นอกจากฟ้าทะลายโจรและกระชายขาว ตรีผลาก็ถูกพูดถึงในช่วงโควิด 19 อย่างหนาหู เพราะสรรพคุณเขาไม่ธรรมดา ตำรับยาสมุนไพรเสริมภูมิคุ้มกันเป็นที่นิยมมากขึ้นในทุก ๆ วัน โดยเฉพาะในช่วงที่มีโควิด 19 ระบาดหนักแบบไม่มีแผ่ว และตรีผลาก็เป็นหนึ่งในยาสมุนไพรที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะคุ้นหูคุ้นตาว่าเป็นหนึ่งในสมุนไพรเสริมภูมิคุ้มกัน แต่ก่อนจะไปหาซื้อมากินนั้น เรามาทำความรู้จักตรีผลาก่อนดีกว่าว่า มีสรรพคุณอย่างไร มีประโยชน์ด้านไหนบ้าง และมีข้อห้ามใช้หรือผลข้างเคียงที่ควรระวังไหม ตรีผลา หรือภาษาอังกฤษ คือ Triphala เป็นตำรับยาพื้นฐานของการแพทย์อายุรเวทอินเดียที่วงการแพทย์แผนไทยนำมาใช้อย่างแพร่หลายเป็นเวลานับพันปี ตรีผลามีความหมายในชื่อของตัวเอง โดยตรี แปลว่า 3 ส่วนผลา แปลว่าผลไม้ ดังนั้นตรีผลาจึงมีความหมายโดยรวมว่าผลไม้ 3 อย่าง อันประกอบไปด้วยสมอพิเภก สมอไทย และมะขามป้อม รวมกันเป็นยาสมุนไพรที่ช่วยดูแลสุขภาพในช่วงหน้าร้อน ตรีผลาเป็นการรวมกันของผลไม้ 3 ชนิด ซึ่งมีสรรพคุณดี ๆ ในตัวเอง ได้แก่ สมอพิเภก : รสฝาด มีสรรพคุณขับเสมหะในลำคอ ทำให้ชุ่มคอ แก้โรคตา แก้ธาตุกำเริบ บำรุงธาตุ แก้ไข้ แก้ริดสีดวง แก้ท้องร่วง ท้องเดิน และรักษาโรคท้องมาน สมอไทย : มีรสขมและร้อน แก้ไข้ ขับเสมหะ แก้ลมป่วง แก้พิษร้อนภายใน และเป็นยาระบาย มะขามป้อม : อุดมไปด้วยวิตามินซี แก้อาการท้องเสีย แก้กระหาย แก้หวัด แก้ไอ แทนยาแก้ไอได้ ช่วยละลายเสมหะ ช่วยขับปัสสาวะ ช่วยรักษาโรคบิด ช่วยรักษาเลือดออกตามไรฟัน เป็นยาระบาย เป็นยาถ่ายพยาธิ เมื่อนำผลไม้ทั้ง 3 ชนิด มารวมกันเป็นตำรับยาตรีผลา จึงเป็นยาสมุนไพรที่มีประโยชน์อนันต์ ดังนี้ 1. ช่วยแก้ไข้ แก้หวัด ขับเสมหะ 2. ช่วยลดความร้อน รักษาสมดุลธาตุทั้ง 4 ในร่างกาย 3. ล้างพิษ โดยเฉพาะในระบบทางเดินอาหาร ระบบเลือด และระบบน้ำเหลือง 4. กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน 5. เป็นยาระบายที่ช่วยให้ถ่ายและช่วยให้หยุดขับถ่ายอย่างรู้จังหวะเวลา เพราะมีสารแทนนินช่วยหยุดการระบาย ไม่ทำให้ร่างกายขับถ่ายจนรู้สึกเพลีย 6. แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อจากอาหารไม่ย่อย หรือมีการอุดตันของอุจจาระหรือปัสสาวะ 7. ช่วยให้ปัสสาวะใสและออกง่าย 8. แก้อาการลิ้นไม่รับรสอาหาร นอกจากนี้ในตรีผลายังมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่ให้คุณประโยชน์ดี ๆ ต่อร่างกายอีกด้วย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เผยบทความวิชาการเกี่ยวกับสารสำคัญทางเภสัชวิทยาของพิกัดยาตรีผลา (การต้มตรีผลาแล้วสกัดเอาแต่น้ำมาใช้) ระบุว่าตรีผลามีสารกลุ่มฟีนอลิกและแทนนิน แบ่งเป็น 4 กลุ่มหลัก คือ 1. กรดเชบูลิกและสารกลุ่มอัลลาจิแทนนินชนิดที่มีกรดเชบูลิกในโครงสร้าง 2. สารกลุ่มอัลลาจิแทนนินชนิดที่ไม่มีกรดเชบูลิกในโครงสร้าง 