เจ็บเต้านม เกิดจากอะไรได้บ้าง เช็กอาการที่สาว ๆ ไม่ควรนิ่งนอนใจ

           เจ็บเต้านม เกิดจากอะไรได้บ้าง เช็กสัญญาณเตือนความผิดปกติเกี่ยวกับสุขภาพผู้หญิง ที่สาว ๆ ทั้งหลายไม่ควรมองข้าม
เจ็บเต้านม

           เชื่อว่าสาว ๆ หลายคนคงเคยมีอาการเจ็บเต้านมกันมาบ้าง เพราะการเจ็บเต้านมนี้เป็นอาการเกี่ยวกับสุขภาพผู้หญิงที่พบได้บ่อย หากอยู่ ๆ มีอาการเกิดขึ้น คุณผู้หญิงคงรู้สึกกังวลไม่น้อยว่าเกี่ยวข้องกับมะเร็งเต้านม หรือไม่ วันนี้กระปุกดอทคอมจึงไม่นิ่งนอนใจ ขอรวบรวมสาเหตุ อาการ และวิธีบรรเทาอาการเจ็บเต้านม มาแนะนำกันค่ะ

อาการเจ็บเต้านม คืออะไร

           อาการปวดบริเวณเต้านม คือ อาการไม่สบายที่เกิดขึ้นบริเวณเต้านม อาจเป็นข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้ เป็นอาการที่พบได้บ่อย แต่จะแตกต่างกันที่ความรุนแรง โดยทางการแพทย์จะสามารถตรวจวินิจฉัยโรคและรักษาให้ตรงจุดเพื่อป้องกันและรักษาโรคในขั้นต้น รวมถึงได้รับการรักษาเพื่อป้องกันความรุนแรงของโรคในอนาคต

สาเหตุของอาการเจ็บเต้านม

เจ็บเต้านมเกิดจากอะไรได้บ้าง

          เจ็บเต้านมเกิดได้จากหลายสาเหตุ อาทิ

  • การเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมน เช่น ในช่วงก่อนประจำเดือนมา หรือตอนเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน

  • การมีเพศสัมพันธ์ การมีเพศสัมพันธ์สามารถทำให้เกิดการเจ็บเต้านมได้

  • การตั้งครรภ์ เนื่องจากฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการให้นมลูก ทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงเต้านมมากขึ้น

  • การคลอดลูก ช่วงหลังคลอดจะมีอาการเจ็บเต้านม เพราะฮอร์โมนมีการปรับเปลี่ยนและสร้างน้ำนม ทำให้เกิดการบวมและมีน้ำนมมาคั่งจำนวนมาก จนเต้านมมีขนาดใหญ่ขึ้น บวมและตึง

  • การบาดเจ็บ การชนหรือกระแทกเต้านมอาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการเจ็บ

  • การสวมชุดชั้นในที่คับเกินไป จนไปกดทับเนื้อเยื่อเต้านม 

  • ความเครียดเรื้อรัง เมื่อร่างกายหลั่งฮอร์โมนความเครียดเพิ่มขึ้นจะส่งผลต่อการทำงานของฮอร์โมนเพศหญิง รวมทั้งทำให้กล้ามเนื้อทั่วร่างกายมีอาการปวด และอาจกระตุ้นให้มีอาการเจ็บเต้านมได้

  • ปวดบริเวณคอ บ่า ไหล่ หลัง หากมีอาการเคล็ดขัดยอกหรือบาดเจ็บบริเวณดังกล่าวอาจมีส่วนทำให้มีอาการปวดบริเวณเต้านมตามมาได้

  • กระดูกอ่อนซี่โครงอักเสบ ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกแบบเฉียบพลันและลุกลามมายังเต้านม

  • การติดเชื้อ โดยเฉพาะการติดเชื้อที่เกี่ยวข้องกับเต้านม

  • ก้อนเนื้อในเต้านม เช่น ซีสต์ ถุงน้ำ อาจทำให้รู้สึกปวดบริเวณเต้านม

  • โรคมะเร็งเต้านม โรคมะเร็งเต้านมเป็นสาเหตุหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับอาการเจ็บเต้านม

  • การใช้ยา เช่น ยาคุมกำเนิด ยารักษาโรคซึมเศร้าบางชนิด อาจมีผลข้างเคียงที่ทำให้เจ็บเต้านม

