ชอบถ่ายเซลฟี่ฟี่มีประโยชน์ ช่วยวินิจฉัยโรคผิวหนังทางไกลได้

บทความสุขภาพ



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          กล้องในปัจจุบันมีความละเอียดสูง ถ่ายรูปได้ชัดเจนมากขึ้นทุกวัน ส่วนกล้องหน้าของมือถือเองก็ถ่ายได้ชัดแจ๋วใช่ย่อย เดี๋ยวนี้เลยเห็นสาว ๆ ชอบถ่ายรูปตัวเอง หรือที่เรียกว่า เซลฟี่ อัพขึ้นโซเชียลเน็ตเวิร์กคอยเรียกไลค์กันอยู่บ่อย ๆ แต่ที่มากกว่าเรียกไลค์ คุณยังสามารถใช้รูปถ่ายตัวเองเหล่านี้ ในการทำเทเลเดอมาโทโลจี้ หรือ การตรวจผิวหนังทางไกลได้ด้วยนะ

          เป็นความจริงที่ว่าโรคผิวหนัง เป็นโรคที่สามารถวินิจฉัยได้อย่างไม่ซับซ้อนมากนัก เนื่องจากรอยโรคปรากฏอยู่บนผิวหนังชัดเจน ไม่ใช่โรคเกี่ยวกับอวัยวะภายในที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น แต่กระนั้นผู้ป่วยโรคผิวหนังหลาย ๆ รายมักไปโรงพยาบาลเมื่อมีอาการทางผิวหนังมากแล้ว จึงไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที ส่วนผู้ป่วยอีกกลุ่มหนึ่งในพื้นที่ห่างไกล ก็ต้องทนกับอาการผิดปกติทางผิวหนัง เพราะไม่มีแพทย์ผู้รักษาอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงที่เข้าถึงได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ หากการรักษาโรคจากทางไกลสามารถเกิดขึ้นได้ก็คงดี และมันก็กำลังเกิดขึ้นแล้ว โดยเรียกว่า "เทเลเดอมาโทโลจี้" (Teledermatology) หรือ การรักษาโรคผิวหนังระยะไกล ที่เป็นไปได้ก็ต้องขอบคุณเทคโนโลยีการสื่อสาร และความคมชัดจากกล้องถ่ายรูปหรือกล้องจากโทรศัพท์มือถือ ที่ในปัจจุบันมีความชัดเจนละเอียดขึ้นกว่าเดิมมาก แพทย์จึงสามารถวินิจฉัยโรคในเบื้องต้นได้ รวมทั้งสามารถสั่งยาและแนะนำการดูแลรักษาตัวเองแก่ผู้ป่วยได้ด้วย เป็นความหวังในการรักษาโรคผิวหนังระยะไกลให้กับพื้นที่ห่างไกล ที่ขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ 

          ตามรายงานจากเว็บไซต์เดลี่เมล เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2014 ระบุว่า นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ ได้ทดสอบเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการตรวจวินิจฉัยโรคผิวหนัง ระหว่างผู้ป่วยที่ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล กับผู้ป่วยที่เข้ารับการวินิจฉัยด้วยวิธีเทเลเดอมาโทโลจี้ ซึ่งจะพูดคุยผ่านทางโทรศัพท์ รวมทั้งทางอินเทอร์เน็ต มีการออนไลน์พูดคุยแบบเห็นหน้าตา รวมทั้งส่งรูปถ่ายของตัวผู้ป่วย และผิวหนังที่มีความผิดปกติให้แพทย์ได้ตรวจดู  โดยการเปรียบเทียบการวินิจฉัย และคำแนะนำในการรักษาดูแลตัวเอง ที่แพทย์ที่โรงพยาบาล และแพทย์ทางไกลมีให้กับผู้ป่วยคนเดียวกัน โดยผู้ป่วย จะเข้าพบแพทย์ทั้งสองในวันเดียวกัน เพื่อช่วยควบคุมเรื่องรอยโรคที่อาจมีความเปลี่ยนแปลงตามเวลาที่เพิ่มขึ้น โดยผู้ป่วยทั้งหมดมีอายุมากกว่า 18 ปี เป็นผู้ป่วยของโรงพยาบาลแห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน 2012 ถึงเดือนเมษายน 2013