3. กรดแกลลิกและสารกลุ่มแกลเลตเอสเตอร์ ซึ่งสารสำคัญเหล่านี้ในตรีผลา ทำให้ตรีผลามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่ดีต่อสุขภาพ ดังนี้ ตรีผลามีสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญ คือ กรดแกลลิกและสารกลุ่มฟีนอลิก และผลจากการให้หนูทดลองที่อยู่ในสภาวะเครียดได้รับตรีผลาขนาด 1 กรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว ติดต่อกันนาน 48 วัน พบว่า สารเหล่านี้ในตรีผลาช่วยป้องกันการเกิดอนุมูลอิสระจากสภาวะเครียดได้ และการป้อนตรีผลาขนาด 1 กรัม ต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว ยังให้ผลต้านการอักเสบเทียบเคียงกับการให้ยาต้านการอักเสบอินโดเมทาซิน (Indomethacin) ขนาด 3 มิลลิกรัม ต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว นอกจากนี้ยังพบฤทธิ์ยับยั้งการก่อกลายพันธุ์ของเซลล์ในร่างกาย และคุณสมบัติป้องกันอันตรายจากการฉายรังสีในตรีผลาอีกด้วย สรรพคุณตรีผลาในข้อนี้สอดคล้องกับสรรพคุณที่มีในตำรับยาสมุนไพรโดยจากผลการศึกษาทางคลินิกที่ให้อาสาสมัครที่มีภาวะท้องผูก รับประทานผงตรีผลาขนาด 5 กรัมต่อวัน นาน 1 เดือน พบว่า ตรีผลาช่วยให้ลำไส้เคลื่อนไหวได้ดีขึ้น ช่วยชำระเมือกในลำไส้ และลดอาการท้องอืด นอกจากนี้ยังไม่พบพิษหรืออาการไม่พึงประสงค์ในอาสมัครกลุ่มนี้เลยด้วย จากการศึกษาในผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงที่รับประทานผงตรีผลาขนาด 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง หลังอาหาร นาน 4 สัปดาห์ และกลุ่มควบคุมที่ได้รับยาหลอก พบว่า กลุ่มที่รับประทานผงตรีผลามีระดับคอเลสเตอรอลรวม ไตรกลีเซอไรด์ และ LDL ลดลง ต่างจากกลุ่มที่ไม่ได้รับตรีผลาอย่างมีนัยสาคัญทางสถิติ แต่ทั้งนี้กลุ่มที่ใช้ตรีผลาก็พบอาการข้างเคียงเล็กน้อย คือ มีอาการถ่ายอุจจาระเหลว ซึ่งสามารถหายได้เองหลังหยุดรับประทานตรีผลา ขณะที่ค่าเอนไซม์ในตับ (AST, ALT, ALP) การทำงานของไต และค่าโลหิตวิทยาของอาสาสมัครทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกัน ผลการศึกษาในเด็กอายุ 8 ขวบ-12 ปี ที่ใช้น้ำยาบ้วนปากตรีผลา ความเข้มข้นร้อยละ 0.6 กับน้ำยาบ้วนปากจากสารละลายคลอเฮกซิดินความเข้มข้นร้อยละ 0.1 พบว่า น้ำยาบ้วนปากทั้งสองตัวมีผลลดคราบแบคทีเรียเกาะตัวที่ฟันไม่แตกต่างกัน แต่น้ำยาบ้วนปากตรีผลามีผลลดจำนวนแบคทีเรียในช่องปากได้ดีกว่า และการบ้วนปากด้วยสารละลายตรีผลาที่ความเข้มข้นร้อยละ 6 มีผลลดปริมาณเชื้อสเตร็ปโตคอคคัส (Streptococcus) ในช่องปากเทียบเท่ากับการใช้สารละลายคลอเฮกซิดินที่ความเข้มข้นร้อยละ 0.2 เลยทีเดียว นอกจากสรรพคุณหลัก ๆ ตามตำรับยาสมุนไพรแล้ว ตรีผลาก็ยังมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่น่าสนใจไม่เบา ที่สำคัญกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ยังแนะนำให้ใช้ตรีผลาเพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพแข็งแรงในช่วงโควิด 19 ด้วย เนื่องจากโควิด 19 เป็นโรคในระบบทางเดินหายใจ ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายโรคหวัด เช่น ไอ เจ็บคอ มีเสมหะ หายใจไม่สะดวก รวมไปถึงมีปัญหาด้านการขับถ่าย ซึ่งตำรับยาตรีผลาจะสามารถช่วยแก้อาการเหล่านี้ได้ อีกทั้งตรีผลาเองก็มีสรรพคุณเสริมภูมิคุ้มกัน ปรับสมดุลธาตุในร่างกาย และยังมีสารต้านอนุมูลอิสระอีกด้วย ดังนั้นทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกจึงแนะนำให้ใช้ตรีผลาดูแลสุขภาพในช่วงที่โควิด 19 ระบาด และใช้ตรีผลารักษาผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเขียว ร่วมกับยาและสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย โดยสูตรตรีผลาที่ใช้จะเป็นสูตรตำรับมหาพิกัดตรีผลา ที่เน้นแก้โรคหวัด น้ำมูกไหล เป็นสูตรเสริมภูมิคุ้มกัน บำรุงร่างกาย สำหรับคนที่ร่างกายแข็งแรงดี ไม่ป่วย แต่อยากกินตรีผลาบำรุงร่างกาย สามารถใช้สูตร 1:1:1 ในสัดส่วนเท่า ๆ กันได้ ดังนี้ - มะขามป้อม 1 ส่วน ( 200 กรัม) - ลูกสมอพิเภก 1 ส่วน ( 200 กรัม) - ลูกสมอไทย 1 ส่วน ( 200 กรัม) - น้ำเปล่า 1 ลิตร 1. นําสมุนไพรทั้งสามชนิดล้างน้ำให้สะอาด 2. นำส่วนผสมทุกอย่างใส่หม้อ ยกขึ้นตั้งไฟให้เดือด ใช้เวลาต้ม 30 นาที 3. กรองเอามาแต่น้ำ 4. แต่งรสชาติด้วยหญ้าหวานหรือน้ำผึ้งเพียงเล็กน้อย ► ดื่มอุ่น ๆ เช้า-เย็น ครั้งละ 100 มิลลิลิตร สูตรนี้เน้นแก้หวัด น้ำมูกไหล บรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ ลดอักเสบ ช่วยกำจัดเชื้อโรคออกมาทางเสมหะ สามารถใช้รักษาอาการเบื้องต้นในผู้ป่วยโควิด 19 ได้ - มะขามป้อม 12 ส่วน (ประมาณ 45 กรัม) โดยมะขามป้อมมีรสเปรี้ยว ฝาด ขม จะช่วยกัดเสมหะ ละลายเสมหะได้ดี - ลูกสมอพิเภก 8 ส่วน (ประมาณ 30 กรัม) ช่วยเรื่องแก้ไข้ ตัวร้อน - ลูกสมอไทย 4 ส่วน (ประมาณ 15 กรัม) แก้อาการครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อนเพลีย สาเหตุจากวาตะ หรือลมผิดปกติ - น้ำเปล่า 3 ลิตร 1. นําสมุนไพรทั้งสามชนิดล้างน้ำให้สะอาด 2. หากเป็นสมุนไพรแห้งให้แช่ในน้ำเปล่า 3 ลิตร ประมาณ 3 ชั่วโมง แต่หากเป็นสมุนไพรสด ให้เติมน้ำ 3 ลิตร 3. ยกขึ้นตั้งไฟให้เดือด ใช้เวลาต้ม 30 นาที 4. กรองเอามาแต่น้ำ 5. แต่งรสชาติด้วยเกลือ หญ้าหวานหรือน้ำผึ้งเพียงเล็กน้อย ► ดื่มอุ่น ๆ เช้า-เย็น ครั้งละ 100 มิลลิลิตร น้ำตรีผลา รสเปรี้ยวร้อน ใช้ดื่มเพื่อช่วยบำรุงระบบทางเดินหายใจ ขับเสมหะ เสริมภูมิคุ้มกัน ทำให้ชุ่มคอ เหมาะกับผู้ที่มีอาการเจ็บคอ ไอ มีเสมหะ หรือดื่มแก้อาการปากแห้ง คอแห้ง อีกทั้งมะขามป้อมยังมีสรรพคุณช่วยต้านอนุมูลอิสระ บำรุงร่างกาย มีวิตามินซีสูง ช่วยแก้หวัด โรคในระบบทางเดินหายใจอีกด้วย - ผลมะขามป้อมแห้ง 100 กรัม - ผลสมอไทยแห้ง 50 กรัม - ผลสมอพิเภกแห้ง 30 กรัม - น้ำสะอาด 3 ลิตร - น้ำผึ้ง 30 มิลลิลิตร - น้ำมะนาว 10 มิลลิลิตร - เกลือ 1/8 ช้อนชา 1. นำสมุนไพรแห้งทั้ง 3 ชนิดมาต้มในน้ำสะอาด 3 ลิตร 2. ต้มเคี่ยวจนเหลือ 1 ลิตร จากนั้นกรองด้วยผ้าขาวบาง 3. พักให้หายร้อนสักครู่ แล้วปรุงรสด้วยเกลือ น้ำผึ้ง น้ำมะนาว เพียงเล็กน้อย ► ดื่มขณะอุ่น ๆ นอกจากสูตรตำรับยาตรีผลาข้างต้นแล้ว ปัจจุบันยังมีตรีผลาชนิดแคปซูลวางจำหน่าย ซึ่งการใช้ยาตรีผลาไม่ว่าจะรูปแบบไหนก็ควรใช้ให้ถูกสูตรเพื่อให้สรรพคุณของตรีผลาช่วยดูแลสุขภาพอย่างตรงจุดและปลอดภัย หลายคนอาจสงสัยว่ากินตรีผลาชนิดแคปซูล หรือต้มสูตรตรีผลาดื่ม แบบไหนจะดีกว่ากัน ซึ่งก็ต้องบอกก่อนว่า ตรีผลาชนิดแคปซูลส่วนใหญ่จะเป็นสูตร 1:1:1 สำหรับใช้บำรุงร่างกาย แต่หากต้องการรักษาโรคให้ตรงจุด เช่น กินเพื่อแก้ไอ ขับเสมหะ ควรต้มตรีผลาตามสูตรตำรับยาข้างต้นจะดีกว่า สมุนไพรไม่ว่าจะชนิดไหนก็ควรกินและใช้อย่างระมัดระวัง กับตรีผลาเองก็เช่นกัน ที่มีข้อห้ามและข้อควรระวัง ดังนี้ * ไม่ควรใช้ตรีผลาติดต่อกันนานเกิน 7-10 วัน โดยเฉพาะการกินในรูปแบบสารสกัด หรือตำรับยา เพราะอาจมีความเข้นข้นที่สูงเกินไป และอาจก่ออันตรายกับตับและไตได้ * สตรีในช่วงมีประจำเดือนควรงดรับประทานตรีผลา เพราะอาจจะทำให้ประจำเดือนมามากกว่าปกติ * ผู้ที่เป็นโรคหัวใจไม่ควรรับประทานตรีผลา รวมถึงผู้ที่รับประทานยาละลายลิ่มเลือด ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานตรีผลาด้วย อย่างไรก็ตาม การกินสมุนไพรให้ปลอดภัย วิธีที่ดีที่สุดคือกินเป็นอาหาร เป็นเครื่องดื่มตามภูมิปัญญาพื้นบ้าน ซึ่งจะได้ความเข้มข้นของสมุนไพรในปริมาณที่ไม่มากจนเกินไป ร่างกายสามารถขับออกได้ตามกลไกธรรมชาติ แต่ถ้าในกรณีที่ป่วย อยากใช้สมุนไพรรักษาอาการป่วย แนะนำให้ปรึกษากับแพทย์แผนไทย หรือเภสัชกรก่อนทุกครั้งนะคะ 13 สมุนไพรเสริมภูมิคุ้มกัน ควรมีติดบ้านในช่วงโควิด 19 วิธีกินฟ้าทะลายโจรเสริมภูมิคุ้มกันในช่วงโควิด 19 คนป่วย-ไม่ป่วย กินได้แค่ไหน วิธีกินกระชายขาว สำหรับคนติดโควิดหรือยังไม่ป่วย รู้ไว้ใช้ให้ปลอดภัย โกฐจุฬาลัมพา สมุนไพรยับยั้งโควิด 19 สรรพคุณดีอย่างไร รักษาโรคอะไรได้บ้าง ฟ้าทะลายโจร กระชายขาว กินคู่กันได้ไหม ไขข้อสงสัยเรื่องสมุนไพรรักษาโควิด กระชายขาว ต้านโควิด 19 ได้จริงไหม พร้อมสรรพคุณที่น่าสนใจ มะขามป้อม ผลไม้วิตามินซีสูงปรี๊ด ประโยชน์จี๊ดกว่าแก้ไอ ! 12 ยาสมุนไพรดูแลตัวเองในเบื้องต้น เมื่อติดโควิดแล้วต้องรักษาตัวที่บ้าน Home isolation ขอบคุณข้อมูลจาก : ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์, กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก, สถาบันการแพทย์แผนไทย, คลินิกยักษ์, เฟซบุ๊ก สมุนไพรอภัยภูเบศร, รายการโหนกระแส, Spring
แสดงความคิดเห็น