x close

15 เรื่องวัคซีน HPV ที่สาว ๆ ต้องรู้ ก่อนฉีดป้องกันมะเร็งปากมดลูก

          โรค HPV ต้นเหตุมะเร็งปากมดลูกที่อันตรายกว่าที่คิด แต่เราจำเป็นต้องฉีดวัคซีน HPV หรือไม่ แล้วควรฉีดอายุเท่าไร

วัคซีน hpv

          มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งตัวร้ายอันดับต้น ๆ ที่คร่าชีวิตหญิงไทย สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อฮิวแมนแพปพิลโลมาไวรัส (Human Papillomavirus) หรือเรียกย่อ ๆ ว่า เชื้อ HPV ซึ่งสายพันธุ์ที่ก่อมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิงกว่าร้อยละ 70 คือ สายพันธุ์ 16 และ 18 โดยเรามักได้ยินคำแนะนำให้ผู้หญิงที่มีอายุ 9-26 ปี และยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ไปฉีดวัคซีน HPV ตัวนี้ อย่างไรก็ตาม ยังมีหลายคนมีคำถามมากมายเกี่ยวกับวัคซีน HPV วันนี้เราจึงขอรวบรวมมาไขข้อข้องใจกันทีละเรื่อง

1. วัคซีน HPV คืออะไร ป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้แค่ไหน

          วัคซีน HPV เป็นวัคซีนที่ช่วยป้องกันมะเร็งปากมดลูก ผลิตจากโปรตีนที่เปลือกหุ้มเชื้อไวรัส ปัจจุบันที่นิยมมีอยู่ 3 ชนิด คือ

          - ชนิดที่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 2 สายพันธุ์ (สายพันธุ์ที่ 16 และ 18) มีชื่อการค้าว่า Cervarix ป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ประมาณ 70%

          - ชนิด 4 สายพันธุ์ (สายพันธุ์ที่ 6, 11, 16 และ 18) มีชื่อการค้าว่า Gardasil ป้องกันมะเร็งปากมดลูก และหูดที่อวัยวะเพศ

          - ชนิด 9 สายพันธุ์ (สายพันธุ์ที่ 6, 11, 16, 18, 31, 33, 45, 52 และ 58) มีชื่อการค้าว่า Gardasil 9 องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) เพิ่งรับรองประสิทธิภาพวัคซีนตัวนี้ โดยสามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกและหูดได้ประมาณ 90% รวมทั้งป้องกันมะเร็งทวารหนักได้ประมาณ 80%

          ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้วัคซีน HPV เป็นส่วนหนึ่งของวัคซีนพื้นฐานในประเทศที่มีงบประมาณเพียงพอ ควบคู่กับมาตรการป้องกันมะเร็งปากมดลูกวิธีอื่น ๆ ด้วย

          สำหรับประเทศไทย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ดำเนินโครงการฉีดวัคซีนเอชพีวีฟรีให้กับนักเรียนหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ซึ่งเป็นวัยเหมาะสมที่สุดในการรับวัคซีนนี้แล้ว โดยเริ่มต้นในเดือนกรกฎาคม 2560

2. วัคซีน HPV ต้องฉีดกี่เข็ม ป้องกันได้นานแค่ไหน

          ต้องฉีดทั้งหมด 3 เข็มภายในระยะเวลา 6 เดือน คือ

          - ครั้งที่ 1 ให้ฉีดตามที่กำหนด
          - ครั้งที่ 2 ห่างจากครั้งแรก 1-2 เดือน
          - ครั้งที่ 3 ห่างจากเข็มแรกประมาณ 6 เดือน

          ทั้งนี้วัคซีนจะมีความสามารถในการป้องกันการติดเชื้อหลังฉีดครบ 3 เข็มไปแล้ว 1 เดือนโดยมีข้อมูลว่า 10 ปีหลังการฉีดวัคซีน ร่างกายยังคงมีภูมิคุ้มกันสูงพอจะป้องกันโรคได้ และจากการคำนวณด้วยวิธีทางภูมิคุ้มกันวิทยา พบว่า ระดับภูมิคุ้มกันอาจอยู่ได้ตลอดชีวิตโดยไม่ต้องฉีดวัคซีนกระตุ้น แต่อย่างไรก็ตาม ควรต้องติดตามข้อมูลจากหลักฐานทางการแพทย์ที่แน่ชัดต่อไป

3. ฉีดวัคซีน 2 เข็มแทน 3 เข็มได้จริงไหม
 
          ถ้าลองเสิร์ชหาข้อมูลเรื่องวัคซีน HPV อาจพบว่ามีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีน HPV 2 เข็มแทน 3 เข็มได้ ซึ่งหากถามว่าจะมีประสิทธิภาพเทียบเท่า 3 เข็มหรือไม่นั้น นศภ.สุธิกานต์ เดชพรประทีป ได้ให้ข้อมูลไว้ในเว็บไซต์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ว่า มีหลายการศึกษาในต่างประเทศที่ศึกษาเรื่องนี้ และพบว่าการให้วัคซีน HPV แบบ 2 เข็ม น่าจะเพียงพอในผู้หญิงที่อายุยังน้อย โดยแนะนำให้ใช้ในผู้หญิงอายุ 9-14 ปีเท่านั้น ซึ่งเข็มที่ 1 ฉีดในวันที่กำหนดเลือก และหลังจากนั้นอีก 6 เดือน จึงค่อยฉีดเข็มที่ 2 ส่วนคนที่อายุมากกว่า 14 ปี ควรต้องฉีด 3 เข็มตามปกติ