เจ็บเต้านม แบ่งเป็นกี่ประเภท

          อาการเจ็บเต้านมของผู้หญิง สามารถแบ่งได้ 2 ประเภทหลัก ๆ ดังนี้

1. อาการปวดที่สัมพันธ์กับประจำเดือน

เจ็บเต้านมประจำเดือนมา

           ในช่วงไข่ตก (2 สัปดาห์ก่อนประจำเดือนมา) จนถึงช่วงที่เริ่มมีประจำเดือน สาว ๆ จะรู้สึกเจ็บเต้านม เนื่องจากระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เต้านมขยายตัวและมีอาการบวมน้ำ ส่งผลให้มีอาการคัดตึงเต้านม หรือปวดแบบตุบ ๆ  หนัก ๆ เต้านมจะบวมและแข็ง เจ็บเมื่อถูกสัมผัส เป็นได้ทั้งข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง และอาจมีปวดร้าวมาที่รักแร้ได้ แต่อาการปวดจะทุเลาลงเมื่อประจำเดือนมา อย่างไรก็ตาม อาการปวดเต้านมที่สัมพันธ์กับรอบเดือนส่วนใหญ่ไม่เป็นอันตราย

2. อาการปวดที่ไม่สัมพันธ์กับประจำเดือน

          เป็นอาการปวดที่เกิดขึ้นแม้ไม่ได้อยู่ในช่วงมีประจำเดือน จึงไม่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน อาการที่พบบ่อยคือ มักปวดตึง ๆ แน่น ๆ แสบร้อน มีตำแหน่งที่ปวดเป็นพิเศษ บางคนอาจปวดตลอดเวลาหรือปวดเป็นช่วง ๆ โดยปวดข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างก็ได้

          อาการเจ็บเต้านมที่ไม่สัมพันธ์กับประจำเดือนนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น มีก้อนเนื้องอกที่เต้านม, มะเร็งเต้านม, เกิดอุบัติเหตุกระแทกที่เต้านม, เต้านมอักเสบ, ผลข้างเคียงจากการผ่าตัดเสริมเต้านม, กระดูกอ่อนซี่โครงอักเสบ, กล้ามเนื้ออักเสบ และอื่น ๆ ซึ่งจำเป็นต้องให้แพทย์วินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด

           นอกจากนี้อาการปวดเต้านมยังสามารถแบ่งตามลักษณะอาการและบริเวณที่เป็นได้อีก

เจ็บเต้านมบริเวณไหน
มีสาเหตุมาจากอะไรได้บ้าง

           อาการเจ็บเต้านมของสาว ๆ สามารถแบ่งได้เป็น 3 แบบตามบริเวณที่เกิด ดังนี้

1. ปวดเต้านมเดี่ยว

           เป็นอาการปวดเฉพาะที่เต้านมข้างเดียว เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เต้านมถูกบีบ, ถูกกระแทก, เต้านมอักเสบ, มีฝีในเต้านม, ท่อน้ำนมอุดตัน, มีซีสต์ในเต้านม รวมทั้งเกิดจากกระดูกอ่อนซี่โครงอักเสบ ทำให้เจ็บบริเวณหน้าอกและร้าวไปถึงเต้านมได้

2. ปวดเต้านมสองข้าง

           เป็นอาการปวดที่เกิดขึ้นบริเวณทั้งสองข้างของเต้านม ส่วนใหญ่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนในช่วงก่อนมีประจำเดือน แต่ก็อาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ได้อีก เช่น กินยาคุมกำเนิด การตั้งครรภ์ การให้นมบุตร รวมถึงโรคอื่น ๆ เช่น มีเนื้องอกในเต้านม เป็นต้น

3. ปวดเต้านมแบบทั่วบริเวณ

           เป็นอาการปวดที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วทั้งบริเวณเต้านม อาจมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศหญิง ทั้งในช่วงก่อนมีประจำเดือน การตั้งครรภ์ หรือการรับประทานยาคุมกำเนิดบางชนิด ในขณะเดียวกันก็อาจเป็นสัญญาณเตือนบางโรคได้เช่นกัน

เจ็บเต้านม อันตรายไหม

ปวดเต้านมอันตรายไหม

           อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า การเจ็บเต้านมอาจเกิดได้หลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย หรือเจ็บป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับเต้านม โดยอาการเจ็บเต้านมหากไม่ได้รับการรักษาอย่างตรงจุดและปล่อยทิ้งไว้นานอาจทำให้เกิดการอักเสบ หรือในกรณีที่เกิดจากการติดเชื้อก็อาจทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อได้ ดังนั้น หากมีอาการเจ็บปวด หรือไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

