมีอาการตาเหล่ตามมาได้

          อย่างไรก็ตาม อาการตาเขส่วนใหญ่แล้วมักจะพบในวัยเด็ก และมักจะพบว่ามีอาการตาเขมาตั้งแต่เกิด ซึ่งสาเหตุของอาการตาเขมักจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ ทว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะตาเขจริง ๆ ก็ยังไม่ทราบแน่ชัดนะคะ
ตาเข ตาเหล่

ตาเข อาการเป็นอย่างไร

          โรคตาเหล่ อาการโดยรวมแล้วคือมีตาดำทั้งสองข้างไม่อยู่ในแนวตรงตามธรรมชาติ ไม่ข้างใดข้างหนึ่งจะเบนผิดรูป แต่ทั้งนี้อาการตาเขหรือตาเหล่ก็จะมีอาการต่างกันไปแล้วแต่ชนิดที่เป็น โดยทางจักษุแพทย์จะจำแนกอาการตาเขออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ดังนี้

1. ตาเขชนิดหลอก ๆ

          ลักษณะของอาการตาเขชนิดหลอก หรือตาเขเทียมคือ ลักษณะของตาที่เมื่อดูเผิน ๆ จะคล้ายตาเข ทว่าพอตรวจทางจักษุแล้วกลับพบว่าไม่มีภาวะตาเข ซึ่งหากสงสัยว่าบุตรหลานตาเขหรือไม่ ก็สามารถพาไปตรวจได้ด้วยวิธีที่ไม่ยากค่ะ

2. ตาเขแบบซ่อนเร้น

          หรือเรียกอีกอย่างว่าตาส่อน คือ ตาเขที่ซ่อนเอาไว้ ให้ดูเหมือนตาไม่เข ทว่าเคสนี้จะมีอาการตาเขออกมาได้บ้างครั้งบางคราว โดยสังเกตได้จากดวงตาที่มีลักษณะไม่ตรง ทำให้เกิดอาการมึนศีรษะได้ เนื่องจากกล้ามเนื้อในการบังคับตาให้ตรงเกิดอาการอ่อนเพลีย เมื่อยล้า ก็จะมีอาการเมื่อยตาได้

3. ตาเขชนิดเห็นได้ชัด

          ตาเขชนิดเห็นได้ชัดคือมองแล้วเห็นเลยว่าตาดำทั้งสองข้างไม่ได้อยู่ในแนวเดียวกัน ซึ่งตาเขที่มองเห็นได้ชัดก็ยังสามารถแบ่งออกเป็นลักษณะย่อย ๆ ได้ ดังนี้

          * ตาเขเข้าด้านใน

          อาการคือตาดำจะเฉียงหรือเบนเข้าด้านใน หรือมุดเข้าหาหัวตา ซึ่งเกิดจากกรรมพันธุ์เป็นส่วนใหญ่ และมักพบได้ในเด็กทารกวัยไม่เกิน 6 เดือน ดังนั้นหากรีบรักษาอาจช่วยบรรเทาอาการตาเขได้ แต่ถ้าไม่รีบรักษาอาจเสี่ยงอาการตาบอดในอนาคต

          * ตาเขออกด้านนอก

          จะมีอาการตาดำเบนหรือเฉียงออกด้านนอกหางตา ซึ่งมักจะพบว่ามีปัญหาสายตาอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ปัญหาสายตาสั้น ตาข้างที่เขมองเห็นไม่ชัดเนื่องจากเลนส์ตาขุ่น รูม่านตาตีบ หรือประสาทจอรับภาพผิดปกติ เป็นต้น โดยตาเขชนิดนี้ก็เกิดจากกรรมพันธุ์เป็นส่วนใหญ่ และมักพบในวัยเด็กเล็ก และเด็กอายุไม่เกิน 6 เดือน

          * ตาเขชนิดขึ้นบน

          ตาเขชนิดนี้จะสังเกตเห็นได้ชัดว่าตาดำลอยขึ้นด้านบนเปลือกตา ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อกลอกตา แต่ทั้งนี้ก็พบอาการตาเขชนิดนี้ได้ไม่บ่อยนัก

          * ตาเขชนิดลงล่าง

          มีลักษณะตาดำมุดลงด้านล่าง อันเกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อกลอกตา หรืออาจเกิดจากแผลเป็นที่กล้ามเนื้อตาหลังประสบอุบัติเหตุ ดึงรั้งให้ลูกตามุดลงด้านล่าง ซึ่งตาเขชนิดนี้ก็พบได้ไม่บ่อยเช่นเดียวกัน

4. ตาเขอันเกิดจากภาวะอัมพาตของประสาทกล้ามเนื้อตา

          ตาเขชนิดนี้จะพบได้ในผู้ใหญ่มากกว่าในเด็ก เนื่องจากเป็นตาเขที่มีผลมาจากปัจจัยภายนอก กล่าวคือ ประสบอุบัติเหตุทางตา หรือทางสมองจนกระทบเส้นประสาทในส่วนของการมองเห็น หรือเกิดจากโรคในระบบอื่น ๆ ของร่างกาย ทว่าอาการตาเขในผู้ใหญ่มักพบได้น้อย

ตาเข ตาเหล่

ตาเข รักษาอย่างไร

          เนื่องจากอาการตาเขแบ่งออกได้หลายชนิด ตามลักษณะของตาที่เข รวมทั้งสาเหตุที่เป็นด้วย ดังนั้นการรักษาอาการตาเขจึงมีแนวทางการรักษา ดังนี้

