ยาแก้ไอ ยาละลายเสมหะ ยาขับเสมหะ แต่ละตัวยาใช้ต่างกันยังไง ถ้าไอแห้ง หรือไอมีเสมหะ เลือกใช้ยาตัวไหนดี ยาแก้ไอ หรือยาละลายเสมหะ ที่เราเคยได้จากเภสัชกรหรือหมอ บางทีก็มาในรูปยาแก้ไอแบบเม็ด ยาน้ำ หรือยาละลายเสมหะเม็ดฟู่ ซึ่งก็อาจทำให้เกิดข้อสงสัยขึ้นมาว่า นี่เราต้องกินยาแก้ไอ ยาละลายเสมหะ หรือยาขับเสมหะทุกตัวเลยหรือเปล่า แล้วยาแต่ละตัวต่างกันยังไง ถ้าไอแห้งกินยาตัวไหน ไอแบบมีเสมหะต้องใช้ยาอะไร หรือเสมหะลงปอดไปแล้วอยากขับเสมหะ ใช้ยาตัวไหนดี เอาเป็นว่าวันนี้มาทำความเข้าใจกันหน่อย ต้องบอกก่อนว่า ยาแก้ไอ ยาละลายเสมหะ และยาขับเสมหะ เป็นยาในกลุ่มยาบรรเทาอาการไอด้วยกันทั้งนั้น โดยแต่ละตัวก็จะมีสรรพคุณที่ต่างกันออกไป ดังนี้ ยาแก้ไอที่นิยมใช้กันจะเป็นกลุ่มยาเดกซ์โทรเมทอร์แฟน (Dextromethorphan), โคเดอีน (Codeine) หรือ ไฮโดรโคโดน (Hydrocodone) ซึ่งเป็นยาที่ออกฤทธิ์กดศูนย์ควบคุมการไอที่สมอง ทำให้อาการไอลดลงได้ มีทั้งแบบยาเม็ด ยาน้ำเชื่อม ยาน้ำแขวนตะกอน โดยยาตัวนี้จะเหมาะกับผู้ที่มีอาการไอแห้ง ๆ ไม่มีเสมหะ ในกรณีที่มีอาการไอหนัก ๆ ไอบ่อย ไอแห้งเรื้อรัง ไอจนเจ็บหน้าอก หรือไอจนอาเจียน แต่ไม่สามารถใช้รักษาอาการไอจากการสูบบุหรี่ ไอจากโรคหืด ไอจากถุงลมโป่งพอง หรือผลข้างเคียงจากยารักษาความดันได้ ในกรณีที่ไอไม่มาก แพทย์อาจจะไม่จ่ายยาแก้ไอให้ เพราะจริง ๆ แล้วการไอเป็นกลไกที่ช่วยกำจัดสิ่งแปลกปลอมในทางเดินหายใจ ทำให้หายใจได้เป็นปกติ อีกทั้งการใช้ยานี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ทำให้เสมหะเหนียวข้นขึ้นได้ด้วย ตัวอย่างยี่ห้อยาแก้ไอที่ออกฤทธิ์ลดอาการไอ เช่น A-Tussin, Throatsil Dex, Icolid, Codepect, Levoprontข้อควรระวัง : ห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 4 ขวบ ยาอาจทำให้เกิดอาการง่วงซึม จึงไม่ควรขับรถหรือทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักร ระมัดระวังการใช้ยาแก้ไอร่วมกับยาที่กดระบบประสาทส่วนกลาง เช่น ยานอนหลับ ยาแก้แพ้แบบง่วง การใช้ยาต่อเนื่องนาน ๆ อาจทำให้เสพติดได้ หากใช้ยาเกินขนาดจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ ง่วงซึม กล้ามเนื้อเกร็ง/กระตุก พูดไม่ชัด ม่านตาขยาย เคลิบเคลิ้ม หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง มึนงง กังวล หงุดหงิด ประสาทหลอน กระวนกระวาย สั่น ชัก ปวดศีรษะ สูญเสียความทรงจำ หมดสติ กดการหายใจ และอาจถึงแก่ชีวิต ยาขับเสมหะที่นิยมใช้กัน ได้แก่ ไกวเฟนิซิน (Guaifenesin) หรือ กลีเซอริล ไกวอะโคเลต (Glyceryl Guaiacolate), เทอร์พินไฮเดรต (Terpin hydrate), แอมโมเนียมคลอไรด์ (Ammonium Chloride) รวมทั้งสมุนไพรไทยอย่างมะขามป้อม หรือมะแว้ง เป็นยาที่เหมาะกับผู้ที่มีอาการไอแบบมีเสมหะ เช่น อาการไอแบบมีเสมหะจากโควิด 19 โรคหวัด หลอดลมอักเสบ หรือโรคภูมิแพ้ เป็นต้น โดยยากลุ่มนี้มีสรรพคุณกระตุ้นการทำงานของเยื่อบุในระบบทางเดินหายใจให้ขับสารเหลวออกมามากขึ้น พร้อมกับทำให้เสมหะมีความเหนียวน้อยลง เพื่อให้ไอเอาเสมหะออกมาได้ง่าย ดังนั้น ในระยะแรก ๆ ที่ใช้ยา ผู้ป่วยก็จะรู้สึกว่ามีเสมหะเยอะ ไอมากขึ้นได้ จนกระทั่งร่างกายขับเสมหะออกมาจนหมด อาการไอก็จะบรรเทาลงและรู้สึกโล่งขึ้นกว่าเดิม ตัวอย่างยี่ห้อยาแก้ไอขับเสมหะ เช่น Glycolate, Qualiton, SALMOL EXPECTORANTข้อควรระวัง : ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ยาละลายเสมหะที่นิยมใช้ ได้แก่ อะเซทิลซิสเทอีน (Acetylcysteine), คาร์โบซีเมทิลซิสเทอีน (Carboxymethylcysteine), คาร์โบซิสเทอีน (Carbocysteine), บรอมเฮกซีน (Bromhexine), แอมบรอกซอล (Ambroxol) เป็นต้น มีทั้งแบบเม็ด ยาละลายเสมหะเม็ดฟู่ ยาละลายเสมหะแบบชงกับน้ำ เป็นต้น ยาในกลุ่มนี้จะช่วยลดความเหนียวข้นของเสมหะ โดยไปทำลายโครงสร้างของเสมหะให้ลดความหนืดลง เพื่อให้ร่างกายกำจัดหรือขับเสมหะออกมาได้ง่ายขึ้น แต่ไม่ได้เพิ่มปริมาณของเสมหะเหมือนยาในกลุ่มขับเสมหะ จึงเป็นยาที่เหมาะกับผู้ที่มีอาการไอแบบมีเสมหะ ตัวอย่างยี่ห้อยาแก้ไอละลายเสมหะ เช่น Bisolvon, Solmax, Nac long, Flemex, Mucolid, Mysoven, Amicofข้อควรระวัง : ห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ ผลข้างเคียงพบได้น้อยมาก แต่ก็มีรายงานว่าเกิดอาการเลือดออกในกระเพาะอาหารของผู้ที่ใช้ยากลุ่มนี้ได้ ดังนั้น หากใช้ยาแล้วมีอุจจาระสีดำ ให้หยุดยาแล้วปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทันที หากใครมีอาการไอแบบมีเสมหะ ควรใช้ยาขับเสมหะ (Expectorants) หรือละลายเสมหะ (Mucolytics) เพื่อให้ร่างกายกำจัดเสมหะออกมา แต่ถ้าไปรับประทานยาประเภทกดอาการไอ (Antitussive) ยาจะออกฤทธิ์ทำให้อาการไอลดลง เสมหะจะยิ่งเหนียวข้น ถูกขับออกยากขึ้น และอาจมีอาการไอหนักขึ้นได้ สรุปก็คือ คนที่มีอาการไอแห้ง ๆ แพทย์จะจ่ายยาที่ออกฤทธิ์ลดอาการไอให้ แต่หากไอมีเสมหะจะต้องใช้ยาแก้ไอที่มีฤทธิ์ขับเสมหะหรือละลายเสมหะ ขึ้นอยู่กับอาการ เรื่องนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ข้อมูลว่า การรับประทานยาแก้ไอประเภทเดกซ์โทรเมทอร์แฟน (Dextromethorphan) ในขนาดยาปกติ คือ 15-30 มิลลิกรัม ทุก 6-8 ชั่วโมง และไม่เกินวันละ 120 มิลลิกรัม ถือว่าไม่เป็นพิษ มีความปลอดภัยสูง แต่ในกรณีนำยาแก้ไอไปใช้ในทางที่ผิด โดยใช้ยาขนาดสูง เพื่อให้มีอาการเคลิ้มสุข หรือลดความเจ็บปวด อาจได้รับอันตรายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม อาการไอเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งอาการไอที่เกิดจากเชื้อไวรัส โรคโควิด 19 ไข้หวัด ภูมิแพ้ หรือเป็นอาการข้างเคียงจากยาที่กิน เช่น ยาลดความดันโลหิตบางตัว หรืออาจมีอาการไอจากพฤติกรรมสูบบุหรี่ก็ได้ ดังนั้น เพื่อการใช้ยาแก้ไออย่างถูกต้องเหมาะสม ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้งนะคะ เม็ดฟู่ละลายเสมหะ ตัวช่วยกำจัดเสมหะที่เหนียวข้น กินยังไง มียี่ห้อไหนบ้าง สเปรย์พ่นคอ แก้ไอ แก้เจ็บคอ ยี่ห้อไหนดี ไอเทมที่หลายบ้านมีติดไว้ในช่วงโควิด ไอแบบนี้ป่วยเป็นอะไร 7 อาการไอที่มีนัยของโรคต่างกัน คันคอ ไอแห้ง มีเสมหะ ป่วยอะไร บรรเทายังไงได้บ้าง มีเสมหะเรื้อรัง นานแล้วไม่หาย เสี่ยงเป็นโรคอะไรได้บ้าง ? มีเสมหะน่ารำคาญใจ ควรกิน-ควรเลี่ยงอะไรช่วยละลายเสมหะ ไอห้ามกินอะไรบ้าง ผลไม้ น้ำเย็น กินได้ไหม รู้ไว้จะได้เลี่ยง ! 15 วิธีแก้ไอตอนกลางคืน ฟื้นอาการให้หาย บอกได้ว่าป่วยอะไรอยู่ ! รักษาอาการไอแบบไม่พึ่งยา ด้วยธรรมชาติบำบัดแบบบ้าน ๆ 13 สมุนไพรแก้ไอ ตำรับยาแผนไทยขับเสมหะ ขอบคุณข้อมูลจาก : คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (1), (2), โรงพยาบาลลานนา, หมอชาวบ้าน
แสดงความคิดเห็น