          จากผลการทดสอบพบว่า 90% ของคำวินิจฉัยโรคจากแพทย์ทางไกล ตรงกับคำวินิจัยของแพทย์จากโรงพยาบาล ซึ่งตรวจอาการผู้ป่วยโดยตรง ส่วนอีก 10% ที่ไม่เหมือนกัน มักเป็นเรื่องการดูแลรักษาอาการ แต่อย่างไรก็ดีเมื่อแพทย์ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนเรื่องการให้แนะนำแก่ผู้ป่วยที่มีร่วมกันในภายหลัง ต่างฝ่ายต่างก็เห็นด้วยกับคำแนะนำที่อีกคนมีให้กับผู้ป่วยเช่นกัน และเมื่อแพทย์โรงพยาบาลแนะนำว่าผู้ป่วยต้องได้รับการนำตัวอย่างเนื้อเยื่อหรือผิวหนังไปทดสอบ แพทย์ทางไกลก็มีความเห็นตรงกันเช่นนั้นถึง 95%

          จะเห็นได้ว่า การตรวจรักษาโรคผิวหนังจากระยะไกลนั้นมีความแม่นยำค่อนข้างสูง นับว่าดีมากต่อการรักษาผู้ป่วยที่ห่างไกล ไม่มีแพทย์ในพื้นที่ หรือไม่สะดวกเดินทางไปโรงพยาบาล แต่อย่างไรก็ดี การตรวจโรคผิวหนังด้วยวิธีเทเลเดอมาโทโลจี้นี้ ก็ยังมีจุดอ่อนตรงที่สามารถดูแลอาการได้เพียงเบื้องต้นเท่านั้น เพราะหากเป็นโรคผิวหนัง หรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับผิวหนังที่ร้ายแรง ผู้ป่วยก็ยังจำเป็นต้องไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมอยู่ดี นอกจากนี้ แม้ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักจะถ่ายรูปผิวหนังที่ผิดปกติ ส่งมาให้แพทย์วินิจฉัยได้อย่างถูกจุด แต่บางครั้งเมื่อเกิดความผิดปกติขึ้นใกล้กับจุดลับ ผู้ป่วยก็ไม่สะดวกใจที่จะส่งรูปให้ เช่นเดียวกับผิวหนังผิดปกติที่เกิดขึ้นในบริเวณที่ตัวผู้ป่วยเองสังเกตเห็นยาก ก็ทำให้การวินิจฉัยคลาดเคลื่อนได้ ต่างจากการพบแพทย์โดยตรงที่แพทย์สามารถขอตรวจดูผิวหนังได้ทั่วทั้งร่างกายในทันที

          จะว่าไปวิธีเดอมาโทโลจีนี้ ก็ดีทั้งกับตัวผู้ป่วยและตัวแพทย์เอง ในด้านทุนค่าใช้จ่ายเรื่องการเดินทาง และลดปัญหาแพทย์ในพื้นที่ไม่เพียงพอได้ ไม่แน่ว่าต่อไปสาว ๆ จะสามารถจะพบแพทย์ผิวหนังเพื่อรักษาสิวด้วยวิธีเดอมาโทโลจี้ก็ได้นะคะ โดยเฉพาะเรื่องไฝฝ้าราคีที่เห็นชัดบนใบหน้า ถ่ายรูปเซลฟี่มาแล้วก็ส่งตรวจได้เลย .. อ้อ แต่ห้ามแต่งรูปนะจ๊ะ !




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ชอบถ่ายเซลฟี่ฟี่มีประโยชน์ ช่วยวินิจฉัยโรคผิวหนังทางไกลได้ อัปเดตล่าสุด 23 ตุลาคม 2560 เวลา 06:53:59 6,868 อ่าน
TOP
x close