กากแคดเมียม คืออะไร ทำไมแค่ดมก็อันตราย พร้อมเช็กวิธีปฐมพยาบาล

           แคดเมียม หนึ่งในแร่โลหะหนักที่มีประโยชน์หลายด้าน แต่หากหายใจหรือสัมผัสสารพิษนี้เข้าไปอาจเป็นอันตรายมากกว่าที่คิด
กากแคดเมียม

           จากข่าวพบการลักลอบขุดกากแคดเมียม และขนย้ายมาซุกซ่อนตามจังหวัดต่าง ๆ สร้างความตกอกตกใจอยู่ไม่น้อย เพราะแคดเมียมคือสารอันตราย ที่หากสะสมอยู่ในร่างกายในปริมาณมาก ๆ ย่อมส่งผลให้เกิดโรคร้ายแรงตามมา ประเด็นนี้จึงทำให้คนสงสัยว่า กากแคดเมียม คืออะไร ใช้ทำอะไร ทำไมถึงเป็นที่ต้องการนัก แล้วจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพแค่ไหน ชวนมาศึกษาข้อมูลเรื่องนี้กัน

กากแคดเมียม คืออะไร

กากแคดเมียม

          แคดเมียม (Cadmium) สูตรทางเคมีคือ Cd เป็นแร่โลหะหนักชนิดหนึ่ง มีสีเงิน ๆ ขาว ๆ ไม่มีกลิ่น มักพบปะปนอยู่กับแร่ธาตุอื่น ๆ เช่น แร่สังกะสี แร่ตะกั่ว หรือทองแดง เนื่องจากการทำเหมืองสังกะสีจะได้แคดเมียมเป็นผลพลอยได้ตามมา

          ทั้งนี้ ในอากาศที่มีความชื้น แคดเมียมจะถูกออกซิไดซ์ช้า ๆ ได้เป็นแคดเมียมออกไซด์ที่มีคุณสมบัติละลายได้ทั้งในกรดอินทรีย์และกรดอนินทรีย์ สามารถปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม เช่น ในอาหาร น้ำ น้ำทิ้ง น้ำเสีย และสามารถทำปฏิกิริยาเคมีอย่างรุนแรงกว่าสารที่ให้ออกซิเจน เช่น กำมะถัน ซีลีเนียม และเทลลูเรียม

          นอกจากนี้ สารแคดเมียมยังคือฝุ่นละอองขนาดเล็กอีกชนิดของ PM2.5 รวมถึงเป็นสารที่พบมากในใบยาสูบ บุหรี่ ดังนั้นการสูบบุหรี่แบบมวนและบุหรี่ไฟฟ้าก็เท่ากับรับสารแคดเมียมเข้าสู่ร่างกายด้วยเช่นกัน

แคดเมียม มีประโยชน์ใช้ทำอะไร

กากแคดเมียม ประโยชน์ทำแบตเตอรี่

          เนื่องจากแคดเมียมมีสีเงินวาว ๆ และมีเนื้ออ่อน ทำให้บิดโค้งงอได้ง่าย อีกทั้งยังทนทานต่อการสึกกร่อน จึงนิยมนำมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น

  • ใช้ผลิตแบตเตอรี่แบบชาร์จไฟซ้ำได้ หรือแบตเตอรี่แบบนิกเกิล-แคดเมียม (Ni-Cd) ที่จ่ายกระแสไฟสูงกว่าแบตเตอรี่ลิเทียม

  • ใช้ฉาบและเคลือบเงาผิวโลหะประเภทเหล็ก เหล็กกล้า ทองแดง 

  • ใช้ผสมกับทองแดง นิกเกิล ทองคำ บิสมัท และอะลูมิเนียม เพื่อให้ได้สารประกอบที่หลอมตัวง่าย  

  • ใช้ชุบโลหะหรืออุปกรณ์ที่ต้องทนความร้อน เพื่อป้องกันสนิมและการกัดกร่อน

  • ใช้เป็นสารเพิ่มความคงตัวของพลาสติก จำพวกพีวีซี ผลิตเม็ดสี

  • ใช้ผลิตเป็นเม็ดสี โดยแคดเมียมจะได้สีเหลืองสด สีส้ม สีแดง ทำสีในพลาสติกและแก้ว รวมทั้งนำมาผสมในสีต่าง ๆ เช่น สีทาบ้าน สีทาอาหาร สีพ่น หมึก ยาง สีที่จิตรกรใช้วาดภาพ

  • ใช้เป็นส่วนผสมของวัสดุอุดฟันอะมัลกัมที่ใช้ในคลินิกทำฟัน

  • ผสมในสารฆ่าเชื้อราที่ใช้ในการทำเกษตรกรรม

          โดยปัจจุบัน แคดเมียม เป็นที่ต้องการของภาคอุตสาหกรรมทั่วโลก ทำให้มูลค่าแคดเมียมในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ

แคดเมียม เข้าสู่ร่างกายได้ทางไหน

          แคดเมียมเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง คือ

  • ทางตา 

  • ทางจมูก จากการหายใจเอาฝุ่นละอองที่ปนเปื้อนแคดเมียมเข้าไป รวมถึงการสูดดมสารแคดเมียมที่เกิดจากการนำสารแคดเมียมไปกระทบวัสดุอื่น ทำให้เกิดประกายไฟ หรือมีการเจียไฟ การเชื่อมโลหะหนักที่มีสารแคดเมียม 

  • ทางปาก จากการรับประทานอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนแคดเมียม หรือใช้น้ำจากแหล่งน้ำที่ปนเปื้อนแคดเมียม

  • ทางผิวหนัง จากการสัมผัส

          วิธีการตรวจร่างกายว่ามีสารแคดเมียมในร่างกายเยอะแค่ไหน สามารถตรวจได้ด้วยเครื่อง Oligoscan ซึ่งเป็นการตรวจวัดระดับแร่ธาตุและโลหะหนักระดับเนื้อเยื่อ

แคดเมียม ก่อให้เกิดโรคอะไร
อาการเป็นยังไง

แคดเมียม ก่อให้เกิดโรคอะไร

           ทางศูนย์พิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ข้อมูลว่า โดยปกติแคดเมียมคือสารที่ทุกคนพบเจอและสัมผัสได้อยู่แล้วในชีวิตประจำวัน ทั้งจากอาหารและน้ำ เนื่องจากอาหารทุกอย่างถูกผลิตขึ้นจากผิวเปลือกโลกซึ่งมีสารแคดเมียมอยู่ อย่างไรก็ตาม ปริมาณที่ได้รับนั้นเป็นไปตามเกณฑ์ที่ร่างกายรับได้ และร่างกายสามารถขับออกไปได้เองผ่านปัสสาวะ ทว่าการได้รับแคดเมียมมากเกินไปจนสะสมในร่างกายและร่างกายไม่สามารถขับออกได้ก็จะส่งผลต่อสุขภาพโดยตรง

          สำหรับอันตรายของสารแคดเมียม ก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ ดังนี้

พิษเฉียบพลัน

  • กรณีหายใจเอาไอระเหยของแคดเมียมเข้าไป จะส่งผลให้มีอาการปวดศีรษะ มีไข้ หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก มีกลิ่นโลหะในปาก ไอมีเสมหะเป็นฟอง หรือมีเสมหะเป็นเลือด อ่อนเพลีย ปวดขา ต่อมาปัสสาวะจะน้อยลง มีอาการของปอดอักเสบ

  • กรณีได้รับสารพิษจากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนแคดเมียม จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ น้ำลายไหล ปวดท้อง ช็อก ไตและตับถูกทำลาย

พิษเรื้อรัง

          เกิดจากการได้รับสารแคดเมียมทีละน้อยเป็นเวลานาน โดยสารแคดเมียมสามารถสะสมอยู่ในไตได้นาน 20-30 ปี ถึงขับสารพิษออกมาได้ครึ่งหนึ่ง ส่งผลให้มีอาการป่วยเรื้อรัง ได้แก่

  • มีผลต่อความเป็นพิษของไต ทำให้เกิดโรคไต กรวยไตอักเสบ เสี่ยงต่อมะเร็งไต 

  • โรคอิไต-อิไต เป็นโรคที่เกิดจากแคดเมียมโดยตรง ผู้ป่วยจะมีอาการปวดแขน-ขา ปวดข้อ ปวดกระดูก มีความผิดปกติที่กระดูกสันหลัง ส่วนใหญ่จะเสียชีวิตจากภาวะไตวาย

  • กระดูกเปราะ แตกหักง่าย ป่วยโรคทางกระดูก

  • เกิดพังผืดที่ปอด เพิ่มความเสี่ยงถุงลมโป่งพอง มะเร็งปอด 

  • ตับอักเสบ เพราะเมื่อแคดเมียมเข้าสู่ร่างกายจะเข้าสู่ระบบหมุนเวียนโลหิต แล้วไปจับกับโปรตีนอัลบูมิน (Albumin) ถูกส่งไปที่ตับ ทำให้มีอาการอักเสบ