1. ใส่แว่น กระตุ้นดวงตา

          ในกรณีที่เป็นตาเขตั้งแต่เด็ก และเป็นตาเขชนิดเข้าด้านใน ส่วนมากในกลุ่มนี้จะมีปัญหาสายตาสั้น ยาว หรือเอียงในข้างที่เขติดมาด้วย ซึ่งจักษุแพทย์ก็จะรักษาด้วยการวัดสายตาและให้สวมแว่นสายตาเพื่อปรับทิศทางการมองวัตถุให้เกิดความเหมาะสม ซึ่งก็จะช่วยแก้ภาวะตาเขได้มาก อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงโรคตาขี้เกียจได้ด้วย

2. รักษาจากต้นเหตุ

          แนวทางการรักษานี้จะใช้กับผู้ที่มีตาเขจากปัจจัยภายนอก หรือโรคในระบบร่างกายที่เป็นอยู่ เช่น หากตาเขออกด้านนอกเพราะโรคมะเร็งจอตากดทับ แพทย์ก็จะทำการผ่าตัดก้อนมะเร็งออก หรือหากตาเขจากเบาหวานก็ต้องคุมโรคเบาหวานให้ได้ เป็นต้น

3. การผ่าตัด

          ในกรณีที่รักษาด้วยการใส่แว่นก็ยังไม่ค่อยได้ผล หรือในกรณีที่เกิดภาวะตาเขจากอุบัติเหตุ หรือเกิดภาวะตาเขจากโรคที่เป็นอยู่ แพทย์อาจรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งจะช่วยให้ตาดำตรงได้ใกล้เคียงธรรมชาติโดยไม่มีอันตราย แต่เมื่อผ่าตัดแก้ตาเขได้แล้ว สิ่งสำคัญคือต้องพยายามใช้งานตาทั้งสองข้างพร้อม ๆ กัน และให้ตาทั้งสองข้างทำงานร่วมกันได้ด้วย ซึ่งในจุดนี้จักษุแพทย์ที่เป็นเจ้าของไข้จะช่วยแนะนำวิธีปรับสายตาให้คนไข้ในแต่ละเคสเอง หลังจากการผ่าตัดแก้ตาเขเสร็จสิ้นไปด้วยดีแล้ว

          อย่างไรก็ตาม การรักษาโรคตาเข หรือภาวะตาเหล่จะมีประสิทธิภาพมากหากพบภาวะตาเขในระยะเริ่มต้น และได้ทำการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ดังนั้นหากผู้ปกครองสังเกตเห็นบุตรหลานว่ามีภาวะตาเข เช่น สังเกตได้ว่าตาทั้งสองข้างของเด็กมองไม่ไปในทางเดียวกัน หรือตาดำไม่อยู่ในระนาบเดียวกันเมื่อมองในทางตรง รวมทั้งหากสังเกตเห็นลูกหลานเอียงหน้าเวลามอง หรือมีอาการคอเอียง ควรรีบพาบุตรหลานไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจหาภาวะตาเข ซึ่งก็จะช่วยแก้อาการตาเขได้อย่างทันท่วงที หรืออย่างน้อยก็ช่วยลดความเสียงโรคตาอื่น ๆ เช่น ภาวะตาขี้เกียจ หรืออาการตาดับ ตาบอดได้นะคะ

ตาเข ตาเหล่

จ้องโทรศัพท์นาน ๆ ทำให้ตาเขจริงไหม ?!

          เนื่องจากมีเคสเด็กที่ผู้ปกครองให้เล่นสมาร์ทโฟนนาน ๆ แล้วพบว่ามีอาการตาเข ต้องผ่าตัดรักษากันวุ่นวาย ก่อให้เกิดกระแสวิพากวิจารณ์มากมายว่า จ้องจอโทรศัพท์นาน ๆ ทำตาเขได้จริงเหรอ คำตอบก็คือ ยังไม่มีการศึกษาที่พบว่า การใช้สายตากับหน้าจอสมาร์ทโฟนนาน ๆ จะเป็นสาเหตุของโรคตาเหล่ได้ เนื่องจากสาเหตุของภาวะตาเขหรือตาเหล่มักจะเกิดจากความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด โดยอาจเกิดจากกรรมพันธุ์หรือโรคที่ส่งผลต่อกล้ามเนื้อประสาทตามากกว่า ดังนั้นการเล่นมือถือนาน ๆ ไม่น่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะตาเขหรือตาเหล่ได้ค่ะ

          แต่อย่างไรก็ดี การจ้องหน้าจอโทรศัพท์นาน ๆ อาจทำให้ประสาทตาเบลอ เอียง หรือเห็นภาพซ้อนในบางขณะได้ ซึ่งทางจักษุแพทย์จะเรียกอาการนี้ว่า ภาวะตาเขชั่วคราว ซึ่งจะเกิดอาการตาเขเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้เกิดตาเขถาวรแต่อย่างใด
ทว่าการใช้สายตากับหน้าจอโทรศัพท์ ทีวี หรือหน้าจอคอมพิวเตอร์นาน ๆ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีต่อสุขภาพนะคะ ดังนั้นหากเป็นเด็กก็อย่าให้เล่นสมาร์ทโฟนหรือดูทีวีนานเกินไปจะดีกว่า ส่วนวัยทำงานที่จำเป็นต้องอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ทั้งวัน ก็ควรพักสายตาทุก ๆ 10 นาที และพยายามกะพริบตาบ่อย ๆ เพื่อป้องกันภาวะตาแห้งด้วยค่ะ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ศูนย์ตาธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
เฟซบุ๊ก Drama Addict
เฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ตาเข ตาเหล่ เกิดจากอะไร จ้องหน้าจอนาน ๆ ก็เป็นได้จริงหรือ ? อัปเดตล่าสุด 19 ตุลาคม 2560 เวลา 17:56:10 34,659 อ่าน
TOP