ยาพาราเซตามอล เป็นยาแก้ปวดในหมวดยาสามัญประจำบ้าน ที่เราสามารถหาซื้อติดบ้านไว้บรรเทาอาการปวด ลดไข้ได้ง่าย ๆ ดังนั้น จึงอยากมาเตือนถึงข้อควรระวังในการกินยาพาราคู่กับอาหารหรือยาตัวอื่น ๆ ไว้หน่อย
ยาพาราห้ามกินกับอะไร อย่างยาแก้ปวดในกลุ่มอื่น หากกินตัวเดียวแล้วเอาอาการไม่อยู่จะกินยาพาราเพิ่มได้ไหม หรือใครที่กินสมุนไพรบางชนิดอยู่ แล้วอยากจะบรรเทาอาการปวดด้วยยาพาราสักเม็ด แต่สงสัยว่ายาจะตีกันหรือเปล่า ลองมาศึกษาข้อมูลไปพร้อมกันเลยดีกว่า
ยาพาราห้ามกินกับอะไร
แม้พาราเซตามอลจะเป็นยาสามัญประจำบ้าน แต่ก็มีข้อควรระวังกับการกินยาพร้อมอาหารหรือเครื่องดื่มบางอย่าง เช่น
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะตับอักเสบหรือตับบกพร่องได้ โดยเฉพาะผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
สมุนไพรต่าง ๆ
โดยเฉพาะสมุนไพรในรูปแบบอาหารเสริม เช่น ฟ้าทะลายโจร ซึ่งจะเสริมฤทธิ์กัน และอาจอันตรายต่อตับ หรือสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ที่ไม่อาจระบุได้อย่างชัดเจนว่าการกินคู่กันจะมีความปลอดภัย ดังนั้น จึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอหากกินสมุนไพรชนิดใดชนิดหนึ่งอยู่แล้วต้องการกินยาพาราเซตามอล
ยาพาราห้ามกินกับยาอะไร
มาถึงคิวของยาพาราเซตามอลกับยาชนิดต่าง ๆ กันบ้าง ลองดูว่ายาพาราห้ามกินกับยาอะไร
- ยาที่มียาพาราเซตามอลเป็นส่วนประกอบ เช่น ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาสูตรผสมที่ช่วยบรรเทาอาการไข้หวัด ยาแก้ปวดเมื่อย เป็นต้น ซึ่งหากกินพร้อมกันอาจทำให้ได้รับพาราเซตามอลเกินขนาด
- ยาที่มีพิษต่อไต เช่น ยาแก้ปวด NSAIDs กลุ่ม Coxibs เป็นต้น
- ยาต้านวัณโรค เช่น Isoniazid, Rifampicin, Pyrazinamide, Ethambutol ซึ่งอาจทำให้ความเป็นพิษต่อตับของยาพาราเซตามอลเพิ่มขึ้นได้หากกินร่วมกัน
- ยากันชัก อาจทำให้ความเป็นพิษต่อตับของยาพาราเซตามอลเพิ่มขึ้นได้หากกินร่วมกัน
- ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น วาร์ฟาริน เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดออกผิดปกติตามอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย แต่หากมีความจำเป็นต้องใช้ให้ปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา
ยาพาราเซตามอลกินตอนไหน
กินอย่างไรให้ปลอดภัย
วิธีกินยาพาราเซตามอล เพื่อลดไข้ บรรเทาอาการปวด อย่างถูกวิธีและปลอดภัย ทำได้ดังนี้
- กินยาตามน้ำหนักตัว โดยในการกินยา 1 ครั้ง แนะนำให้ใช้ยาขนาด 10-15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
- ผู้ใหญ่ แนะนำให้กินครั้งละ 1-2 เม็ด (หากมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 50 กิโลกรัม ควรรับประทานพาราเซตามอลขนาด 500 มิลลิกรัม ครั้งละ 1 เม็ดเท่านั้น)
- เด็ก หรือผู้ที่มีน้ำหนักตัวน้อย หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวเป็นโรคตับ เป็นกลุ่มที่จำเป็นต้องปรับขนาดยาให้เหมาะสม จึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนกินยา
- ยาพาราเซตามอลสามารถกินก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ แต่ทั้งนี้ให้ยึดตามวิธีที่ระบุบนฉลากยา
- หากอาการปวดไม่ดีขึ้น หรือไข้ยังไม่ลดลง สามารถกินยาพาราเซตามอลซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง แต่ไม่ควรกินยาพาราเซตามอลขนาด 500 มิลลิกรัม เกิน 8 เม็ด/วัน หรือ 4,000 มิลลิกรัม/วัน
- ไม่ควรกินยาพาราเซตามอลติดต่อกันเกิน 5 วัน
- ใช้ยาพาราเซตามอลเท่าที่จำเป็น หากไม่มีอาการปวดหรือเป็นไข้ก็ไม่ควรกินยาพร่ำเพรื่อ ไม่ควรกินยาดักไข้ไว้ก่อน
อย่างไรก็ดี คนที่มีอาการป่วยบางอย่าง หรือมีภาวะพร่อง G6PD ผู้ป่วยโรคตับ ผู้ป่วยโรคไต ผู้ป่วยโรคพิษสุราเรื้อรัง ควรแจ้งเภสัชกรหรือแพทย์ทุกครั้งหากต้องการใช้ยาพาราเซตามอลนะคะ
บทความที่เกี่ยวข้องกับยาพาราเซตามอล
- พาราเซตามอล ยาสามัญที่ต้องระวัง
- ปวดแบบไหนกินพาราเซตามอลไม่หาย แถมอาจเพิ่มอันตรายให้อีก !
- ฟ้าทะลายโจรกินกับยาพาราเซตามอลได้ไหม ไม่ควรกินร่วมกับยาอะไรบ้าง
- อ.เจษฎ์ ตอบข้อสงสัย กินยาพาราเซตามอลครั้งละ 2 เม็ด ทำให้เสี่ยงตับพังจริงไหม กระจ่างเลย
- ไอบูโพรเฟน ยาแก้ปวด ลดไข้ ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย ใครต้องระวัง !
ขอบคุณข้อมูลจาก : กองยา กระทรวงสาธารณสุข, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, วงการแพทย์, โรงพยาบาลสินแพทย์, โรงพยาบาลเปาโล, nhs.uk