กระจับ หรือที่หลายคนเรียกกระจับเขาควาย พืชนํ้ามากคุณค่าที่มากกว่าความอร่อย เลยอยากให้ลองมาทำความรู้จักอาหารเพื่อสุขภาพ ชนิดนี้
กระจับ เป็นพืชน้ำชนิดหนึ่งที่มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น เช่น กระจับเขาควาย มะแง่ง พายับ หรือ กระจับ ภาษาอังกฤษ คือ Water Chestnut, Water Caltrop, Singhara โดยเราจะพามารู้จักสรรพคุณของพืชน้ำหน้าตาแปลกชนิดนี้ รวมไปถึงวิธีกินกระจับ พร้อมกับรีวิวรสชาติว่ามีความคล้ายกับอะไรให้ด้วย
กระจับมีหลายสายพันธุ์ ถ้าแบ่งตามลักษณะของผลจะมี 2 กลุ่ม คือ กระจับที่มี 4 เขา เช่น กระจับแตร กับกระจับที่มี 2 เขา เช่น กระจับเขาควาย ซึ่งนิยมรับประทานกันในประเทศไทย มักปลูกในพื้นที่ภาคกลาง นอกจากนี้ยังมีกระจับสายพันธุ์อื่น ๆ ที่พบในต่างประเทศ เช่น กระจับจีน ซึ่งมีผลขนาดเล็กกว่าและมีหนามสั้นกว่า หรือกระจับแก้วที่มีดอกสีเหลือง
กระจับ กับลักษณะทางพฤกษศาสตร์
กระจับเขาควาย เป็นพืชในวงศ์ TRAPACEAE มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Trapa bispinosa Roxb. จัดเป็นพืชน้ำที่มีลำต้นเป็นเหง้าใต้ดิน มีรากยึดติดกับดินโคลนในพื้นที่น้ำนิ่ง และมีไหลที่ใช้ขยายพันธุ์ได้ ส่วนใบมีอยู่ 2 จุด คือ ใบที่อยู่ใต้น้ำที่มีลักษณะเรียวเล็กคล้ายขนนก ส่วนใบที่อยู่เหนือน้ำมีลักษณะเป็นกอ ใบกลมคล้ายใบบัว มีดอกสีขาว เมื่อออกผลจะให้ผลลักษณะคล้ายเขาควาย มีเปลือกแข็งสีดำ มี 2-4 เขา ภายในมีเนื้อสีขาว รสชาติหวานมัน
คุณค่าทางโภชนาการของกระจับ
สำนักโภชนาการ กรมอนามัย แสดงคุณค่าทางโภชนาการของกระจับ (ดิบ) ในปริมาณ 100 กรัม ดังนี้
- น้ำ 75.9 กรัม
- โปรตีน 3.5 กรัม
- ไขมัน 0.2 กรัม
- เถ้า 1.1 กรัม
- แคลเซียม 15 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 9 มิลลิกรัม
- ธาตุเหล็ก 1.2 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 1 (ไทอะมีน) 0.36 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 2 (ไรโบฟลาวิน) 0.05 มิลลิกรัม
- วิตามินซี 8 มิลลิกรัม
ในขณะที่กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา ระบุถึงคุณค่าทางโภชนาการของกระจับ 100 กรัม เพิ่มเติม คือ
- พลังงาน 97 กิโลแคลอรี
- คาร์โบไฮเดรต 23.9 กรัม
- ไฟเบอร์ 3 กรัม
นอกจากนี้ยังมีโพแทสเซียม แมกนีเซียม ทองแดง วิตามินบี 6 ที่เป็นวิตามินและแร่ธาตุที่มีความสำคัญต่อสุขภาพ จึงถือได้ว่ากระจับก็มีสรรพคุณดี ๆ ที่น่าติดตาม
กระจับ กับสรรพคุณในแต่ละส่วน
กระจับ เป็นพืชที่ถูกนำมาใช้บำรุงร่างกาย และบรรเทาอาการไม่สบายต่าง ๆ ตามศาสตร์ของแพทย์แผนโบราณด้วย โดยเราจะพบสรรพคุณของกระจับได้ตามส่วนต่าง ๆ ดังนี้
-
หัวกระจับ : ใช้เป็นสารพัดยาบำรุง เช่น บำรุงร่างกาย บำรุงครรภ์ บำรุงน้ำนม บำรุงหลังฟื้นไข้ เป็นต้น
-
ใบ : มีรสเปรี้ยว นิยมใช้ขับเสมหะ แก้ไอ ขับเมือกมันในลำไส้ และถอนพิษต่าง ๆ
-
เนื้อในฝัก : เป็นยาเย็น รสหวาน ใช้ชูกำลัง บำรุงทางเสมหะ แก้อ่อนเพลีย บำรุงร่างกายหลังฟื้นไข้
-
เปลือกฝัก : นำมาต้มน้ำดื่มแก้ปวดท้องและท้องเสีย
กระจับ มีประโยชน์อะไรบ้าง
มาดูกันค่ะว่า กระจับเขาควาย ประโยชน์มีอะไรบ้าง
1. ฟื้นฟูกำลังวังชา
สารอาหารในกระจับอย่างโปรตีน แคลเซียม มีส่วนช่วยบำรุงกำลัง ช่วยให้ฟื้นตัวจากความอ่อนเพลีย ส่วนวิตามินบี 1 และบี 2 ก็มีส่วนช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบประสาทและสมอง เพิ่มความรู้สึกกระปรี้กระเปร่าให้ร่างกาย
2. เป็นผลไม้น้ำตาลต่ำ ดีต่อการลดน้ำหนัก
หากกำลังลดน้ำหนักและมองหาผลไม้น้ำตาลต่ำมาเป็นของว่างในแต่ละมื้อ แนะนำเป็นกระจับเลยค่ะ เพราะนอกจากปริมาณน้ำตาลจะน้อยแล้ว กระจับยังมีปริมาณน้ำมากถึง 74% ของผล จึงทำให้รู้สึกอิ่มเร็ว แถมยังมีโปรตีนและไฟเบอร์สูง ช่วยให้อิ่มอยู่ท้องแบบเบา ๆ ได้อีกด้วย
3. เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
เนื่องจากกระจับมีวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ ที่ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน โดยมีทั้งวิตามินซี ธาตุเหล็ก ซึ่งมีส่วนช่วยส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น
4. บำรุงกระดูกและฟัน
ในกระจับมีสารสำคัญต่อกระบวนการสร้างเสริมความแข็งแรงของกระดูกและฟันอย่างแคลเซียมและฟอสฟอรัส ดังนั้น การรับประทานกระจับอาจช่วยดูแลสุขภาพของกระดูกและฟันได้นั่นเอง
5. ไฟเบอร์สูง
กระจับมีไฟเบอร์สูงพอสมควร จึงมีส่วนช่วยควบคุมระดับไขมันในเลือด ช่วยเรื่องการย่อยอาหาร กระตุ้นการขับถ่าย เท่ากับส่งเสริมสุขภาพลำไส้ได้
6. มีสารต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ
หลักฐานทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่พบว่า กระจับมีสารต้านอนุมูลอิสระ และมีฤทธิ์ต้านการอักเสบในร่างกาย เหมาะกับสรรพคุณบำรุงและฟื้นฟูร่างกายอย่างที่ตำรับยาไทยใช้กันมาเนิ่นนาน
7. ดับกระหาย ดับพิษร้อน
กระจับเป็นพืชที่มีน้ำเยอะ จึงสามารถดับกระหาย เพิ่มความสดชื่นให้ร่างกาย และดับพิษร้อนได้ โดยสามารถนำกระจับอ่อนสด ๆ มากินได้เลย
8. เป็นหนึ่งในตำรับยารักษาอาการประจำเดือนมามาก
ด้วยความที่มีพิษดับร้อน ในสมัยก่อนจึงมีการใช้กระจับดับพิษร้อนในร่างกาย และบรรเทาอาการประจำเดือนมามากของสาว ๆ ด้วย
9. แก้เมาค้าง
กระจับมีสรรพคุณในด้านขับปัสสาวะ ช่วยระบายและลดการสะสมแอลกอฮอล์ในร่างกาย จึงช่วยบรรเทาอาการเมาค้างได้อีกทาง
รสชาติของกระจับจะออกรสหวานไม่มาก แต่มีความเคี้ยวมัน ที่บ้างก็ว่าคล้ายเม็ดขนุนต้ม แต่บางคนก็บอกว่ากรอบอร่อยคล้ายกับมันแกวผสมแห้ว เป็นต้น
กระจับเขาควายสามารถรับประทานได้หลายรูปแบบ เช่น นำหัวกระจับที่แก่จัด (สีดำเข้ม) ไปต้มให้สุก แล้วแกะเปลือกรับประทาน หรือบางคนจะเพิ่มรสหวานด้วยการนำกระจับหั่นเป็นชิ้น ๆ แล้วทำเมนูต้มน้ำตาลกินคลายร้อนก็ได้ นอกจากนี้ยังสามารถนำไปปรุงอาหารในเมนูต่าง ๆ เช่น แกงเลียง ต้มจืด กระจับผัดซอส สลัด เป็นต้น
ข้อควรระวังในการกินกระจับ
กระจับเป็นพืชที่คนไทยบริโภคและใช้ปรุงยามาเนิ่นนาน จัดเป็นอาหารชนิดหนึ่งที่โดยรวมแล้วมีความปลอดภัยในการรับประทาน ทว่าก็อยากจะเตือนให้ระวังผลข้างเคียงบางอย่าง เช่น
-
ผู้ที่ไม่เคยรับประทานกระจับควรรับประทานแต่น้อย เพื่อทดสอบอาการแพ้ก่อน โดยเฉพาะคนที่มีอาการแพ้อาหาร-แพ้กลูเตน อาจมีอาการแพ้กระจับได้
-
แม้กระจับจะมีปริมาณน้ำตาลต่ำ ทว่าก็มีคาร์บพอสมควร ดังนั้นจึงควรจำกัดปริมาณการรับประทานกระจับให้ไม่มากจนเกินไป โดยเฉพาะในวันที่รับประทานแป้งจากอาหารอื่น ๆ ร่วมด้วย
-
การรับประทานกระจับในปริมาณที่มากเกินไปอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น อาการท้องเสีย หรืออาเจียน
-
กระจับเป็นพืชน้ำที่เติบโตในดินโคลน ดังนั้นจึงควรระวังพยาธิและเชื้อโรคที่อาจปนเปื้อนมากับกระจับ โดยควรล้างในน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้งจนมั่นใจว่าสะอาดแน่ ๆ และปอกเปลือกให้หมดจดก่อนรับประทาน
ปัจจุบันอาจจะหากระจับรับประทานได้ค่อนข้างยาก แต่ในบางพื้นที่ก็ยังมีกระจับเขาควายให้เห็นอยู่บ้าง ดังนั้น หากต้องการกินกระจับก็ลองไปตามหากันดู และอย่าลืมรับประทานอาหารให้หลากหลายและเหมาะสมต่อความต้องการของร่างกาย เพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดีของตัวเอง
บทความที่เกี่ยวข้องกับอาหารเพื่อสุขภาพ น้ำตาลต่ำ