โรค HPV คือ ไวรัสตัวร้าย บ่อเกิดมะเร็งปากมดลูก


          โรค HPV คืออะไร มีความร้ายแรงอย่างไรบ้าง หากไปฉีดวัคซีน HPV จะป้องกันการติดเชื้อได้ทั้งหมดหรือไม่ ไปดูกันเลย

          หลายคนคงเคยรู้จัก ไวรัส HPV กันดีอยู่แล้ว เพราะนี่เป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิง และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ที่เกิดขึ้นได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย โดยมีไวรัส HPV กว่า 40 ชนิดที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อที่บริเวณอวัยวะสืบพันธุ์และทวารหนักได้ แต่ถึงอย่างนั้นบางคนก็ยังคงสงสัยอยู่ว่า HPV คืออะไร และสามารถป้องกันได้หรือไม่

          ก่อนอื่นเราคงจะต้องมาทำความรู้จักกับ HPV กันก่อน โดย นพ.ธีรศักดิ์ ธำรงธีระกุล สูติ-นรีแพทย์ โรงพยาบาลวิภาวดี ได้ระบุว่า เชื้อ HPV หรือ Human Papilloma Virus เป็นไวรัสตัวหนึ่งที่มีสายพันธุ์มากกว่า 100 ชนิด แต่ละสายพันธุ์จะก่อให้เกิดโรคได้ต่างชนิดกัน โดยสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์และทวารหนักที่รู้จักกันดีคือ สายพันธุ์ เบอร์ 6, 11, 16 และ 18 ซึ่งการติดเชื้อบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์และทวารหนักจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่บริเวณมดลูกและสามารถนำไปสูการเกิดมะเร็งที่ปากมดลูกในที่สุด โดยเบอร์ 6 และ 11 เป็นสายพันธุ์ที่ไม่รุนแรงก่อให้เกิดมะเร็งได้ต่ำ (Low-risk) ขณะที่สายพันธุ์เบอร์ 16 และ 18 นั้นเป็นสายพันธุ์ที่รุนแรงที่ก่อให้เกิดมะเร็งได้สูง (High-risk)

hpv คืออะไร
 การติดเชื้อ HPV

          นายแพทย์กมล ภัทราดูลย์ สูติ-นรีแพทย์ด้านมะเร็ง โรงพยาบาลเวชธานี เผยว่า เชื้อ HPV เป็นเชื้อไวรัสที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ดังนั้น ทั้งหญิงและชายหากมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ ก็สามารถติดเชื้อ HPV ได้ทุกทาง ซึ่งสามารถติดต่อและก่อให้เกิดมะเร็งในอวัยวะสืบพันธุ์ส่วนอื่น ๆ ได้เช่นกัน เช่น ในผู้หญิงก่อให้เกิดมะเร็งช่องคลอด, อวัยวะสืบพันธุ์ภายนอก และทวารหนักได้ ส่วนในผู้ชาย สามารถก่อให้เกิดมะเร็งที่องคชาติได้เช่นกัน

          นอกจากนี้ยังพบว่า เด็กแรกเกิดก็สามารถติดเชื้อ HPV ได้เช่นกัน ในขณะที่คลอดผ่านช่องคลอดของมารดาที่มีเชื้อนี้อยู่ ซึ่งอาจทำให้ติดเชื้อ HPV ที่กล่องเสียงได้

มะเร็งปากมดลูก

 โรคจากการติดเชื้อ HPV

          ปัจจุบันพบว่าการติดเชื้อ HPV เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบบ่อยที่สุด จะพบเชื้อนี้ในช่องคลอดสตรี และปากมดลูกมากกว่าบริเวณอื่น แต่การติดเชื้อนี้ส่วนมากจะหายเองได้ภายในระยะเวลาประมาณ 2 ปี เมื่อร่างกายสร้างภูมิต้านทานเชื้อนี้ขึ้นมาได้อย่างเพียงพอ มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จะคงอยู่และทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา เช่น

          - หูดหงอนไก่ (Condyloma accuminata) จะมีลักษณะเป็นตุ่มเล็ก ๆ ผิวไม่เรียบ หลาย ๆ ตุ่มกระจายเต็มอวัยวะเพศภายนอก อาจมีอาการคันได้ ส่วนมากพบได้ที่บริเวณปากช่องคลอด ช่องคลอด ปากมดลูก นอกจากนั้นอาจพบในลำคอ คอหอย

          - มะเร็งปากมดลูก (Cervical cancer) ปัจจุบันมีหลักฐานมากมายที่บอกว่ามะเร็งปากมดลูกมีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อ HPV ซึ่งประมาณ 70% ของมะเร็งปากมดลูกทั้งหมดมักจะเกิดจากสายพันธุ์ 16 และ 18 มากที่สุด โดยเชื้อจะทำให้เซลล์ปากมดลูกเปลี่ยน แปลงไปเป็นเซลล์มะเร็งได้

          - มะเร็งเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์อื่น ๆ เช่น มะเร็งอวัยวะเพศหญิง มะเร็งช่องคลอด โรคมะเร็งอวัยวะเพศชาย หรือ มะเร็งองคชาต และโรคมะเร็งที่ทวารหนัก เป็นต้น

ผู้หญิง ฉีดวัคซีน มะเร็งปากมดลูก

 อาการสำคัญของผู้ติดเชื้อ HPV

          ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อ HPV มักไม่มีอาการแสดงให้เห็นในระยะแรก ๆ แต่หากในผู้หญิงคนใดที่มีอาการเข้าข่ายกลุ่มอาการดังต่อไปนี้ นับว่ามีแนวโน้มสูงที่จะเป็นผู้ติดเชื้อ HPV