วัคซีน hpv

4. วัคซีน HPV ต้องฉีดที่ส่วนใดของร่างกาย


          คำตอบคือฉีดเข้าที่กล้ามเนื้อต้นแขนหรือกล้ามเนื้อสะโพกเหมือนการฉีดยาทั่วไป โดยวัคซีนจะไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันในกระแสเลือด แล้วภูมิคุ้มกันจะไหลเวียนไปทั่วร่างกาย ก่อนจะออกจากกระแสเลือดในรูปของมูกและสารคัดหลั่งที่ปากมดลูกและช่องคลอด จึงช่วยป้องกันการติดเชื้อที่อวัยวะเหล่านี้ได้

5. ฉีดวัคซีน HPV อายุเท่าไรดีที่สุด

          โดยทั่วไปแนะนำให้ฉีดก่อนถึงวัยที่จะมีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อและรอยโรคที่จะเกิดตามมาได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ซึ่งองค์การอาหารและยาของอเมริกาได้แนะนำให้เริ่มฉีดเมื่ออายุประมาณ 11-12 ปี แต่อาจจะฉีดเมื่ออายุ 9 ขวบก็ได้ เนื่องจากเด็กจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้มีการศึกษาพบว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ HPV ในสตรีช่วงอายุ 9-26 ปี

6. ถ้าอายุเกิน 26 ปีไปแล้ว จะยังฉีดวัคซีน HPV ได้หรือไม่

          หากยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ก็สามารถฉีดได้ แต่หากเคยมีเพศสัมพันธ์แล้วควรตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear Test) เพื่อหาเชื้อ HPV ก่อน

วัคซีน hpv

7. ก่อนฉีดวัคซีน HPV ต้องตรวจหาเชื้อ HPV ก่อนไหม

          ในคนที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์จะมีโอกาสติดเชื้อ HPV น้อยมาก จึงไม่จำเป็นต้องตรวจหาเชื้อก็ฉีดได้เลย แต่หากเคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว ควรตรวจหาเชื้อก่อน เพราะถ้าได้รับเชื้อไวรัส HPV มาแล้ว วัคซีนนี้จะไม่สามารถช่วยป้องกันหรือรักษาได้ จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องฉีด

8. เคยมีเพศสัมพันธ์แล้วจะฉีดวัคซีนได้ไหม

          อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า หากเคยมีเพศสัมพันธ์แล้วก็ยังฉีดวัคซีนได้ แต่ต้องตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกก่อน อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้วยังอาจไม่ได้รับประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันจากวัคซีน

9. ใครไม่ควรฉีดวัคซีน HPV

          1. หญิงมีครรภ์ แต่หากพบว่าตั้งครรภ์ขณะกำลังได้รับวัคซีนแต่ยังฉีดไม่ครบ ให้ฉีดวัคซีนเข็มที่เหลือต่อในช่วงหลังคลอด
          2. ผู้ที่แพ้ส่วนประกอบในวัคซีน เช่น ยีสต์
          3. ผู้ที่มีอาการที่บ่งชี้ว่าเคยแพ้ หรือมีภาวะไวเกินหลังจากการฉีดวัคซีนครั้งแรก

          สำหรับคนที่มีอาการไข้หวัด หากเป็นหวัดเล็กน้อย สามารถฉีดวัคซีนได้ แต่หากมีไข้สูง หรือมีโรคประจำตัวกำเริบ ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปก่อน

วัคซีน hpv

10. วัคซีน HPV ในผู้ชายฉีดได้ไหม

          ผู้ชายก็สามารถฉีดวัคซีน HPV ได้ เพราะแม้จะไม่มีโอกาสเป็นมะเร็งปากมดลูก แต่หากไปมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงที่มีเชื้อ HPV แล้วได้รับเชื้อมา ก็สามารถแพร่เชื้อต่อไปยังคู่นอนคนอื่นได้เช่นกัน ซึ่งในต่างประเทศมีการรณรงค์ให้ฉีดวัคซีนป้องกัน HPV ทั้งในเพศหญิงและเพศชายบ้างแล้ว เช่น องค์กรควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา ได้แนะนำให้เด็กชายอายุ 11-12 ปี ฉีดวัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ เพื่อป้องกันโรคหูดหงอนไก่และมะเร็งทวารหนัก

          ขณะที่ประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2561 ก็มีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย อายุ 9-26 ปี โดยเน้นให้ฉีดในช่วงอายุ 11-12 ปี (ฉีด 3 เข็ม ในเดือนที่ 0, 1-2 และ 6)