เจ็บเต้านมแบบไหนควรพบแพทย์

          ในบางกรณีอาการเจ็บเต้านมอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคอื่น ๆ ได้ ดังนั้น ต้องสังเกตอาการ หากมีอาการที่น่าสงสัยต่อไปนี้ควรรีบปรึกษาแพทย์

  • อาการเจ็บรุนแรง เมื่อผ่านไประยะหนึ่งอาการก็ยังไม่ดีขึ้น 

  • คลำพบก้อนที่เต้านม 

  • เต้านมมีขนาดหรือรูปร่างเปลี่ยนไป 

  • มีน้ำไหลออกจากหัวนม ไม่ว่าจะเป็นน้ำใส เลือด หรือน้ำเหลือง 

  • ผิวหนังบริเวณเต้านมเปลี่ยนแปลงไป เช่น มีรอยบวม แดง มีรอยบุ๋ม หรือมีลักษณะคล้ายผิวส้ม

  • เกิดแผล ผื่น อาการคัน บริเวณเต้านม

  • เจ็บเต้านมร้าวไปที่รักแร้หรือไหล่  

  • มีไข้

วิธีรักษาอาการเจ็บเต้านม

เจ็บเต้านมรักษายังไง

           วิธีรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เจ็บเต้านม ดังนั้น จึงควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย โดยแพทย์จะตรวจร่างกาย ซักประวัติ และอาจตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น อัลตราซาวด์ แมมโมแกรม หรือการเจาะตรวจชิ้นเนื้อ แล้วทำการรักษาด้วยวิธีการที่เหมาะสม เช่น ให้ยาแก้ปวด ใช้ยาฮอร์โมน การผ่าตัด หรือในกรณีที่เป็นมะเร็งเต้านมจะใช้การฉายแสงหรือทำเคมีบำบัด เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การรักษาอาการเจ็บเต้านมจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอาการ

วิธีบรรเทาอาการปวดเต้านม

          ในกรณีที่มีอาการเจ็บเต้านม เราสามารถบรรเทาอาการในเบื้องต้นได้หลายวิธี ดังต่อไปนี้

     1. รับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล หรือยาต้านอักเสบ ที่สามารถช่วยลดอาการบวมและปวดได้

     2. ประคบร้อนหรือประคบเย็นบริเวณเต้านม หากมีอาการเจ็บเต้านมในลักษณะกล้ามเนื้อตึง ควรใช้ผ้าชุบน้ำร้อนประคบบริเวณเต้านมเป็นเวลา 15-20 นาที เพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัวและเพิ่มการไหลเวียนโลหิต แต่ถ้ามีอาการเจ็บเต้านมแบบเฉียบพลัน มีอาการบวม หรือปวดจากการบาดเจ็บ ควรใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเพื่อลดอาการบวมที่เกิดขึ้น

     3. สวมใส่ชุดชั้นใน หรือบราไร้โครง ที่เหมาะกับสรีระหน้าอก ไม่อึดอัดหรือรัดแน่นจนเกินไป

     4. เลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเจ็บเต้านม เช่น การสวมชุดรัดแน่นพอดีตัว หรือเครื่องประดับที่มีขนาดใหญ่ การออกกำลังกายที่ใช้แรงกระแทกหนักเกินไป เพราะอาจกระทบบริเวณเต้านมได้

     5. ปรับเปลี่ยนท่าทางในการนอน โดยนอนหงาย หลีกเลี่ยงการนอนคว่ำหรือนอนตะแคงทับเต้านม

            สำหรับใครที่มีอาการเจ็บเต้านม แนะนำว่าควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม โดยไม่ควรปล่อยไว้นาน เพราะการเจ็บเต้านมอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้ายที่ซุกซ่อนอยู่ได้ และอย่าลืมตรวจสุขภาพเต้านมด้วยตัวเองเป็นประจำทุกเดือนหลังจากหมดประจำเดือน 7 วัน หากพบความผิดปกติใด ๆ ตั้งแต่เริ่มต้นจะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้มากขึ้น

บทความที่เกี่ยวข้องกับเต้านม

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เจ็บเต้านม เกิดจากอะไรได้บ้าง เช็กอาการที่สาว ๆ ไม่ควรนิ่งนอนใจ อัปเดตล่าสุด 3 ธันวาคม 2567 เวลา 17:26:27 5,061 อ่าน
TOP
x close