           1. มีตกขาวมากกว่าปกติ

           2. ตกขาวมีกลิ่นเหม็น

           3. ประจำเดือนมาผิดปกติ

           4. มีเลือดออกขณะมีเพศสัมพันธ์

           5. มีอาการแสบร้อน คัน หรือตึงบริเวณที่มีการติดเชื้อ

           6. มีเลือดออกจากช่องคลอด

           7. เกิดการอุดตันของท่อทางเดินปัสสาวะ

           8. กรณีเป็นหูดหงอนไก่ จะพบตุ่มเนื้องอกเล็ก ๆ บริเวณปากช่องคลอด หลาย ๆ ตุ่ม ไม่มีอาการเจ็บ

 การรักษาเมื่อติดเชื้อ HPV 

          ในปัจจุบันนี้ ยังไม่มีการรักษาใดที่จะสามารถรักษาหรือกำจัดเชื้อ HPV ออกจากร่างกายได้ทั้งหมด มีเพียงการนำส่วนที่ติดเชื้อออกไปเท่านั้น ซึ่งวิธีการผ่าตัดนำชิ้นส่วนที่ติดเชื้อ HPV ออกไปนั้นก็ยังไม่สามารยับยั้งการแพร่กระจายของโรคได้ ทั้งยังพบว่าผู้ป่วยสามารถกลับมาเกิดโรคซ้ำได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามพบว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HPV นั้นสามารถหายได้เองในปีแรกไดัถึง 70% และหายไปเกือบ 90% ในปีถัดมา


เซ็กซ์


 วิธีการดูแลตัวเอง เมื่อติดเชื้อ HPV

           1. ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงเสมอ รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน

           2. ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพ

           3. ใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีการร่วมเพศ

           4. ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทุกปี หรือบ่อยตามแพทย์แนะนำ

           5. พบแพทย์เมื่อมีโรคหูดหงอนไก่

 การลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ HPV

           1. ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง

           2. รับประทานอาหาร ผัก ผลไม้ที่มีประโยชน์

           3. ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ

           4. ใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีการร่วมเพศ ซึ่งแม้จะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100% แต่ก็ช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อได้

           5. การมีเพศสัมพันธ์กับคู่ครองเพียงคนเดียว ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย

           6. ฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยลดโอกาสการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้


วัคซีน Hpv


วัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV

          สำหรับการฉีดวัคซีน HPV (HPV vaccine) หรือการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกนั้น เป็นวัคซีนที่ฉีดให้แก่ผู้หญิงที่ยังไม่ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ใด ๆ หรืออีกนัยหนึ่งคือยังไม่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ โดยองค์การอาหารและยาของอเมริกาได้แนะนำให้เริ่มฉีดเมื่ออายุประมาณ 11-12 ปี แต่อาจจะฉีดเมื่ออายุ 9 ปีก็ได้ เนื่องจากเด็กจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้อย่างเต็มที่ และสำหรับผู้ที่มีอายุ 13-26 ที่ไม่เคยฉีดวัคซีน หรือฉีดไม่ครบก็ควรจะได้รับการฉีดวัคซีนทุกคน

          สำหรับราคา วัคซีน HPV นั้นมีความแตกต่างกันไปในโรงพยาบาลแต่ละแห่ง ซึ่งสามารถสอบถามค่าบริการได้จากแผนกสูตินารีเวชของโรงพยาบาลที่เราสะดวกเข้ารับการฉีดวัคซีน

          โดยวัคซีน HPV นี้จะฉีดทั้งหมด 3 ครั้ง ดังนี้

          - ครั้งที่ 1 ให้ฉีดตามที่กำหนด

          - ครั้งที่ 2 ห่างจากครั้งแรก 1-2 เดือน

          - ครั้งที่ 3 ห่างจากเข็มแรกประมาณ 6 เดือน

          อย่างไรก็ตาม วัคซีนนี้ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อ HPV ได้ทุกชนิด โดยจะป้องกันในสายพันธุ์ที่ 6, 11, 16 และ 18 ได้เท่านั้น ดังนั้น จึงไม่สามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ทั้งหมด สามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้เพียง 70% และไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ได้ ดังนั้น ถึงแม้ว่าจะได้รับวัคซีนครบแล้วก็ยังต้องมีความตระหนักในการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เช่นกัน

          ท้ายนี้ แพทย์ได้แนะนำว่า แม้ว่าจะมีการป้องกันการติดเชื้อ HPV หรือแม้จะได้รับวัคซีน HPV แล้วก็ตาม แต่สำหรับผู้หญิงที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ซึ่งมีเพศสัมพันธ์แล้ว ผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว หรือผู้หญิงมีอายุ 30 ปีขึ้นไปไม่ว่าจะเคยมีเพศสัมพันธ์หรือไม่ก็ตาม ควรจะเข้ารับการตรวจภายในปีละ 1 ครั้ง หรือบ่อยตามแพทย์แนะนำ แม้จะไม่มีอาการผิดปกติก็ตาม


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
- chulacancer.net
- vibhavadi.com
- hpv-thailand.com
- siamhealth.net
- haamor.com




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรค HPV คือ ไวรัสตัวร้าย บ่อเกิดมะเร็งปากมดลูก อัปเดตล่าสุด 25 เมษายน 2562 เวลา 17:34:17 121,476 อ่าน
TOP
x close