  • เสี่ยงต่อมะเร็งชนิดอื่น ๆ เช่น มะเร็งตับ มะเร็งเต้านม ฯลฯ

          ทั้งนี้ ถ้าแคดเมียมยังไม่ได้หลอมอาจมีอันตรายเฉพาะในพื้นที่รอบโรงงานและใกล้เคียง แต่หากถูกหลอมอย่างผิดวิธีหรือไม่ได้มาตรฐาน ย่อมมีความเสี่ยงที่สารแคดเมียมอาจปนเปื้อนออกมาภายนอก เช่น ลงสู่ดิน แหล่งน้ำ นำไปสู่อันตรายในวงกว้าง โดยหากมนุษย์ได้รับแคดเมียม 10 มิลลิกรัม จะแสดงอาการออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน และอาจเสียชีวิตเมื่อได้รับแคดเมียมมากกว่า 300 มิลลิกรัม

วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น

  • หากสูดดม : ให้ออกไปอยู่ในพื้นที่โล่ง มีอากาศบริสุทธิ์ 

  • หากสัมผัสกับผิวหนัง : ถอดเสื้อผ้าที่เปื้อนออกทั้งหมด แล้วล้างตัวด้วยน้ำสะอาดไหลผ่าน 

  • หากเข้าตา : รีบล้างตาด้วยน้ำสะอาด และไปพบจักษุแพทย์ทันที  

  • หากกลืน/กิน/ดื่ม : รีบดื่มน้ำตามทันทีอย่างน้อย 2 แก้ว แล้วรีบไปพบแพทย์

          ทั้งนี้ ไม่ควรเข้าพื้นที่เกิดเหตุเด็ดขาด แต่คอยเฝ้าติดตามสถานการณ์ และหมั่นสังเกตอาการตนเอง หากพบอาการผิดปกติให้รีบพบแพทย์ทันที

          ขณะที่สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม แนะนำว่า หากร่างกายได้รับแคดเมียมจากการบริโภคอาหาร ให้ดื่มนมหรือกินไข่ที่ตีแล้ว เพื่อลดการระคายเคืองของทางเดินอาหาร หรืออาจทําให้ถ่ายท้องด้วย Fleet’s Phospho Soda (เจือจาง 1:4 ด้วยนํ้า) 30-60 มิลลิกรัม เพื่อลดการดูดซึมแคดเมียม

ป่วยจากแคดเมียมรักษาอย่างไร

แคดเมี่ยม

         ส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการที่เป็น ร่วมกับการให้คีเลชั่นบำบัด (Chelation Therapy) ซึ่งก็คือการล้างสารพิษประเภทโลหะหนักออกจากเลือด เพื่อขจัดสารพิษตกค้างในร่างกายและระบบหลอดเลือด

         ขณะที่เพจเฟซบุ๊กสมุนไพรอภัยภูเบศร แนะนำให้รับประทานรางจืด เพื่อบรรเทาพิษจากโลหะหนักและปกป้องไตจากพิษแคดเมียม ดังนี้

  • ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงรัศมี 10 กิโลเมตร จากสถานที่ตั้งสารเคมี รวมทั้งผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับสารเคมีและผู้ที่เผชิญมลภาวะอากาศเป็นพิษ สามารถรับประทานรางจืดติดต่อกัน 7-14 วัน วันละ 3 ครั้ง

  • ผู้ที่มีอาการผิดปกติจากการได้รับสารพิษ แต่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่เสี่ยง สามารถรับประทานรางจืดวันละ 3 ครั้ง และหยุดเมื่อไม่มีอาการ

วิธีป้องกันสารแคดเมียม
เข้าสู่ร่างกาย

อันตรายจากแคดเมียม

          ในกรณีที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ที่มีแคดเมียม หรือต้องสัมผัสกับแคดเมียม ให้ป้องกันตัวเองด้วยการใส่หน้ากาก N95 หรือหน้ากากป้องกันสารเคมีอยู่ตลอดเวลา เพื่อป้องกันการหายใจเอาไอระเหยของแคดเมียมเข้าสู่ร่างกาย และต้องใส่ถุงมือตลอดเวลาขณะปฏิบัติงาน เมื่อทำงานเสร็จสิ้นต้องล้างมือและทำความสะอาดร่างกายทุกครั้ง
           สำหรับพื้นที่ที่พบกากแคดเมียม ทางการได้ประกาศให้เป็นพื้นที่อันตราย เพื่อป้องกันอันตรายต่อชีวิตและร่างกายของประชาชน ดังนั้น หากใครอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงควรฟังข่าวและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อปฏิบัติตามคำแนะนำ และถ้าพบว่าตัวเองมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ทันที

บทความที่เกี่ยวข้องกับสารพิษ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กากแคดเมียม คืออะไร ทำไมแค่ดมก็อันตราย พร้อมเช็กวิธีปฐมพยาบาล อัปเดตล่าสุด 12 เมษายน 2567 เวลา 17:31:54 49,953 อ่าน
TOP
x close