x close

วัคซีนผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ควรฉีดอะไรบ้าง เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงโรค

           วัคซีนผู้ใหญ่ จำเป็นต้องฉีดวัคซีนตัวไหนบ้างเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการเกิดโรค หรือช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ เราลิสต์รายชื่อวัคซีนผู้ใหญ่มาให้แล้ว
วัคซีนผู้ใหญ่

           เราได้ฉีดวัคซีนหลายชนิดกันมาตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ ทว่าพอโตเป็นผู้ใหญ่อาจละเลยการฉีดวัคซีนไป หรือเข้าใจว่าฉีดไปตอนเด็กแล้วก็ไม่ต้องฉีดอีก ทั้งที่จริงวัคซีนบางตัวก็จำเป็นจะต้องฉีดกระตุ้นเป็นรายปี เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันและเสริมประสิทธิภาพในการป้องกันและลดความรุนแรงของโรค ดังนั้น หากยังไม่ทราบว่าเราควรต้องฉีดวัคซีนตัวไหนยังไง จำเป็นต้องได้รับวัคซีนอะไรกันบ้างในวัยผู้ใหญ่แต่ละช่วง เรารวบรวมข้อมูลมาให้ตรงนี้ ไปเช็กกันเลย

วัคซีนที่ควรฉีด
สำหรับช่วงอายุ 18-64 ปี

วัคซีนที่ควรฉีด

1. วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่

          ปัจจุบันวัคซีนไข้หวัดใหญ่มีไว้เพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดสายพันธุ์ A และสายพันธุ์ B ซึ่งแต่ละสายพันธุ์ก็จะมีเชื้อไวรัสย่อย ๆ ออกไปอีก ดังนั้น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ในตอนนี้จึงมีให้ฉีดอยู่ 2 ตัวด้วยกัน ได้แก่

  • วัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิด 3 สายพันธุ์ ประกอบด้วยเชื้อไวรัสสายพันธุ์ A 2 สายพันธุ์ และเชื้อไวรัสชนิดสายพันธุ์ B 1 สายพันธุ์
  • วัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิด 4 สายพันธุ์ ประกอบด้วยเชื้อไวรัสสายพันธุ์ A 2 สายพันธุ์ และเชื้อไวรัสชนิดสายพันธุ์ B 2 สายพันธุ์

          ควรฉีดเมื่อไร : แนะนำให้ฉีดช่วงก่อนเข้าฤดูฝน ประมาณช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน และควรได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ปีละครั้ง เพราะไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ในทุก ๆ ปี และวัคซีนก็จะอัปเกรดตัวเองให้มีประสิทธิภาพพอที่จะป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในปีนั้น ๆ ได้

2. วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน สำหรับวัยรุ่นและผู้ใหญ่ (Tdap)

          เป็นวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ชนิดไร้เซลล์ สำหรับวัยรุ่นและผู้ใหญ่ หรือเรียกย่อ ๆ ว่า Tdap (Tetanus-diphtheria-acellular pertussis)

          ควรฉีดเมื่อไร : หากตอนเด็ก ๆ เคยฉีดวัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก (Td) มาแล้ว ในวัยผู้ใหญ่แนะนำให้ฉีด Tdap กระตุ้นซ้ำ 1 ครั้ง หลังจากนั้นควรฉีด Tdap หรือ Td เพื่อกระตุ้นภูมิทุก ๆ 10 ปี

3. วัคซีนป้องกันโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน

          เป็นวัคซีนรวมเพื่อป้องกันโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน โดยเป็นวัคซีนพื้นฐานที่มีบริการในทุกโรงพยาบาล

          ควรฉีดเมื่อไร : ในผู้ที่อายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่ได้ฉีดวัคซีนชนิดนี้ หากเคยเป็นหัด หัดเยอรมัน หรือคางทูมแล้ว จะมีภูมิคุ้มกันธรรมชาติอยู่ ซึ่งไม่จำเป็นต้องได้รับเข็มกระตุ้นก็ได้ หรือควรตรวจเลือดเพื่อหาภูมิก่อนฉีด

4. วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส

          ในคนที่ยังไม่เคยเป็นอีสุกอีใส ควรได้รับวัคซีนตัวนี้เพื่อป้องกันการเกิดโรค โดยจะฉีดทั้งหมด 2 เข็ม แต่หากเคยป่วยด้วยโรคนี้แล้วก็ไม่จำเป็นต้องฉีด เพราะจะมีภูมิคุ้มกันโรคได้ตลอดชีวิต หรือหากไม่แน่ใจก็สามารถตรวจเลือดเพื่อหาภูมิคุ้มกันโรคอีสุกอีใสได้

          ควรฉีดเมื่อไร : หากยังไม่เคยป่วยและไม่เคยฉีดมาก่อน สามารถฉีดเข็มที่ 1 ได้เลย และฉีดเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 4-8 สัปดาห์

5. วัคซีนป้องกันเชื้อ HPV

วัคซีน HPV

          เป็นวัคซีนที่ช่วยป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส HPV หรือ Human Papilloma Virus ที่มีสายพันธุ์ย่อย ๆ เยอะมาก และเป็นไวรัสก่อโรคมะเร็งปากมดลูก มะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์ มะเร็งทวารหนักทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย โดยปัจจุบันจะมีวัคซีน HPV อยู่ 3 ชนิดด้วยกัน คือ วัคซีน HPV ชนิด 2 สายพันธุ์, วัคซีน HPV ชนิด 4 สายพันธุ์ และวัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ ทั้งนี้ วัคซีน HPV เป็นวัคซีนทางเลือกที่มีราคาค่อนข้างสูง หากใครมีกำลังทรัพย์ก็แนะนำให้ฉีดเพื่อช่วยในการป้องกันโรคนะคะ

          ควรฉีดเมื่อไร : เพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ HPV ควรฉีดเข็มแรกตั้งแต่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ โดยฉีดได้ทั้งเพศหญิงและเพศชาย ตั้งแต่อายุ 9 ขวบ - 26 ปี และฉีดเข็มที่ 2 ห่างจากแข็มแรก 1-2 เดือน จากนั้นอีกประมาณ 6 เดือนจึงฉีดเข็มที่ 3 เป็นเข็มสุดท้าย แต่หากเคยผ่านการมีเพศสัมพันธ์แล้วก็สามารถฉีดวัคซีน HPV ได้ แต่ควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกก่อน

6. วัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ (Hepatitis A Vaccine)

         ไวรัสตับอักเสบเอ เป็นตัวการก่อโรคตับอักเสบและมะเร็งตับ แต่เราป้องกันได้ด้วยวัคซีน ซึ่งในไทยก็ยังเป็นวัคซีนทางเลือกนะคะ คือพิจารณาเป็นรายบุคคลที่มีความเสี่ยง เช่น ผู้ประกอบอาหาร สถานเลี้ยงเด็ก ผู้ที่เป็นโรคตับเรื้อรัง กลุ่มชายรักชาย ผู้ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ เป็นต้น 

         ควรฉีดเมื่อไร : แนะนำให้ตรวจเลือดเพื่อหาภูมิคุ้มกันก่อน ถ้ามีภูมิแล้วก็ไม่ต้องฉีด หรือจะเลือกฉีดเข็มกระตุ้นเพิ่มอีกเข็มก็ได้ แต่ถ้ายังไม่มีภูมิเลยสามารถรับวัคซีนเข็มที่ 1 ก่อนได้ โดยวัคซีนจะป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอได้ภายในระยะ 2-4 สัปดาห์ หลังจากได้เข็มแรก และหากกระตุ้นอีก 1 เข็ม ในอีก 6-12 เดือนต่อมา จะมีภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบเอในระดับที่สูง ซึ่งน่าจะช่วยป้องกันโรคได้อย่างน้อย 16-25 ปี

7. วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B Vaccine)

          ไวรัสตับอักเสบบี เป็นไวรัสที่ก่อโรคตับอักเสบเฉียบพลัน ตับอักเสบเรื้อรัง โรคตับแข็ง มะเร็งตับ แต่ก่อนจะฉีดแนะนำให้ตรวจเลือดเพื่อหาภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบบีก่อน

