ตาพร่ามัว อาการที่พาให้รำคาญใจและใช้ชีวิตไม่ค่อยสะดวก ดังนั้น อย่าปล่อยให้มีปัญหาสายตาเป็นเวลานาน รีบคืนความแจ่มใสให้ดวงตาดีกว่า สายตาพร่ามัว อาจเกิดเป็นบางช่วงเวลา หรือมีอาการตาพร่ามัวเมื่อใช้สายตาเยอะ ๆ ทว่ากับบางคนก็มีอาการตาพร่ามัวนาน และกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งควรต้องมาหาสาเหตุกันด่วน ๆ ว่าอาการนี้เกิดจากอะไร และจะมีวิธีแก้ตาพร่ามัวที่เราพอทำได้ไหม หากมีอาการดังต่อไปนี้เกิดขึ้นกับตัวเอง อาจต้องรีบไปเช็กสุขภาพทางสายตากันหน่อยแล้ว ปวดศีรษะเมื่อใช้สายตาเพ่งมองเป็นเวลานาน มองเห็นภาพไม่ชัดเจน จากที่เคยเห็นชัดก็กลายเป็นภาพเบลอ มองเห็นภาพสะท้อนเวลาแสงจ้ามาก ๆ เช่น ตอนขับรถ แล้วตาพร่าจนขับต่อไปไหว หรือเริ่มมองเห็นพระจันทร์เป็นเงา ๆ ไม่ชัด เป็นต้น โฟกัสภาพได้แย่ลงมาก เช่น มองเห็นหน้าคนเป็นภาพเบลอ ๆ หรือไม่เห็นสิว ฝ้า กระ บนใบหน้า แต่เห็นเป็นผิวเรียบเนียนแทน ไม่สามารถอ่านหนังสือด้วยตาเปล่าได้ การเห็นสีของวัตถุต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไป เช่น เห็นสีสด ๆ กลายเป็นสีที่ซีดจาง มุมมองการเห็นภาพแคบลง มีอาการเดินชนสิ่งของบ่อยขึ้น หรือถอยรถแฉลบข้าง เห็นจุดดำลอยรอบ ๆ บริเวณกรอบจอตาข้างใดข้างหนึ่ง จากอาการวุ้นในตาเสื่อมที่ทำให้เกิดอาการตามัวได้ด้วย หากไปตรวจสายตาอาจพบว่าค่าสายตาเปลี่ยนไปมากแบบก้าวกระโดดในเวลาสั้น ๆ เช่น เคยวัดค่าสายตาสั้นได้ 200 แต่อีกไม่นานพบว่าค่าสายตาสั้นเพิ่มขึ้นเป็น 500 เป็นต้น หากไปพบจักษุแพทย์ อาจได้รับการทดสอบสายตาพร่ามัวเบื้องต้นด้วยวิธีต่อไปนี้ ยืนห่างจากผู้ทดสอบ 3 เมตร ปิดตา 1 ข้าง ทายว่าผู้ทดสอบยกนิ้วขึ้นกี่นิ้ว หากตอบไม่ตรงจำนวนนิ้วที่ชู แสดงว่าตาข้างนั้นมีอาการพร่ามัวค่อนข้างมาก ควรสลับทำตาอีกข้างให้ครบ อาการตาพร่ามัวเกิดได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน โดยจะแบ่งเป็นสาเหตุที่ไม่ใช่โรค และสาเหตุที่เกิดจากโรคบางอย่าง ดังนี้ ตาแห้ง จากความไม่สมดุลของสารน้ำในดวงตา โดยอาจเกิดขึ้นได้เวลาใช้สายตามาก ๆ เช่น การทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ การอ่านหนังสือ ดูซีรีส์ หรือการเล่นโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น ปัญหาค่าสายตาเปลี่ยนไป ทั้งสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง หรือสายตายาวตามวัย ผลข้างเคียงจากการใส่คอนแทคเลนส์ ที่หากใส่นาน ๆ อาจทำให้โปรตีนในดวงตาสะสมที่ตัวคอนแทคเลนส์ ส่งผลให้การไหลเวียนของน้ำตาที่หล่อเลี้ยงกระจกตาลดน้อยลงจนเกิดอาการระคายเคืองตา ตาแห้ง ตาพร่ามัวได้ การตั้งครรภ์ ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงอาจทำให้เกิดการสะสมน้ำในร่างกายมากกว่าปกติ ส่งผลให้เกิดอาการตาบวม ตาพร่ามัว การทำเลสิก เป็นผลข้างเคียงจากการใช้เลเซอร์ ทำให้มีอาการตาเบลอ ตาพร่ามัว หรือเจ็บรอบ ๆ แผลที่ทำเลสิกได้ การได้รับบาดเจ็บที่ดวงตาหรือบริเวณศีรษะ อาจส่งผลต่อการมองเห็น โรคต้อกระจก โดยผู้ป่วยจะมองเห็นภาพไม่ชัด ตาพร่ามัว หรือเห็นภาพซ้อนเมื่อใช้สายตาเยอะ ๆ โรคต้อหิน ที่เกิดจากความดันในลูกตาเพิ่มขึ้น หรือมีอาการตาอักเสบเรื้อรัง หรือปล่อยให้เป็นต้อกระจกเรื้อรัง ซึ่งอาจทำให้ลุกลามเป็นต้อหินและเสี่ยงตาบอดได้ โรคจอประสาทตาเสื่อม มักเกิดในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป จากความเสื่อมของเซลล์ตามอายุ โรคเยื่อบุตาอักเสบ จากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือสารเคมีใด ๆ หรือสารก่อภูมิแพ้ในผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ โรคเส้นประสาทตาอักเสบ จากความเสื่อมของเส้นประสาทตาที่ส่งสัญญาณไปยังส่วนประสาททางสมองทำงานลดลง ส่งผลให้เกิดอาการตามัวได้ ไซนัส ที่มีอาการลามไปยังเยื่อบุในดวงตา เกิดการระคายเคือง อักเสบ ปวดตา ตาแดง ตาพร่ามัว หรือหากอาการรุนแรงอาจกลอกลูกตาได้ไม่เต็มที่ และเสี่ยงสูญเสียการมองเห็นหากรักษาไม่ทันท่วงที ไมเกรน นอกจากจะปวดศีรษะอย่างรุนแรงแล้ว ผู้ป่วยไมเกรนบางคนยังมีอาการตามัว มองเห็นแสงเป็นทอดและเห็นภาพมีแสงระยิบระยับ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ โดยอาจมีอาการเหงื่อออกมาก ใจสั่น หิว กระสับกระส่าย ตาพร่า ไม่มีแรงได้ โรคเบาหวาน หากมีอาการแทรกซ้อนลามไปที่ดวงตา หรือเบาหวานขึ้นตา ผู้ป่วยจะมีอาการตาพร่ามัว มองไม่ชัด หรือมองไม่เห็นชั่วคราว และหากไม่รีบรักษาอาจเสี่ยงตาบอด วิธีแก้ตาพร่ามัวด้วยตัวเอง สามารถทำได้ดังนี้ พักสายตาทุก ๆ 30 นาที หรือเมื่อมีอาการล้าสายตา โฟกัสภาพไม่ค่อยชัด หยอดน้ำตาเทียม หากรู้สึกมีอาการตาพร่ามัว แสบตา เคืองตา โดยสามารถใช้น้ำตาเทียมได้เมื่อมีอาการ นวดกดจุดตามศาสตร์แพทย์แผนไทย โดยใช้นิ้วชี้ทั้งสองข้างกดคลึงเบา ๆ บริเวณหัวตา หรือตรงจุดท่อน้ำตา นาน 5 วินาที เพื่อช่วยให้ดวงตาชุ่มชื้นขึ้น หรือใช้นิ้วโป้งกดที่หัวคิ้วทั้งสองข้าง ดันคิ้วขึ้น 5 วินาที เป็นต้น แต่หากอาการตาพร่ามัวไม่ดีขึ้นเลย หรือมีอาการรุนแรงมากขึ้น รวมทั้งลามไปมีอาการอื่น ๆ เช่น ตาขาวเริ่มเป็นสีแดงก่ำ ปวดศีรษะ เดินเซ ใบหน้าบิดเบี้ยว แขน-ขาอ่อนแรง หรือตาพร่ามัวแบบเฉียบพลัน ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน วิธีรักษาอาการตาพร่ามัวตามหลักทางการแพทย์จะมีอยู่หลายแนวทางด้วยกัน โดยหากพบว่าเกิดจากความผิดปกติของค่าสายตาก็อาจรักษาด้วยการใส่แว่นสายตา หรือหากพบว่าเป็นความเสื่อมของดวงตาก็รักษาด้วยยา หรืออาหารเสริมที่มีส่วนผสมของลูทีน ซีแซนทิน และบิลเบอร์รี ที่มีส่วนช่วยบำรุงสายตา นอกจากนี้ยังมีวิธีรักษาด้วยการกายภาพบำบัด บริหารดวงตา รวมไปถึงในผู้ป่วยที่มีปัญหาสายตาจากโรคเรื้อรัง ควรได้รับการรักษาโรคที่เป็นสาเหตุของอาการตาพร่ามัว เพราะเมื่อภาวะของโรคสงบ อาการตาพร่ามัวก็จะลดน้อยลงด้วย ทว่าในกรณีที่สาเหตุของโรคเกิดจากต้อกระจกหรือต้อหิน จะต้องใช้วิธีผ่าตัดรักษาเพื่อบรรเทาอาการ เราสามารถป้องกันตัวเองให้ห่างไกลจากอาการตาพร่ามัวด้วยวิธีต่อไปนี้ หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสหรือขยี้ตา เพื่อป้องกันสิ่งแปลกปลอมและเชื้อโรคเข้าสู่ดวงตา หากใส่คอนแทคเลนส์เป็นประจำ ควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนใส่หรือถอดคอนแทคเลนส์ สวมใส่แว่นกันแดดเมื่อต้องออกไปข้างนอก เพื่อป้องกันลม ฝุ่น และแสง UV หากต้องทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟนเป็นเวลานาน ควรสวมใส่แว่นที่สามารถกรองแสงสีฟ้าได้ ตรวจวัดสายตาอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยปีละครั้ง รักษาสุขภาพให้แข็งแรง หรือหากป่วยเป็นโรคเรื้อรังก็ควรปฏิบัติตัวตามแพทย์สั่ง เพื่อป้องกันการลุกลามของโรค วุ้นในตาเสื่อม อาการเห็นหยากไย่ลอยไปลอยมา แบบนี้อันตรายไหม ? โรคกระจกตาโก่ง ขยี้ตาบ่อย เปลี่ยนแว่นตลอด อาจไม่รอดเป็นโรคนี้ ! รู้จักโรคท่อน้ำตาอุดตัน คนมีอาการน้ำตาไหลตลอดเวลาต้องระวัง อาจเป็นโรคนี้ ! ต่อมไขมันเปลือกตาอุดตัน คนจ้องจอนาน ๆ เสี่ยงมาก หากไม่รีบดูแล ขอบคุณข้อมูลจาก : รามา แชนแนล, โรงพยาบาลสมิติเวช, Thai PBS
แสดงความคิดเห็น