11. วัคซีน HPV ผลข้างเคียงมีอะไรบ้าง

          จริง ๆ แล้ววัคซีน HPV มีความปลอดภัยสูง แต่ในบางคนอาจได้รับผลข้างเคียงคล้าย ๆ กับการฉีดวัคซีนชนิดอื่น ๆ เช่น รู้สึกปวดบวมแดงบริเวณที่ฉีดยา ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ เป็นไข้ต่ำ ๆ คลื่นไส้ ซึ่งอาการเหล่านี้ไม่รุนแรง และจะหายไปได้เองเมื่อผ่านไป 2-3 วัน

          แต่อย่างไรก็ตามอาจมีบางคนได้รับผลข้างเคียงที่ร้ายแรง เช่น แพ้ยา มีภาวะทางระบบประสาท ซึ่งพบได้ในจำนวนน้อย หากใครฉีดมาแล้วมีอาการเวียนหัว หน้ามืด ใจเต้นแรง รู้สึกแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ควรรีบพบแพทย์ทันที

วัคซีน hpv

12. ฉีดวัคซีน HPV ป้องกันและรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ได้หรือไม่

          วัคซีนชนิดนี้ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ประเภทอื่นที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อ HPV ได้ เช่น โรคเริม ตกขาวจากเชื้อโรคชนิดต่าง ๆ แต่หากฉีดชนิด 4 สายพันธุ์ หรือ 9 สายพันธุ์ จะช่วยป้องกันโรคหูดได้ อย่างไรก็ตาม หากมีรอยโรคก่อนมะเร็งชนิดต่าง ๆ เช่น มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด ควรรักษาให้หายก่อน จึงค่อยฉีดวัคซีน

13. หลังฉีดวัคซีนแล้วจะมีเพศสัมพันธ์ได้เลยไหม

          สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ แต่ควรคุมกำเนิดด้วยวิธีที่มีประสิทธิภาพ เช่น การใส่ถุงยางอนามัย จนกระทั่งฉีดครบ 3 เข็มไปแล้วอย่างน้อย 1 เดือน เพราะความสามารถในการป้องกันการติดเชื้อจะเกิดขึ้นภายใน 1 เดือน หลังฉีดวัคซีนครบ 3 เข็ม

วัคซีน hpv

14. ฉีดวัคซีน HPV ไปแล้ว ยังต้องตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอยู่หรือเปล่า

          แม้จะฉีดวัคซีน HPV ไปแล้ว แต่จำเป็นต้องมาตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกตามแพทย์นัด เนื่องจากวัคซีนไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้อย่างสมบูรณ์ และอย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า เชื้อไวรัส HPV มีหลายสายพันธุ์ แต่วัคซีนนั้นป้องกันได้เพียงบางสายพันธุ์เท่านั้น จึงควรตรวจคัดกรองอยู่เสมอ

15. วัคซีน HPV ราคาเท่าไร

          ในปัจจุบันวัคซีน HPV ยังมีราคาสูงอยู่เมื่อเทียบกับวัคซีนชนิดอื่น ๆ ที่ใช้ป้องกันโรค คือโดยเฉลี่ยเข็มละ 2,000-4,000 บาท ซึ่งมีโรงพยาบาลหลายแห่งจัดเป็นแพ็กเกจ ฉีด 2 เข็ม (สำหรับเด็กอายุ 9-14 ปี) ในราคาประมาณ 4,000-6,000 บาท หากฉีด 3 เข็ม (สำหรับคนอายุเกิน 14 ปี) ในราคาประมาณ 6,000-10,000 บาท ขึ้นอยู่กับว่าเป็นวัคซีนชนิดกี่สายพันธุ์ แต่หากเป็นโรงพยาบาลของรัฐ ราคาจะถูกกว่าโรงพยาบาลเอกชน ลองสอบถามค่าบริการได้จากแผนกสูตินรีเวชของโรงพยาบาลที่เราสะดวกเข้ารับการฉีดวัคซีน หรือตรวจสอบข้อมูลจากเว็บไซต์ของแต่ละโรงพยาบาล


          สรุปแล้วก็คือ วัคซีน HPV ไม่สามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ 100% เพราะยังมีเชื้อ HPV บางสายพันธุ์ที่ป้องกันไม่ได้ แต่ก็เป็นด่านป้องกันได้ระดับหนึ่ง ซึ่งการจะฉีดวัคซีนหรือไม่ก็ต้องพิจารณาหลายเรื่อง รวมทั้งเรื่องทุนทรัพย์ด้วย เพราะราคาวัคซีน HPV ค่อนข้างสูง และควรปรึกษาแพทย์ก่อนค่ะ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะฉีดวัคซีนแล้ว ก็ยังจำเป็นต้องตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกตามแพทย์แนะนำ แม้จะไม่มีอาการผิดปกติก็ตาม
 
 
ขอบคุณข้อมูลจาก
ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
สมาคมมะเร็งนรีเวชไทย
สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
เฟซบุ๊ก หมอแล็บแพนด้า
 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
15 เรื่องวัคซีน HPV ที่สาว ๆ ต้องรู้ ก่อนฉีดป้องกันมะเร็งปากมดลูก อัปเดตล่าสุด 31 สิงหาคม 2563 เวลา 09:18:20 200,691 อ่าน
TOP