          ควรฉีดเมื่อไร : ฉีดได้ในผู้ใหญ่ที่ยังไม่ติดเชื้อและยังไม่มีภูมิคุ้มกัน โดยฉีดได้ทันที​ โดยเฉพาะคนที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้ป่วยโรคไต ผู้ที่ต้องรับเลือดบ่อย ๆ คู่สมรสของผู้ที่เป็นพาหะ บุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติการตรวจเลือดผู้ป่วย เป็นต้น โดยแนะนำให้ฉีดวัคซีนทั้งหมด 3 ครั้ง ครั้งที่ 2 ห่างจากครั้งแรกอย่างน้อย 1-2 เดือน และครั้งที่ 3 ห่างจากครั้งแรกอย่างน้อย 6 เดือน

วัคซีนที่ควรฉีด
สำหรับผู้สูงอายุ 65 ขึ้นไป

วัคซีนที่ผู้สูงอายุควรฉีด

1. วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่

          ฉีด 1 เข็ม เป็นประจำทุกปี ยิ่งหากผู้สูงอายุมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หอบหืด โรคไต โรคเลือด โรคถุงลมโป่งพอง ภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือกินยากดภูมิคุ้มกันอยู่ ยิ่งจำเป็นต้องได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่

2. วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน สำหรับวัยรุ่นและผู้ใหญ่ (Tdap) เข็มกระตุ้น

           ควรฉีดเข็มกระตุ้นทุก ๆ 10 ปี เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน

3. วัคซีนหัด คางทูม และหัดเยอรมัน

           ควรฉีดในคนที่ไม่มีภูมิคุ้มกันโรคนี้ และไม่เคยได้รับวัคซีนชนิดนี้มาก่อน โดยจะฉีด 2 เข็ม ห่างกันอย่างน้อย 4 สัปดาห์

4. วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส

           หากยังไม่เคยเป็นอีสุกอีใส และไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อนเลย ควรได้รับวัคซีน 2 เข็ม โดยเข็มแรกและเข็มที่ 2 จะฉีดห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน

5. วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี

          หากตรวจเลือดแล้วไม่พบภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบบี แนะนำให้ฉีดวัคซีนชนิดนี้เพื่อป้องกันการเกิดโรค ซึ่งจะฉีดทั้งหมด 3 เข็ม โดยเข็มที่ 2 ฉีดห่างจากเข็มแรก 1-2 เดือน เข็มที่ 3 ฉีดห่างจากครั้งแรก 6 เดือน

6. วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด

          เป็นวัคซีนที่แนะนำให้ผู้มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ฉีด 1 เข็ม เพราะมีความเสี่ยงเป็นโรคงูสวัดสูงสุด โดยจะฉีดเพียงครั้งเดียว ไม่ต้องฉีดกระตุ้นภูมิซ้ำ

7. วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบนิวโมคอคคัส

           ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อรุนแรง จึงควรได้รับวัคซีนชนิดนี้ รวมไปถึงผู้ป่วยที่ตัดม้าม ผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหอบหืด โรคถุงลมโป่งพอง โรคตับแข็ง โรคไตวายเรื้อรัง โรคเบาหวาน ก็ควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบนิวโมคอคคัสเช่นกัน โดยแนะนำให้ฉีดวัคซีนปอดอักเสบ 13 สายพันธุ์ 1 เข็ม และชนิด 23 สายพันธุ์ อีก 1 เข็ม หลังจากฉีดเข็มแรกไปแล้ว 1 ปี
            วัคซีนผู้ใหญ่ก็มีความจำเป็นไม่แพ้วัคซีนของเด็กเล็ก ๆ เลยนะคะ ยิ่งหากเป็นผู้สูงอายุก็ยิ่งต้องใส่ใจกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้มากหน่อย เพราะเป็นกลุ่มที่ป่วยแล้วอาจมีอาการรุนแรงได้ ดังนั้น หากสะดวกที่จะฉีดวัคซีนป้องกันโรคก็แนะนำให้ไปปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการฉีดวัคซีนที่จำเป็นได้เลย

บทความที่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน

ขอบคุณข้อมูลจาก : สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย (1), (2), สถาบันวัคซีนแห่งชาติ, กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการรุณย์, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ (1), (2), (3)

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วัคซีนผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ควรฉีดอะไรบ้าง เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงโรค อัปเดตล่าสุด 2 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 15:31:51 11,276 อ่าน
TOP