x close

ทำอย่างไรดี? เมื่อลูกหลานติดยาเสพติด


วิธีเลิกยาเสพติด

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
 
          วัยรุ่นเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต ในช่วงเวลานั้น เด็ก ๆ จะมีความอยากรู้ อยากลองมากเป็นพิเศษ อีกทั้งยังเชื่อเพื่อนมากกว่าคนอื่น นั่นจึงทำให้บางคนเมื่อประสบปัญหาบางอย่างขึ้น หรือขาดที่พึ่ง ก็มีโอกาสหลงผิดไปติดยาเสพติดตามคำชักชวนของเพื่อนที่ไม่ดีได้ และถ้าหากเราเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองแล้วไปรู้ว่าบุตรหลานของตัวเองติดยาเสพติด เราควรจะทำอย่างไรดี?

          พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ รองผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้แนะนำพ่อแม่ผู้ปกครองที่ทราบว่าบุตรหลานติดยาเสพติด ว่า อย่างแรกพ่อแม่ผู้ปกครองต้องเข้าใจก่อนว่าการที่เด็กติดยาเสพติดนั้น ต้องมีสาเหตุมาจากเขามีปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่ง ทำให้หลงผิดไป เช่น มีปัญหาเรื่องครอบครัว การเรียน ทะเลาะกับเพื่อน ฯลฯ ดังนั้น พ่อแม่ต้องตั้งสติ ทำความเข้าใจว่าบุตรหลานกำลังทุกข์เรื่องอะไร

          เมื่อทราบปัญหาแล้ว พญ.วิมลรัตน์ แนะนำให้พ่อแม่เข้าไปคุยกับลูกด้วยเหตุผล แสดงความพร้อมที่จะช่วยเหลือ โดยอาจถามลูกว่าเกิดอะไรขึ้น จะให้พ่อแม่ช่วยอย่างไรได้บ้าง หรือต้องปรับปรุงอะไรตรงไหน เพื่อให้ลูกกล้าเปิดใจและพร้อมแก้ปัญหาไปด้วยกัน

          อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ พญ.วิมลรัตน์ เน้นย้ำเลยก็คือ พ่อแม่ไม่ควรจะไปตั้งหน้าตั้งตาดุด่าว่ากล่าวลูก เมื่อทราบว่าลูกติดยาเสพติด เพราะถ้าเข้าไปคุยกับลูกด้วยอารมณ์โกรธ และตั้งแง่จะลงโทษลูกเพียงอย่างเดียว ลูกจะยิ่งเตลิดมากขึ้น และจะเป็นการสร้างปัญหา สร้างความกดดันให้ลูกมากขึ้นด้วย


วิธีเลิกยาเสพติด


          ขณะที่ในเว็บไซต์ศูนย์วิชาการด้านยาเสพติด สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ให้ความรู้ว่า หากบุตรหลานติดยาเสพติด พ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องร่วมมือร่วมใจช่วยเหลือเขา โดยอาศัยความรัก ความเข้าใจ เป็นพื้นฐานในการทำใจยอมรับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น และปฏิบัติในสิ่งต่อไปนี้

          1. ระงับสติอารมณ์ อย่าวู่วาม

          2. ยอมรับความจริง ยอมรับสภาพว่าลูกติดยา เพื่อเตรียมตัวช่วยเหลือเด็ก

          3. อย่าแสดงความก้าวร้าวกับเด็ก เพราะจะทำให้เด็กปกปิดซ่อนเร้นมากขึ้น

          4. แสดงความรัก ความเห็นใจอย่างจริงใจ เพื่อให้เด็กยอมเปิดใจ ยอมรับความช่วยเหลือ

          5. ต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมว่า บุตรหลานติดยาเสพติดประเภทใด ฤทธิ์รุนแรงแค่ไหน ใช้ยาเสพติดมานานแล้วหรือยัง ใช้ปริมาณแค่ไหน ฯลฯ โดยอาจหาจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เช่น เพื่อนสนิท ครูที่โรงเรียน ห้องนอน กระเป๋าเสื้อผ้า เป็นต้น

          6. ปรึกษาผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะ เช่น ศูนย์ให้คำปรึกษาปัญหายาเสพติด

          7. หากเด็กติดยาเสพติดมานาน จนทำให้สภาพร่างกายและจิตใจเปลี่ยนแปลงไป หรือมีพฤติกรรมและบุคลิกภาพเบี่ยงเบนไปจากเดิม และครอบครัวอาจไม่มีเวลา หรือไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ผู้ปกครองควรส่งเด็กเข้ารับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพทางด้านจิตใจ ในสถานบำบัดรักษาต่าง ๆ ทั่วประเทศ

สำหรับผู้ติดยาสามารถเข้ารับการบำบัดรักษาได้ที่

          สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนี (สถาบันธัญญารักษ์) โทรศัพท์ สายด่วน 1165

          สถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดบ้านพิชิตใจ สำนักงานป้องกันและบำบัดการติดยาเสพติด สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร โทรศัพท์ 0-2354-4233 เว็บไซต์ office.bangkok.go.th

          สำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก จังหวัดสระบุรี โทรศัพท์ แผนกรักษายาเสพติด 036-266292 หรือ เฟซบุ๊ก thamkrabokfanpage 

          ศูนย์บริการสาธารณสุข และคลินิกยาเสพติดทุกแห่งในสังกัดกรุงเทพมหานคร

          โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง

          ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบสถานที่บำบัดยาเสพติดทุกจังหวัด ได้ที่นี่ thanyarak.go.th


  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 

คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ


 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
 
- ศูนย์วิชาการด้านยาเสพติด สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
- สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สถาบันธัญญารักษ์)



 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ทำอย่างไรดี? เมื่อลูกหลานติดยาเสพติด อัปเดตล่าสุด 21 ตุลาคม 2560 เวลา 08:01:57 53,157 อ่าน
TOP