x close

พาราเซตามอล ยาสามัญที่ต้องระวัง


ยาพารา

 
          พาราเซตามอลเป็นยาแก้ปวด และลดไข้ที่คนไทยนิยมใช้กันมากที่สุด เนื่องจากเชื่อว่าปลอดภัย ไม่มีผลข้างเคียง จริงอยู่ที่พาราเซตามอลมีข้อดีที่ไม่ระคายเคืองกระเพาะ แต่แท้จริงแล้วพาราเซตามอลมีผลข้างเคียงที่อันตรายที่สุด คือ การเกิดพิษต่อตับ หากใช้เกินขนาดหรือใช้ติดต่อกันนานเกินไป
 
          ภาวะเป็นพิษต่อตับจากยาพาราเซตามอลนั้น เกิดได้ทั้งจากความตั้งใจรับประทานยาเกินขนาดเพื่อทำร้ายตัวเอง ในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า การรับประทานยาพาราเซตามอลเกินขนาดเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดตับอักเสบเฉียบพลัน และเกิดภาวะตับวาย ซึ่งอาการอาจรุนแรงถึงขั้นต้องได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนตับ หรือเสียชีวิต หากไปรับการรักษาไม่ทันท่วงที

          ส่วนผู้ป่วยกลุ่มที่เกิดภาวะเป็นพิษต่อตับโดยความไม่ตั้งใจนั้น พบได้บ่อยในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการปวดเรื้อรัง ซึ่งผู้ป่วยส่วนหนึ่งไม่ทราบว่า กำลังทำร้ายตัวเองด้วยการรับประทานยาแก้ปวดที่มีผลทำร้ายตับต่อเนื่องเป็นเวลานาน การรับประทานยาพาราเซตามอลเป็นเวลานาน แม้ว่าจะรับประทานไม่เกินขนาดที่แนะนำ แต่ถ้ารับประทานต่อเนื่องเป็นเวลานานก็มีโอกาสที่จะเกิดตับอักเสบได้เช่นเดียวกัน ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะไปรับการรักษาช้า เนื่องจากไม่ตระหนักถึงพิษภัยที่อาจเกิดขึ้นได้จากการรับประทานยาพาราเซตามอลเป็นเวลานาน
 
ยาพารา

          เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2554 องค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา (U.S. Food and Drug Administration หรือ USFDA) ได้ออกประกาศให้บริษัทยาที่ผลิตยาแก้ปวดสูตรผสมที่มีพาราเซตามอลเป็นส่วนประกอบ ให้ลดปริมาณยาพาราเซตามอลลงจากเดิม จากขนาด 500 มิลลิกรัมต่อเม็ดเป็น 325 มิลลิกรัมต่อเม็ด เพื่อลดความเสี่ยงของผู้บริโภคในการที่จะได้รับปริมาณยาพาราเซตามอลเกินขนาด และลดความเสี่ยงที่จะเกิดพิษต่อตับ นอกจากนี้ยังได้กำหนดให้ระบุถึงผลข้างเคียงของยาพาราเซตามอล ที่ฉลากยาให้ชัดเจนว่า "ยามีผลทำให้เกิดพิษต่อตับอย่างรุนแรงได้" นอกเหนือจากผลข้างเคียงอื่นที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น อาการแพ้ยาหรือผื่นคัน

          แม้ว่ายาพาราเซตามอลจะเป็นยาแก้ปวดลดไข้ที่มีประโยชน์ แต่หากใช้ผิดวิธีก็อาจก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงได้ จึงต้องระมัดระวังในการใช้ยา และหากอาการไม่ดีขึ้นหลังรับประทานยา ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุเสมอ


ยาพาราเซตามอล


          ข้อควรระวังที่ควรทราบเกี่ยวกับยาพาราเซตามอล คือ ไม่ควรรับประทานเป็นประจำต่อเนื่องเป็นเวลานาน และไม่ควรรับประทานยาพาราเซตามอลเกินวันละ 4 กรัม ในประเทศไทยซึ่งยามักจะอยู่ในรูปแบบเม็ดละ 500 มิลลิกรัม คือ รับประทานได้ไม่เกิน 8 เม็ดต่อวัน และไม่เกิน 1-2 เม็ดต่อครั้ง (ผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักน้อยกว่า 50 กิโลกรัมควรรับประทานพาราเซตามอลครั้งละ 1 เม็ดเท่านั้น)

          นอกจากนี้ไม่ควรดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม ขณะที่รับประทานยาพาราเซตามอล ส่วนผู้ป่วยที่มีโรคตับเรื้อรัง ตับแข็ง หรือดื่มสุราเป็นประจำจะมีความเสี่ยงในการเกิดพิษต่อตับง่ายกว่าคนปกติ จึงควรงดเว้นการรับประทานพาราเซตามอล หรือหากจำเป็นจริง ๆ ก็ควรรับประทานให้น้อยที่สุด

          ข้อควรระวังอีกอย่างคือ มียาสูตรผสมเป็นจำนวนมากที่มีพาราเซตามอลเป็นส่วนประกอบ เช่น ยาแก้ไข้หวัด ยาแก้ปวดเมื่อย ยาคลายกล้ามเนื้อ ซึ่งยาสูตรผสมเหล่านี้ หากนำมารับประทานร่วมกันโดยไม่ทราบว่ามีพาราเซตามอลเป็นส่วนประกอบ เช่น รับประทานยาแก้ไข้หวัดพร้อม ๆ กับยาคลายกล้ามเนื้อ จะทำให้ได้รับยาเกินขนาด และเกิดตับอักเสบ หรือตับวายเฉียบพลันได้ ดังนั้น ก่อนรับประทานยาทุกชนิดจึงควรอ่านฉลากยาให้ละเอียดเสมอ ถ้าไม่แน่ใจว่ายามีส่วนประกอบของพาราเซตามอลหรือไม่ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนบริโภคยาทุกครั้ง
 

เอกสารอ้างอิง
- fda.gov

- Watkins PB, Kaplowitz N, Slattery JJ, et al: Aminotransferase elevations in healthy adults receiving 4 grams of acetaminophen daily—A randomized controlled trial. JAMA. 2006;296:87-93

- Schmidt LE, Dalhoff K, Poulsen HE: Acute versus chronic alcohol consumption in acetaminophen-induced hepatotoxicity. Hepatology 2002;35:876–882



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
แพทย์หญิง ประพิมพ์พร ฉัตรานุกูลชัย แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์ และโภชนวิทยาทางคลินิก โรงพยาบาลบีเอ็นเอช







เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พาราเซตามอล ยาสามัญที่ต้องระวัง อัปเดตล่าสุด 10 สิงหาคม 2560 เวลา 14:22:22 27,321 อ่าน
TOP